เมื่อเข้าสู่เดือนเมษา ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนอย่างเต็มตัว ตามทฤษฏีแผนไทยกล่าวว่า ความร้อนจากธรรมชาติภายนอกจะส่งผลต่อธาตุไฟภายในร่างกาย เป็นเหตุให้ธาตุไฟกำเริบ เกิดอาการตัวร้อน ปวดศีรษะ วิงเวียน อ่อนเพลีย คอแห้ง กระหายน้ำ ร้อนใน ท้องผูก ปัสสาวะน้อย ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถป้องกันและบรรเทาได้ด้วยรสขม เย็น รสเปรี้ยว และรสจืด เช่น ผักหวาน มะระ ตำลึง
1 ผลไม้ที่เหมาะกับฤดูนี้ เช่น ส้ม สับปะรด และอีกหนึ่งชนิดที่ขาดไม่ได้สำหรับช่วงหน้าร้อน นั่นคือ “แตงโม” ผลไม้ลูกโต เนื้อแดง รสหวานฉ่ำ ยิ่งเป็นแตงโมแช่เย็นแล้วยิ่งคลายร้อนได้ดีนักเชียว
จาก
https://maleetoyou.files.wordpress.com/2014/05/watermelon.jpg
แตงโม หรือ
Citrullus lanatus (Thunb.) Matsum & Nakai เป็นพืชในวงศ์ CUCURBITACEAE เป็นไม้เถา มือเกาะแยกเป็น 2-3 แขนง ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน มีรอยหยักเว้าแบบนิ้วมือ 3-7 แฉก แต่ละแฉกมีรอยหยักเว้าตื้นๆ แบบขนนก ผิวใบเป็นรอยขรุขระ ดอกเดี่ยว แยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน โดยดอกเพศผู้ก้านดอกเล็กมีขนนุ่ม กลีบรองกลีบดอกติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 กลีบ มีขนอ่อนนุ่ม กลีบดอก 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้สั้นมี 3 อัน ส่วนดอกเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่า รังไข่มีขน ท่อรังไข่สั้น ปลายท่อมี 3 แฉก ก้านดอกสั้น ที่ปลายมีรอยแยกตื้นๆ 5 รอย ผลกลมหรือค่อนข้างกลม ผิวเรียบ สีเขียวแก่ หรือเขียวอ่อน หรือเขียวแก่และเขียวอ่อนสลับกันภายในมีเนื้อสีแดง รสหวาน ฉ่ำน้ำ เมล็ดมีจำนวนมาก รูปไข่ แบน ผิวเรียบ สีน้ำตาลเข้ม
2
สรรพคุณแผนไทย ราก แก้บิด แก้ท้องร่วง แก้ร้อนในกระหายน้ำ เปลือก แก้ปวดฟัน แก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับปัสสาวะ ผล แก้ร้อนใน บำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ แก้กระหายน้ำ แก้อ่อนเพลีย เมล็ด ขับพยาธิ
2 คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อแตงโมสุก 100 ก. ให้พลังงาน 6 กิโลแคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต 1.3 ก. ใยอาหาร 0.3 ก. โปรตีน 0.3 ก. แตงโมเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามิน A โดยพบในรูปของเบต้าแคโรทีน 122 มก. และพบวิตามินอื่นๆ เช่น วิตามินบี1 บี2 บี3 และวิตามินซีด้วย
3
มีงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับสาร citrulline กรดอะมิโนที่พบในน้ำแตงโม โดยพบว่าสาร citrulline สามารถใช้เป็นสารตั้งต้นในการสร้างอาร์จีนิน (arginine) กรดอะมิโนที่จำเป็นสำหรับร่างกาย อาร์จีนินทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งโกรทฮอร์โมน (growth hormone) ซึ่งกระตุ้นการสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ทำให้ร่างกายเจริญเติบโต และควบคุมระบบการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ
4 สาร citrulline จากน้ำแตงโมตามธรรมชาติโดยไม่ผ่านความร้อน จะถูกดูดซึมในลำไส้เล็กของร่างกายได้ดีกว่าให้สาร L-citrulline ซึ่งอยู่ในรูปของสารสังเคราะห์
5 มีรายงานวิจัยพบว่าเมื่อให้อาสาสมัครรับประทานแตงโมวันละ 1,560 ก. (มี citrulline 2 ก.) ติดต่อกัน 3 สัปดาห์ จะช่วยเพิ่มปริมาณอาร์จีนินในเลือดได้ถึง 22%
6 และเมื่อให้นักกีฬาดื่มน้ำแตงโม 500 มล. (มี L-citrulline 1.17 ก.) หรือดื่มน้ำแตงโมที่เสริมสาร L-citrulline 4.83 ก. (มี L-citrulline 6 ก.) เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับเครื่องดื่มน้ำผลไม้รวม ก่อนการออกกำลังกาย 1 ชม. พบว่าน้ำแตงโมทั้ง 2 ชนิด จะช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจขณะฟื้นตัวและลดอาการปวดกล้ามเนื้อของนักกีฬาภายหลังจากออกกำลังได้
5 และ citrulline ยังช่วยกระตุ้นการสร้างโปรตีนในกล้ามเนื้อของอาสาสมัครที่รับประทานอาหารโปรตีนต่ำ โดยไม่มีผลกระทบต่อระบบหมุนเวียนของโปรตีนในร่างกาย
7 ซึ่งประโยชน์จากสาร citrulline นี้ ทำให้แตงโมถูกนำไปพัฒนาเป็นเครื่องดื่มเพื่อช่วยเสริมโปรตีนให้แก่ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภาวะขาดสารอาหารจำพวกโปรตีน รวมถึงนำไปผลิตเป็นเครื่องดื่มช่วยในการฟื้นกำลังในนักกีฬาได้อีกด้วย
4 นอกจากนี้แตงโมยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่น่าสนใจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นฤทธิ์ต้านหลอดเลือดแข็งตัว ต้านอนุมูลอิสระ ลดไขมัน และลดน้ำตาลในเลือดอีกด้วย … หากบ่ายนี้ยังไม่รู้จะคลายร้อนด้วยเมนูอะไร ขอแนะนำเป็นน้ำแตงโมสักแก้ว หรือแตงโมเย็นๆ สักชิ้นนะคะ
เอกสารอ้างอิง
- มาโนช วามานนท์ เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ (บรรณาธิการ). หนังสือผักพื้นบ้าน: ความหมายและภูมิปัญญาของสามัญชนไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึก; 2540.
- นันทวัน บุญประภัศร อรนุช โชคชัยเจริญพร (บรรณาธิการ). สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม. กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชน จำกัด; 2541.
- กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย (Nutritive values of Thai foods). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึก; 2535.
- Bahri S, Zerrouk N, Aussel C, Moinard C, Crenn P, Curis E, Chaumeil JC, Cynober L, Sfar S. Citrulline: from metabolism to therapeutic use. Nutrition 2013;29(3):479-84.
- Tarazona-D?az MP, Alacid F, Carrasco M, Mart?nez I, Aguayo E. Watermelon juice: potential functional drink for sore muscle relief in athletes. J Agric Food Chem 2013;61(31):7522-8.
- Collins JK, Wu G, Perkins-Veazie P, Spears K, Claypool PL, Baker RA, Clevidence BA. Watermelon consumption increases plasma arginine concentrations in adults. Nutrition 2007;23:261–6.
- Jourdan M, Nair KS, Ford C, Shimke J, Ali B, Will B, et al. Citrulline stimulates muscle protein synthesis at the post-absorptive state in healthy subjects fed a low-protein diet. Clin Nutr 2008;3(suppl):11–2