Knowledge Article


มหาหิงคุ์...ยาเก่าเอามาเล่าใหม่


ภญ.ดร.นิศารัตน์ ศิริวัฒนเมธานนท์
ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
57,511 View,
Since 2015-01-11
Last active: 1h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +


เมื่อพูดถึงมหาหิงคุ์ หลายคนคงเคยได้ยินหรือเคยใช้ในเด็ก แก้อาการท้องอืด/ปวดท้องกันมาบ้างแล้ว แต่มีแม่ๆ หลายคนถามเข้ามาว่า ได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ในบ้านว่า ถ้าทาแล้วไม่หายก็ให้หยดใส่น้ำให้กินไปเลย ควรจะทำอย่างไรดีเพราะรู้สึกไม่แน่ใจว่ามหาหิงคุ์นั้นกินได้จริงหรือไม่ ไม่กล้าเอามาให้ลูกกิน และอยากรู้จักมหาหิงคุ์ให้มากกว่านี้

วันนี้เราเลยจะนำความรู้และข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับมหาหิงคุ์ (เท่าที่จะหาได้) มาให้ทุกคนรู้จัก เพื่อจะได้นำความรู้นี้ส่งต่อให้ผู้อื่นได้ถูกต้องและใช้มหาหิงคุ์ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยมากที่สุด

เรามาทำความรู้จักกับมหาหิงคุ์กันก่อน

มหาหิงคุ์ เป็นยางที่ได้จากต้นไม้ ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ferula assafoetida L. อยู่ในวงศ์ Umbelliferae (หรือเดิมคือ Apiaceae) เป็นพืชในวงศ์เดียวกับผักชี ผักชีลาว พืชชนิดนี้ถูกค้นพบมานานมากแล้ว มีต้นกำเนิดในประเทศแถบเอเชียกลาง ตั้งแต่แถบประเทศอิหร่านทางตะวันออกไปจนถึงอัฟกานิสถาน ปัจจุบันมหาหิงคุ์จะมีปลูกอยู่ในประเทศอิหร่านและอัฟกานิสถานเท่านั้น และถูกส่งออกไปขายทั่วโลก บางท่านอาจเข้าใจผิดว่ามหาหิงคุ์นั้นปลูกในประเทศอินเดีย และส่งออกจากอินเดีย แต่นั่นคือความเข้าใจที่ผิด เพราะพืชชนิดนี้แม้ว่าจะถูกนำมาเป็นยาใช้อย่างกว้างขวางในประเทศอินเดีย แต่ไม่ใช่พืชจากประเทศอินเดียค่ะ

ส่วนที่นิยมนำมาใช้เป็นยาหรืออาหารคือส่วนของลำต้นใต้ดินหรือบางคนอาจเรียกว่า หัวหรือราก (ใต้ดิน) ซึ่งในส่วนนี้จะมีน้ำยางที่เราเรียกว่าโอลิโอ กัม เรซิ่น (oleo gum resin) หมายถึง มีน้ำมันหอมระเหย ยางชันและส่วนของกัมรวมๆกัน (กัมมีโครงสร้างเป็นน้ำตาลเกาะกันยาวๆคล้ายแป้ง แต่ร่างกายคนย่อยไม่ได้) น้ำยางนี้มีลักษณะ เป็นก้อนแข็งๆสีน้ำตาลอมเหลืองและมีกลิ่นฉุน การเก็บยางเอามาใช้ ทำได้เมื่อต้นมหาหิงคุ์อายุประมาณ 4-5 ปี และ ส่วนลำต้นใต้ดิน มีขนาดเส้นรอบวงประมาณ 12.5 - 15 ซม ต้นนี้ก็จะถูกตัดที่โคนและนำมาวางทิ้งไว้ ให้น้ำยางที่มีลักษณะคล้ายน้ำนมไหลออกมา บางครั้งจะถูกหั่นเป็นชิ้นๆ เพื่อให้น้ำยางไหลออกมาจนหมด เมื่อยางแห้งลงจะมีสีน้ำตาลอมเหลือง และจะถูกเก็บรวบรวมให้เป็นก้อน คนส่วนใหญ่จะเคยเห็นมหาหิงคุ์ในลักษณะที่เป็นก้อนแข็ง หรือเป็นยาแล้ว จึงเข้าใจผิดว่ามหาหิงคุ์เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งจริงๆ มันได้จากพืชนะคะ ไม่ใช่แร่ธาตุอย่างที่หลายคนเข้าใจ

ในสมัยโรมัน มหาหิงคุ์ถูกนำไปใช้สำหรับปรุงแต่งรสชาติอาหารควบคู่ไปกับเมล็ดสน (Pine nuts) หรือไม่เช่นนั้นก็จะถูกนำไปแช่ในน้ำมันร้อนๆ พอละลายดีแล้วก็จะหยดลงไปในอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติอาหารนิยมใช้กับอาหารจำพวกเห็ดจานโปรด ผักต่างๆ หรือ พวกเนื้อทอด เนื้อย่างบาร์บีคิว ในหลายๆประเทศยังใช้มหาหิงคุ์เป็นเครื่องเทศ เครื่องแกง ในการทำลูกชิ้น (meat ball) และผักดอง (pickles) ต้นมหาหิงคุ์นี้ยังสามารถนำมารับประทานเป็นผักได้อีกด้วย

มหาหิงคุ์ถูกนำมาใช้เป็นยาช่วยย่อย (digestive aid) มานานมากแล้ว ในบางประเทศหมอพื้นบ้านยังนิยมนำมหาหิงคุ์มาทำเป็นยาแก้พิษ ถอนพิษ (antidote) ของฝิ่น (opium) ได้ด้วย โดยจะใช้มหาหิงคุ์ในประมาณที่เท่ากับปริมาณฝิ่นที่เสพเข้าไป กินเข้าไปเพื่อล้างพิษกัน

งานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของมหาหิงคุ์และการทดลองทางคลินิก

มหาหิงคุ์มีผลต่อทางเดินอาหาร โดยช่วยลดอาการปวดเกร็งในช่องท้อง (antispasmodic), ขับลม (carminative), ช่วยย่อย (digestive), ระบาย (laxative) และมีฤทธิ์ถ่ายพยาธิบางชนิด (anthelmintic)

ส่วนประโยชน์อื่นๆ ของมหาหิงคุ์ ก็ได้แก่ ขับเสมหะ (expectorant), ช่วยกล่อมประสาท ทำให้นอนหลับดี (sedative), แก้ปวดอย่างอ่อน (analgesic), และฆ่าเชื้อเฉพาะที่ (antiseptic)

ยังมีงานวิจัยอื่นๆ เกี่ยวกับฤทธิ์ของมหาหิงคุ์อีกมากมาย ที่ตีพิมพ์ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการนำมหาหิงคุ์มาช่วยในการรักษาโรคมะเร็ง การใช้มหาหิงคุ์ในการรักษาภาวะต่างๆ ของสตรี และการใช้คุมกำเนิดในสตรี หรือใช้ในการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือดและหลอดเลือด และคนบางกลุ่มยังมีการใช้มหาหิงคุ์ในการเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ไม่พบการใช้มหาหิงคุ์ ในแง่มุมอื่น นอกจากการใช้ขับลม โดยในยาแผนปัจจุบัน มีเฉพาะการใช้มหาหิงคุ์ทิงเจอร์ ทาท้องเด็ก บรรเทาอาหารท้องขึ้น ท้องเฟ้อเท่านั้น ฤทธิ์อื่นๆไม่พบมีการใช้จริง อาจเนื่องจากรายงานวิจัยที่มียังไม่สามารถนำไปใช้ได้อย่างชัดเจน

มหาหิงคุ์ใช้กินได้หรือไม่

คำถามสำหรับแม่ที่ลูกยังเล็กมักถามว่า ที่ผู้ใหญ่บอกให้เอาทิงเจอร์มหาหิงคุ์หยดใส่น้ำ หรือ บางคนให้หยดใส้ผ้าผูกไว้ที่ข้อมือ ซึ่งบางครั้ง เด็กก็อาจกินเข้าไปด้วย ใช้ได้จริงหรือ อันตรายมั๊ย

ถึงแม้ว่า ไม่พบการใช้กินในยาแผนปัจจุบัน แต่ที่จริงในยาตำรับของไทย (สำหรับเด็กเล็ก) ที่บรรจุในยาสามัญประจำบ้าน และบัญชียาหลักแห่งชาติ เช่น ยาประสะกะเพรา ก็มีมหาหิงคุ์ประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตามขนาดรับประทาน ครั้งละ 100-200 มิลลิกรัม จะได้รับมหาหิงคุ์ ประมาณ 8.7-17 มิลลิกรัม ซึ่งนับว่ามากกว่าการหยดทิงเจอร์มหาหิงคุ์ในน้ำ 1-2 หยด แต่อย่างไรก็ดี ก็ไม่แนะนำให้ใช้ทิงเจอร์มหาหิงคุ์โดยวิธีหยดในน้ำ เนื่องจากในทิงเจอร์มหาหิงคุ์นั้นมีแอลกอฮอล์มาก อาจทำให้เด็กได้รับแอลกอฮอล์โดยไม่จำเป็น สำหรับการผูกข้อมือหรือทาท้อง ก็ควรทำในสถานที่อากาศโปร่ง ถ่ายเทสะดวก เพื่อให้แอลกอฮอล์ระเหยออกไป เจือจางในบรรยากาศ โดยเด็กไม่ได้สูดดม

คำแนะนำในการใช้มหาหิงคุ์ในเด็ก
  • มหาหิงคุ์ที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ (โดยเฉพาะทิงเจอร์มหาหิงคุ์) ไม่ควรให้เด็กรับประทาน เพราะแอลกอฮอล์ปริมาณมากจะมีผลเสียต่อเด็ก
  • ถ้าเป็นยาทาควรทาเฉพาะที่ ในสถานที่อากาศโปร่ง ถ่ายเทสะดวก หรือที่หลายๆ คนได้ลองทำแล้วก็คือ หลังจากทายาที่ท้องแล้ว ใช้ผ้าอ้อมห่อบริเวณท้องเด็ก ก็อาจช่วยให้ท้องอุ่น ช่วยเสริมการออกฤทธิ์ของยาได้ดีขึ้น
  • ควรระมัดระวังไม่ให้ยาเข้าตาหรือสัมผัสกับเนื้อเยื่ออื่น โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นแผลหรือรอยถลอก
  • ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก และไม่ควรเก็บรวมกับยารับประทานตัวอื่นๆ
  • ควรสำรวจวันหมดอายุของยา เนื่องจากการเก็บยาไว้นานๆ จะทำให้ตัวยาออกฤทธิ์สลายตัวและให้ผลได้ไม่เต็มที่
เอกสารอ้างอิง
  1. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง บัญชียาสามัญประจำบ้าน ฉบับ ปี พ.ศ. 2556
  2. บัญชียาจากสมุนไพร ใน ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่ง ชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555
  3. www.theplantlist.org
  4. Eigner D, Scholz D. Ferula assa-foetida and Curcuma longa in traditional medical treatment and diet in Nepal. J Ethnopharmacol. 1999; 67: 1–6.
  5. Mahendra P and Bisht S. Ferula asafoetida: Traditional uses and pharmacological activity. Pharmacogno Rev.2012; 6(12): 141-146
  6. Buddrus J, Bauer H, Abu-Mustafa E, Khattab A, Mishaal S, El- Khrisy EA, et al. Foetidin, a sesquiterpenoid coumarin from Ferula assa-foetida. Phytochemistry. 1985; 24:869–70.
  7. Gimlette JD. A dictionary of Malayan medicine. New York, USA: Oxford University Press; 1939.
  8. Bhattarai NK. Folk Anthelmintic drugs of central Nepal. Int J Pharmacol. 1992;30:145–50.
  9. Mallikarjuna GU, Dhanalakshmi S, Raisuddin S, Rao AR. Chemomodulatory influence of Ferula asafoetida on mammary epithelial differentiation, hepatic drug metabolizing enzymes, antioxidant profiles and N-methyl-N-nitrosourea-induced mammary carcinogenesis in rats. Breast Cancer Res Treat. 2003;81:1–10.
  10. Keshr G, Lakshmi V, Singh MM, Kamboj VP. Post-coital antifertility activity of Ferula asafoetida extract in female rats. Pharmac Biol. 1999;37:273–8.
  11. Soudamini KK, Unnikrishnan MC, Sukumaran K, Kuttan R. Mutagenicity and anti-mutagenicity of selected spices. Indian J Physiol Pharmacol. 1995;39:347–53.
  12. Sarkisyan RG. Effect of Ferula on arterial pressure. Meditsinskii Zhurnal Uzbekistana. 1969;1969:23–4.
  13. Mansurov MM. Effect of Ferula asafoetida on the blood coagulability. Meditsinskii Zhurnal Uz bekistana. 1967;1967(6):46–9.
  14. Ramadan NI, Al Khadrawy FM. The in vitro effect of Assafoetida on Trichomonas vaginalis. J Egypt Soc Parasitol. 2003;33:615–30.
  15. Rahlfs VW, Mossinger P. Asafoetida in the treatment of the irritable colon. A double blind study. Dtsch Med Wochenschr. 1979;104:140–3.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.