Knowledge Article


เภสัชกรแขวนป้าย ผลกระทบเป็นอย่างไร


อาจารย์ ดร.ภก.ลือรัตน์ อนุรัตน์พานิช
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
74,829 View,
Since 2014-10-24
Last active: 1h ago
https://tinyurl.com/24pg6kl8
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


ในสื่อสังคมออนไลน์ขณะนี้มีภาพถ่ายของเภสัชกรถือใบประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน สาขาเภสัชกรรม ชั้น 1 ถ่ายกับร้านขายยา หรือที่ทำงาน พร้อมกับมีข้อความรณรงค์ว่า “เภสัชกรไม่แขวนป้าย” ภาพนี้ถูกส่งต่อและแบ่งปัน (Share) กันไปอย่างกว้างขวาง

คำว่า “ป้าย” ที่เภสัชกรไม่แขวนมันคืออะไร แน่นอนมันไม่ใช่ป้ายบอกทาง ไม่ใช่ป้ายบอกราคาสินค้า แต่มันคือเอกสารของทางราชการที่เรียกกันมาแต่เดิมว่าใบประกอบโรคศิลปะ ปัจจุบันเรียกว่าใบประกอบวิชาชีพ ทั้งนี้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางเภสัชศาสตร์เป็นผู้มีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะได้รับใบประกอบวิชาชีพนี้

เภสัชกรที่ประกอบวิชาชีพในร้านขายยา จะต้องแสดงใบประกอบวิชาชีพให้เห็นโดยเปิดเผย และต้องอยู่ตลอดเวลาที่ร้านเปิดทำการ พ.ร.บ. ยากำหนดว่า ร้านขายยาแผนปัจจุบัน ต้องมีเภสัชกรเป็นผู้ปฎิบัติการ ส่วนร้านขายยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษต้องมีเภสัชกร หรือ พยาบาลเป็นผู้ปฏิบัติการ ร้านขายยาทั้งสองประเภทต้องมีใบประกอบวิชาชีพแขวนไว้ จึงเกิดคำเรียกว่าแขวนป้าย สำหรับร้านขายยาแผนปัจจุบัน ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบเวลาที่เภสัชกรปฏิบัติงานได้จากป้ายพลาสติกสีน้ำเงินเข้มที่ระบุชื่อเภสัชกรประจำร้านและเวลาปฏิบัติการ ดังนั้นหากท่านเข้าไปในร้านยาแผนปัจจุบัน แล้วท่านต้องเรียกหาเภสัชกร



เหตุผลที่ท่านควรเรียกหาเภสัชกรเมื่อท่านเข้าไปในร้านขายยาแผนปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีว่า ยามีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์ถ้าใช้ไม่ถูกต้อง ดังนั้นการใช้ยาโดยเฉพาะยาแผนปัจจุบันประเภทยาอันตรายที่ต้องส่งมอบโดยเภสัชกร ถ้าผู้บริโภคซื้อยาโดยไม่ได้รับการส่งมอบจากเภสัชกร อาจมีผลกระทบจากการใช้ยาไม่ถูกต้องได้

การส่งมอบยาที่เหมาะสมนั้นต้องถูกโรค ถูกคน ถูกขนาด ถูกวิธี ถูกเวลา ซึ่งการใช้ยาไม่ถูกต้องตามหลักการข้างต้นก่อให้เกิดอันตรายแก่คนไข้ได้ เช่น การแพ้ยา การได้รับยาเกินขนาดจนเกิดอาการพิษ การเกิดอาการข้างเคียงจากยาหรือ พิษจากยาตีกัน หรือได้รับยาไม่ถูกโรคจนอาการป่วยไม่ทุเลา ซึ่งส่งผลเสียต่อคนไข้ทั้งเรื่องสุขภาพและเรื่องค่าใช้จ่าย

ข้อที่ควรระวังหากท่านซื้อยาจากร้านขายยาที่มีแต่ป้ายแขวนไว้ไม่มีเภสัชกรอยู่ประจำ หรือเภสัชกรไม่มาปฏิบัติการตามเวลาที่กำหนดในใบอนุญาตขายยา ท่านอาจได้รับยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรที่เกินความจำเป็น โดยที่ผู้ขายอาจเล็งเห็นกำไรจากการขายยา อาหารเสริม หรือสมุนไพร แล้วเกิดการกระทำที่เรียกว่า“ยิงยา” หรือจ่ายยาที่ไม่จำเป็นแก่คนไข้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งคนไข้เองและสังคมโดยรวมอย่างกรณีของยาปฏิชีวนะ หรือ ยาฆ่าเชื้อโรค ที่ปัจจุบันถูกสั่งใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อจนเกิดเชื้อดื้อยาเป็นจำนวนมาก อันส่งผลต่อความปลอดภัยของคนไข้และเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอีกด้วย

การรณรงค์ “เภสัชกรไม่แขวนป้าย” ก็เพื่อที่จะเตือนตนเองและให้สังคมตระหนักว่า เภสัชกรจะอยู่ปฏิบัติการตามป้ายที่แขวนไว้ และจะไม่แขวนป้ายโดยไม่อยู่ปฏิบัติการ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้คนไข้เสียโอกาสที่จะได้รับคำแนะนำในการดูแลตัวเอง มีความรู้ความเข้าใจเรื่องโรค อาการของโรคและการดูแลตนเอง ทั้งนี้เพราะโรคบางชนิดถ้ามีการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม และมีการปฏิบัติตัวตามหลักการที่ดีจะทำให้อาการดีขึ้นโดยไม่ต้องใช้ยาก็เป็นได้

นอกเหนือจากอันตรายต่อคนไข้และประชาชนแล้วเภสัชกรที่แขวนป้ายยังจะได้รับโทษตามกฎหมายซึ่งกำหนดไว้ว่า เภสัชกรต้องอยู่ประจำร้านตลอดเวลาที่ร้านยาเปิดทำการ หรือในช่วงเวลาปฏิบัติการนั้นๆ เป็นความผิดในมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 กล่าวคือ มาตรา 39 ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการต้องอยู่ประจำ ณ สถานที่ขายยาแผนปัจจุบันตลอดเวลา มีโทษปรับตามมาตรา 109 มีโทษปรับหนึ่งพันบาท ถึง ห้าพันบาท และพักใช้ใบอนุญาต 1 ปี

การแขวนป้ายโดยไม่อยู่ปฏิบัติการ ยังเป็นความผิดตามข้อ 1, 2 และ 6 ในข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2538 คือ

ข้อ 1 ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมย่อมดำรงตนให้สมควรในสังคมโดยธรรมและเคารพต่อกฎหมายของบ้านเมือง

ข้อ 2 ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมย่อมไม่พฤติกรรมหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

ข้อ 6 ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมต้องรักษามาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในระดับที่ดี

เมื่อทราบดังนี้แล้ว ผู้บริโภคควรตรวจสอบว่า ร้านยาที่ขายยาให้แก่ท่านเป็นร้านยาที่มีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่อยู่ หรือมีแต่ “ป้าย”ที่เภสัชกร “แขวน”อยู่เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาของท่านเอง เอกสารอ้างอิง
  1. http://www.moph.go.th/ops/minister_06/Office2/drug1.pdf
  2. https://pharmacycouncil.org/share/file/file_30.pdf
  3. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/147/เคล็ดลับการซื้อยาให้ปลอดภัย/

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.