Knowledge Article


แคลเซียมกับโรคกระดูกพรุน ตอนที่ 1 ?


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.บุษบา จินดาวิจักษณ์
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
37,480 View,
Since 2014-09-01
Last active: 1m ago
https://tinyurl.com/y9es8mc3
Scan to read on mobile device
 
A - | A +
เขาว่ากันว่า แคลเซียม ไม่มีประโยชน์กับโรคกระดูกพรุน แต่ก่อนจะสรุปเช่นนั้น ขอให้ติดตามอ่านรายละเอียดต่อไปนี้ก่อน

กระดูกประกอบด้วยอะไรบ้าง

กระดูกประกอบด้วย โปรตีนหนึ่งในสามส่วน อีกสองในสามส่วนเป็นเกลือแร่ โปรตีนที่เป็นเนื้อกระดูกนี้ส่วนใหญ่เป็นคอลลาเจน ส่วนเกลือแร่ที่อยู่ในกระดูกคือแคลเซียม กระดูกก็เหมือนกับเนื้อเยื่ออื่นๆ ของร่างกายที่ต้องมีการผลัดผิวเอาเซลล์เก่าออกแล้วเติมเซลล์ใหม่ ซึ่งการผลัดผิวเกิดจากการทำงานร่วมกันของเซลล์สลายกระดูกและเซลล์สร้างกระดูก โดยเซลล์สลายกระดูกจะกินเนื้อกระดูกเป็นหลุมลงไป ต่อจากนั้นเซลล์สร้างกระดูกจะสร้างเนื้อกระดูกเติมลงไปในหลุมจนเต็มเป็นการปะหลุมนั้น ทำให้ได้กระดูกที่มีผิวสวยงามตามเดิม ทั้งนี้การทำงานของเซลล์สลายกระดูกและเซลล์สร้างกระดูกจะถูกควบคุมโดยฮอร์โมนและสารภายในร่างกายหลายชนิดที่เกี่ยวกับการอักเสบ

การเติบโตของกระดูกจะเกิดขึ้นตั้งแต่วัยเยาว์จนได้ความหนาแน่นของมวลกระดูกสูงที่สุดที่อายุ 20 ปีในผู้หญิง และ 25 ปีในผู้ชาย หลังจากนี้มวลกระดูกจะมีความหนาแน่นลดลงอย่างช้าๆ พบว่าที่อายุ 40 ปีขึ้นไปมวลกระดูกจะมีความหนาแน่นลดลงร้อยละ 0.5-1 ต่อปี แต่สำหรับผู้หญิงในช่วง 10 ปีแรกหลังหมดระดู ความหนาแน่นของมวลกระดูกจะลดลงเร็วมาก คือร้อยละ 3-5 ต่อปี เมื่อพ้น 10 ปีไปแล้วความหนาแน่นของมวลกระดูกจะลดลงช้าลง คือลดลงร้อยละ 1-2 ต่อปี1

โรคกระดูกพรุนมีอาการอย่างไร

โรคกระดูกพรุน มีชื่อภาษาอังกฤษว่า osteoporosis (อ่านว่า ออส-ที-โอ-พอ-รอ-สิส) เป็นโรคที่มีความผิดปกติของกระดูกที่เกิดเนื่องจากมีความไม่สมดุลในกระบวนการผลัดผิวกระดูก โดยเซลล์สลายกระดูกทำงานมากกว่าเซลล์สร้างกระดูก ทำให้มวลกระดูกมีความหนาแน่นลดลง เนื้อกระดูกบางลง มีความแข็งแรงน้อยลง และมีความเปราะเพิ่มขึ้น โรคนี้เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญในผู้สูงอายุ และเป็นภัยเงียบ เนื่องจากไม่มีอาการอะไร มีเพียงแต่เนื้อกระดูกบางลง มีความหนาแน่นน้อยลง ทั้งนี้ กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคกระดูกพรุน ก็เมื่อเกิดกระดูกหัก ซึ่งมักเกิดตามหลังอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม ตกบันได ตกจากเก้าอี้ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่มีการไออย่างรุนแรงก็อาจทำให้กระดูกซี่โครงหักได้

ตำแหน่งของกระดูกที่มีการหักที่พบส่วนใหญ่จะเป็นที่กระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก และ กระดูกสันหลัง อธิบายได้ว่า เมื่อหกล้ม คนเราก็จะเอามือยันพื้นไว้เพื่อประคองตัวเอง แต่ด้วยความที่เนื้อกระดูกบางลง กระดูกข้อมือจึงไม่สามารถรับน้ำหนักตัวได้เต็มที่เหมือนตอนหนุ่มสาว กระดูกข้อมือจึงหัก เมื่อกระดูกข้อมือหักก็ใช้มือข้างนั้นหยิบจับอะไรไม่ได้ในระหว่างที่ต้องเข้าเฝือก หากมีก้นกระแทกพื้นเช่นในกรณีตกบันไดหรือตกจากเก้าอี้ ก็จะมีกระดูกสะโพกหัก ทำให้เดินไม่ได้ในระหว่างการรักษา บางรายอาจต้องเปลี่ยนข้อใส่ข้อเทียม ทำให้ต้องนอนติดเตียง ซึ่งอาจเกิดแผลกดทับหรือโรคอื่นๆ ตามมาได้หากไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ

ผู้หญิงมีโอกาสกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนมากถึงร้อยละ 30-40 ในขณะที่ผู้ชายมีโอกาสร้อยละ 13 โดย ผู้หญิงช่วงอายุ 10 ปีแรกหลังหมดระดู กระดูกจะบางลงเร็วมาก อธิบายได้ว่าเกิดจากการที่ขาดฮอร์โมนเพศหญิงที่มีชื่อว่าเอสโตรเจน นอกจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนแล้ว ยังเกิดจากความเสื่อมตามวัยซึ่งพบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง

โรคกระดูกพรุนยังอาจเกิดตามมาจากการเป็นโรคอื่น เช่น โรคไต โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคมะเร็ง ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูง และภาวะกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing’s syndrome มีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในเลือดสูง) หรือเกิดจากการใช้ยา ได้แก่ ยากลูโคคอร์ติคอยด์ ยารักษามะเร็ง ยากดภูมิคุ้มกัน ยากันชัก

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว

ด้วยเหตุที่โรคกระดูกพรุนมักไม่แสดงอาการจนกว่าจะเกิดกระดูกหัก จึงควรทราบว่ามีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้างที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน ทั้งนี้มีปัจจัยเสี่ยงอยู่ 2 ประเภท คือ ปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนได้ และ ปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ (ตารางที่ 1) ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยก็จะมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน และจะมีโอกาสสูงที่จะเกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน



นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถเข้าไปทำแบบทดสอบปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน ที่สร้างโดยมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย โดยเข้าไปที่ http://www.topf.or.th/topf_cpg.php หากผลของการทำแบบทดสอบแสดงว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน ผู้ทำแบบทดสอบนั้นควรรีบไปขอรับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรใกล้บ้าน1

แพทย์จะวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก ด้วยเครื่อง Dual energy X-ray Absorptiometry (Axial DXA) และนำค่าที่ได้ไปเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของ BMD สูงสุดในคนหนุ่มสาว โดยการดูค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐานตาม T-score (รูปที่ 1)
  • ถ้าได้ T-score > -1 ของค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน แปลว่า มีความหนาแน่นของมวลกระดูกในระดับปกติ
  • ถ้าได้ T-score < -1 ของค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน แต่ > -2.5 ของค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน แปลว่า มีกระดูกบาง
  • ถ้าได้ T-score < -2.5 ของค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน แปลว่า กระดูกพรุน และมีความเสี่ยงต่อกระดูกหัก


 

เอกสารอ้างอิง

  1. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคกระดูกพรุน พ.ศ. 2553. กรุงเทพ: มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย
  2. กอบจิตต์ ลิมปพยอม. มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย. โรคกระดูกพรุนคืออะไร Available at: http://www.topf.or.th/read_hotnews_detail.php?dID=20. Accessed date: 9 Aug 2014.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.