Knowledge Article


เบญจอำมฤต... ตำรับยารักษามะเร็งตับ?


รองศาสตราจารย์ รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล บทความ
อำพล บุญเปล่ง ตรวจสอบเครื่องยา
และ อุบลวรรณ บุญเปล่ง ถ่ายภาพ
ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
161,505 View,
Since 2014-05-28
Last active: 10m ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +
เบญจอำมฤต มีชื่อเรียกอื่นๆได้แก่ เบญจอำมพฤกษ์ หรือ บุญจอำมฤตย์ เป็นตำรับยาที่มาจากคัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ พบบันทึกรายละเอียดส่วนประกอบ วิธีการเตรียมยา และขนาดที่ใช้ในคัมภีร์ประถมจินดา (บันทึกโรคและการรักษาสำหรับเด็ก) และ คัมภีร์ธาตุบรรจบ (บันทึกอาการและโรค เกี่ยวกับอุจจาระธาตุ) โดยมีส่วนประกอบหลักเหมือนกัน แต่ในคัมภีร์ธาตุบรรจบมีตัวยาเพิ่มขึ้นอีก ๓ ชนิด (ดังรายละเอียดคัดจากคัมภีร์ดูด้านท้ายบทความ)



ที่มาของชื่อ เบญจอำมฤต ซึ่งมีความหมายว่า เป็นเครื่องยาทิพย์ ๕ อย่างในตำรับ คือ มหาหิงคุ์ ยาดำ รงทอง รากตองแตก และ ดีเกลือ เป็นตัวยาหลัก โดยมีส่วนประกอบอื่นๆ เช่น ลูกมะกรูด ซึ่งไม่นับใน ๕ อย่างนี้ เพราะผลมะกรูดเป็นเพียงตัวช่วยในการเตรียมยาเท่านั้น แต่เป็นตัวช่วยสำคัญที่ไม่ควรหลีกเลี่ยงหรือปรับวิธีการเตรียม เนื่องจากมีผลต่อการออกฤทธิ์

สำหรับตำรับเบญจอำมฤตที่นำมาใช้กันทั่วไปในขณะนี้นั้น เป็นตำรับจากคัมภีร์ธาตุบรรจบ ซึ่งเติม พริกไทย ขิง ดีปลี ซึ่งจะเรียกยาทั้ง ๓ ชนิดนี้รวมกันว่าพิกัดตรีกฏุก และมีวัตถุประสงค์ที่ใส่เพิ่มเติม เพื่อช่วยในการปรับสมดุลย์และคุมการทำงานของธาตุลม ที่อาจเปลี่ยนแปลง เช่น เกิดอาการท้องอืด หลังจากถ่าย เป็นต้น

ยาตำรับนี้มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง จากฤทธิ์ของ ดีเกลือ ตองแตก รงทอง และ ยาดำ ส่วนมหาหิงคุ์ พริกไทย ขิง ดีปลี เป็นตัวยาช่วย ที่ลดอาการท้องอืด ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่มักเกิดตามมาหลังจากถ่ายท้อง

ดีเกลือ เดิมใช้ดีเกลือไทย (โซเดียมซัลเฟต) ซึ่งอาจมีปัญหา ทำให้บวมน้ำ และมีปัญหากับไต หัวใจ ปัจจุบันจึงให้ใช้เฉพาะดีเกลือฝรั่ง เป็นสารจำพวกแมกนีเซียมซัลเฟต หรือเรียกว่า เกลือยิปซั่ม(Epsom salt) ขนาดที่ใช้ ๑๐-๑๕ กรัมต่อครั้ง วันละครั้งเดียว เป็นยาถ่ายที่ออกฤทธิ์เร็ว ภายในครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ต้องระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคไต และผู้ป่วยที่ต้องจำกัดเกลือแมกนีเซียม

ยาดำ เป็นสารสกัดที่ได้จากการเคี่ยวยางสีเหลืองจากใบว่านหางจระเข้ ปกติสารออกฤทธิ์กลุ่มแอน ทราควิโนนในยาดำนั้นไม่ออกฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ เมื่อกินเข้าไปก็จะเคลื่อนที่ตามการบีบตัวตามปกติของทางเดินอาหาร เมื่อถึงลำไส้ตอนล่าง ร่างกายจะเปลี่ยนสารออกฤทธิ์ กระตุ้นให้ลำไส้บีบตัว จัดเป็นยาถ่ายที่ออกฤทธิ์ช้า ใช้เวลาประมาณ ๖-๘ ชั่วโมง ตามปกติถ้าใช้ยาดำเพียงอย่างเดียว หรือใช้ร่วมพืชอื่นที่มีสารออกฤทธิ์กลุ่มเดียวกัน แนะนำรับประทานก่อนนอนเท่านั้น แต่การใช้ร่วมกับดีเกลือฝรั่งซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์เร็ว หากผสมแบบธรรมดา ยาดำเปลี่ยนแปลงเป็นสารออกฤทธิ์ไม่ทัน เพราะดีเกลือฝรั่งจะทำให้เกิดการถ่ายเสียก่อน ยาดำไม่มีฤทธิ์ แต่ในตำรับนี้ มีการนำยาดำใส่ในผลมะกรูด เอาขี้วัวพอก แล้วเผาไฟ จึงทำให้เป็นไปได้ว่า สารแอนทราควิโนนในยาดำ ทำปฏิกิริยากับกรดและความร้อน กลายเป็นสารออกฤทธิ์ ดังนั้นจึงสามารถออกฤทธิ์ผสมผสานกับดีเกลือฝรั่งไปพร้อมกันได้ ไม่สูญเสียยาโดยเปล่าประโยชน์ เมื่อเป็นดังนี้ อาจมีบางท่านถามว่า ถ้างั้นควรเตรียมยาดำแบบนี้ทุกครั้งจะทำให้ยาดำออกฤทธิ์เร็วขึ้นใช่หรือไม่ ไม่ต้องรอนาน คำตอบก็คือ ถ้าใช้ยาดำอย่างเดียว ไม่มีดีเกลือฝรั่งช่วยให้ยาเคลื่อนที่ไปยังลำไส้ตอนล่างอย่างรวดเร็ว ยาดำจะออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะและลำไส้ตอนบน เกิดอาการปวดมวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มากกว่า การทำให้ถ่าย การเตรียมยาดำแบบนี้จะใช้เมื่อใช้ยาดำผสมกับยาที่ออกฤทธิ์เร็วแบบดีเกลือฝรั่งเท่านั้น

รงทอง หมายถึงยางสีเหลืองที่ได้จากต้นรงทอง (Garcinia hanburyi) ยางนี้กรีดจากลำต้น ทิ้งให้แห้ง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า gamboge ซึ่งประกอบด้วยเรซินและกัม(สารคล้ายแป้ง) ยางรงทองเป็นยาถ่ายที่มีฤทธิ์แรงจึงต้องมีกรรมวิธีการทำให้ฤทธิ์อ่อนลง เพื่อลดอาการปวดมวน และควรใช้ในขนาดน้อยๆ คือไม่เกินมื้อละ ๖๐ มิลลิกรัม อย่างไรก็ดี กรรมวิธีเตรียมรงทองในตำรับเบญจอำมฤตย์นี้ แตกต่างจากการเตรียมตามปกติ กล่าวคือ ให้ใส่ในผลมะกรูด เอาขี้วัวพอกแล้วสุมไฟจนสุก ซึ่งอาจมีผลต่อสารเคมีในยางรงทองแตกต่างควรศึกษาต่อไป และขณะที่ยังไม่มีข้อเท็จจริงพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์ ควรยึดการเตรียมตามภูมิปัญญาเพื่อให้ออกฤทธิ์อย่างที่ต้องการ นอกจากนี้ มีการศึกษาจำนวนมาก รายงานว่า เรซิน และสารบริสุทธิ์แยกจากยางรงทอง เช่น กรดแกมโบจิก (gambogic) แกมโบเจนนิก (gambogenic) เป็นพิษต่อเซลล์ เหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งตาย เช่น เซลล์มะเร็งเต้านม ปอด และ ตับ ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒๕๕๕ ได้รายงานว่า ยางรงทอง สามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งตับ เซลล์มะเร็งปอด เซลล์มะเร็งลำไส้ส่วนปลาย เซลล์มะเร็งปากมดลูก และเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากได้ โดยยางของรงทองสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งปอดและมะเร็งลำไส้ ได้ดีที่สุด แต่เมื่อนำมาสะตุโดยห่อด้วยใบตองหรือใบบัว แล้วปิ้งไฟ มีฤทธิ์อ่อนลงแต่ไม่แตกต่างกันทางสถิติ

รากตองแตก (Baliospermum solanifolium) เป็นยาถ่ายอย่างอ่อน มีบันทึกยาพื้นบ้านของอินเดียใช้รากตองแตกสำหรับรักษาอาการบวมน้ำ และดีซ่าน พร้อมทั้งประกอบในตำรับรักษาอาการท้องมาน (ascites) ซึ่งเป็นไปในทิศเดียวกับการแพทย์แผนไทย

จะเห็นได้ว่ายาเบญจอำมฤตตั้งตำรับเพื่อให้เป็นยาถ่ายอย่างแรง การนำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งตับนั้น เป็นการใช้ตามคัมภีร์โรคนิทาน และคัมภีร์ธาตุวิภังค์ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึงอาการผิดปกติของตับ รวมเรียกว่า ตับพิการ โดยหลักการในการรักษา ต้องการให้มีการถ่าย เพื่อเอาของเสียออกก่อน แล้วจึงจ่ายยาอื่นตาม ดังนั้นจึงพบว่าอาการอึดอัด ท้องมาน ของผู้ป่วยมะเร็งตับดีขึ้น หลังจากกินยาเบญจอำมฤต เพราะเมื่อมีการถ่ายมาก แรงกดดันในช่องท้องและอาการท้องมาน (ascites)จะลดลง ทำให้อาการอึดอัดไม่สบาย ทานอาหารไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้น แม้ว่าจะมีการทดลองในหลอดทดลองว่า องค์ประกอบบางตัวในตำรับนี้มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็ง แต่การทดลองนั้นเป็นการใส่สารสกัดให้สัมผัสเซลล์มะเร็งโดยตรง ต่างจากการรับประทานซึ่งยาต้องผ่านการดูดซึม และผ่านทางกระแสเลือดไปยังตับ โดยอาจมีการเปลี่ยนรูปหรือไม่ก็ได้ ทำให้การออกฤทธิ์ของยา อาจเหมือนหรือไม่เหมือนการทดลองในหลอดทดลอง อีกประการหนึ่งคือ ยาตำรับนี้เป็นยาถ่ายที่ออกฤทธิ์เร็ว ดังนั้นแม้ว่ายางรงทองมีสารที่ยับยั้งเซลล์มะเร็งนั้น อาจถูกขับถ่ายออกก่อนการดูดซึม ดังนั้นจึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่ายาเบญจอำมฤตสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้

อนึ่งจากแนวคิดการรักษาโรคตับของการแพทย์แผนไทยดังที่กล่าวมาเบื้องต้นนั้น การใช้ยาถ่ายเป็นยานำเพื่อกำจัดของเสียที่ค้างอยู่ ต่อมาจะใช้ยาตำรับอื่นรักษาโรคตับอย่างแท้จริง โดยอาจใช้หยุดยานี้ หรือใช้ร่วมกัน ขึ้นอยู่กับอาการของโรคและดุลยพินิจของแพทย์แผนไทยผู้รักษา หากใช้ยานี้เพียงตำรับเดียวติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้ธาตุไฟลดลง และต่อมาอาจกระตุ้นการทำงานของตับที่เป็นอวัยวะหลักในการรับผิดชอบต่อธาตุไฟ ต้องทำงานเพิ่มขึ้น อาจไม่เกิดผลดีต่ออาการและโรคมะเร็งตับ ดังนั้นการใช้ยาเบญจอำมฤต ควรต้องเป็นตำรับที่เตรียมถูกต้องตามหลักการดั้งเดิม ควรปรึกษาแพทย์แผนไทย ซึ่งต้องมีการใช้ยาตำรับอื่นๆร่วม เพื่อลดความเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง อันจะส่งผลร้ายต่อผู้ป่วย อย่างไรก็ดี การรักษามะเร็งตับ ควรปรึกษาแพทย์ทั้ง ๒ แผนเพื่อให้ทราบแน่ชัด ถึงข้อดีข้อเสีย ปัจจัยเสี่ยงทั้งหลาย ก่อนตัดสินใจ ในวิถีทางที่เกิดประโยชน์สูงสุด ความเสี่ยงน้อยที่สุดต่อไป

คัมภีร์ประถมจินดา
ยาชื่อเบญจอำมฤต ขนานนี้ ท่านให้เอา มหาหิงคุ์ยาดำ ๑ สิ่งละส่วน รงทอง ๒ ส่วน มะกรูดใหญ่ ๓ ผล แล้วจึงเอามหาหิงคุ์ รงทอง ยาดำ ทั้ง ๓ สิ่งนี้ ยัดเข้าในผลมะกรูดสิ่งละผล แล้วจึงเอามูลโคสดพอก สุมไฟแกลบให้สุกระอุดี แล้วจึงเอารากตองแตก* ๔ ส่วน ดีเกลือ ๑๖ ส่วน ทำเป็นจุณ แล้วประสมกันเข้า จึงบดทั้งเนื้อมะกรูด ปั้นแท่งไว้ เอาหนัก ๑ สลึง ละลายน้ำส้มมะขามเปียกกิน ลงสะดวกดีนัก
 
คัมภีร์ธาตุบรรจบ
ยาเบญจอำมฤตย์ เอามหาหิงคุ์ ยาดำบริสุทธิ์ เอาสิ่งละ ๑ สลึง รงทอง ๒ สลึง ลูกมะกรูด ๓ ลูก เอามหาหิงคุ์ รงทอง ยาดำ ใส่ในลูกมะกรูดสิ่งละ ๑ ลูก แล้วเอาขี้โคพอก สุมไฟแกลบให้สุก เอาขิงแห้ง ดีปลี พริกไทย สิ่งละ ๑ สลึง รากทนดี* ๑ บาท ดีเกลือ ๔ บาท เอาประสะกับมะกรูดที่สุมไฟไว้ บดเป็นผงละลายน้ำมะขามเปียกกิน หนักครั้งละ ๑ สลึง ฟอกอุจจาระอันลามกให้สิ้นโทษ ชำระลำไส้ซึ่งเป็นเมือกมัน และปะระเมหะทั้งปวง
หมายเหตุ
* ตองแตก และทนดีเป็นต้นไม้ชนิดเดียวกัน ตองแตกเป็นต้นที่ขอบใบเว้าเป็นแฉก และทนดีเป็นต้นที่ขอบใบไม่เว้า
อัตราส่วนของสมุนไพร ๕ ชนิด จากทั้ง ๒ คัมภีร์เท่ากัน (๑ บาท เท่ากับ ๔ สลึง)


เอกสารอ้างอิง

  1. โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร. แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๑-๓. กทม:บริษัทบพิธการพิมพ์จำกัด, ๒๕๓๗.
  2. เสงี่ยม พงษ์บุญรอด. ไม้เทศเมืองไทย. กทม: เกษมบรรณกิจ, ๒๕๒๒.
  3. ประเสริฐ พรหมมณี และ ปริญญา อุทิศชลานนท์. ตำราเภสัชกรรมไทยแผนโบราณ สำหรับผู้อบรมศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ ของกองวิชาการแพทย์โบราณ วัดมหาธาตุ. กทม, ๒๕๑๖.
  4. Hong-Bo Chen, Lan-Zhen Zhou, Lin Mei, Xiao-Jun Shi, Xiao-Shan Wang, Qing-Lin Li, Laiqiang Huang. Gambogenic acid-induced time- and dose-dependent growth inhibition and apoptosis involving Akt pathway inactivation in U251 glioblastoma cells. Journal of Natural Medicines 2011; 66(1):62-9. DOI:10.1007/s11418-011-0553-7.
  5. Fenggen Yan, Mei Wang, Jiaming Li, Hui Cheng, Jingjing Su, Xiaoshan Wang, Haiyun Wu, Lunzhu Xia, Xiaoxiang Li, Hebron C Chang, Qinglin Li. Gambogenic acid induced mitochondrial-dependent apoptosis and referred to phospho-Erk1/2 and phospho-p38 MAPK in human hepatoma HepG2 cells. Environmental toxicology and pharmacology 03/2012; 33(2):181-90.
  6. Jing Zhou, Yan-Hong Luo, Ji-Rong Wang, Bin-Bin Lu, Ke-Ming Wang, Ye Tian. Gambogenic Acid induction of apoptosis in a breast cancer cell line. Asian Pacific journal of cancer prevention: APJCP 2013; 14(12):7601-5.
  7. Yihebali Chi, Xiao-Kai Zhan, Hao Yu, Guang-Ru Xie, Zhen-Zhong Wang, Wei Xiao, Yong-Gang Wang, Fu-Xing Xiong, Jun-Feng Hu, Lin Yang, Cheng-Xu Cui, Jin-Wan Wang. An open-labeled, randomized, multicenter phase IIa study of gambogic acid injection for advanced malignant tumors. Chinese medical journal 2013; 126(9):1642-6.
  8. นินนาท อินทฤทธิ์, ภาณัฐ เดชะยนต์, สุมาลี ปานทอง, อรุณพร อิฐรัตน์. การเปรียบเทียบฤทธิ์ความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งและฤทธิ์ต้านแบคทีเรียของรงทองและรงทองสะตุ. การประชุมเครือข่ายวิชาการบัณทิตศึกษาแห่งชาติครั้งที่ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันที่ 18 ธันวาคม 2555.
  9. Professor Emeritus Ashwani Kumar. Baliospermum montanum (Willd) Muell has medicinal value.

    http://www.science20.com/humboldt_fellow_and_science/blog/baliospermum_montanum_willd_muell_has_medicinal_value
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.