Knowledge Article


ภาชนะเก็บยา..ที่ถูกต้องตามตำรายา


ภก. บรมพจน์ พฤฒิวนาสัณฑ์
ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
56,440 View,
Since 2014-05-11
Last active: 2s ago
https://tinyurl.com/ykv26l5c
Scan to read on mobile device
 
A - | A +

ตำรายา (Pharmacopoeia) เป็นตำราอ้างอิงทางเภสัชกรรมที่ระบุถึงคุณลักษณะเฉพาะของวัตถุดิบ (raw material) และผลิตภัณฑ์ยา(drug product) เพื่อใช้ในการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยา นอกจากนี้ตำรายายังได้กำหนดประเภทและคุณลักษณะเฉพาะของบรรจุภัณฑ์ที่นำมาใช้ในการบรรจุยาอีกด้วย ตำรายาได้นิยามประเภทของภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์ยาไว้หลายประเภทเนื่องด้วยรูปแบบของยาที่มีความหลากหลาย แต่ทั้งนี้คุณลักษณะของภาชนะที่เหมาะสมสำหรับการเก็บยาเม็ดและยาเม็ดแคปซูลโดยทั่วไปแบ่งออกเป็นสามประเภท ได้แก่ ภาชนะปิดสนิท (Well-close) ภาชนะปิดแน่น (Tight) และภาชนะกันแสงแดด (Light-resistant) โดยตำรายาของประเทศอเมริกา (The United States Pharmacopoeia) ได้กำหนดนิยามของภาชนะทั้ง3 ประเภท ดังนี้

  1. ภาชนะปิดสนิท (Well-closed)คือ ภาชนะที่ป้องกันของเหลวและของแข็งจากภายนอกเข้ามาปนเปื้อนตัวยาสำคัญและสามารถป้องกันการสูญหายของตัวยาสำคัญภายใต้สภาวะปกติหรือที่ระบุเฉพาะระหว่างการควบคุม ขนส่ง จัดเก็บ และแจกจ่ายตัวอย่างของภาชะบรรจุประเภทนี้ได้แก่ ซองยาซิปล๊อค กระปุกยาฝาเกลียวที่ไม่มีขอบซีล ตลับแบ่งยา เป็นต้น
  2. ภาชนะปิดแน่น (Tight)คือ ภาชนะที่ป้องกันของเหลว ของแข็ง หรือไอระเหยจากภายนอกเข้ามาปนเปื้อนตัวยาสำคัญ สามารถป้องกันการสูญหายของตัวยาสำคัญ และป้องกันการเกิดเป็นผลึก การเยิ้มเหลว หรือการระเหย ภายใต้สภาวะปกติหรือที่ระบุเฉพาะระหว่างการควบคุม ขนส่ง จัดเก็บ และแจกจ่ายตัวอย่างของภาชะบรรจุประเภทนี้ได้แก่ กระปุกยาชนิดฝาปิดสนิท กระปุกยาชนิดฝาล๊อคหรือกระปุกยาที่มีขอบซีลยาง เป็นต้น ต้องสังเกตลักษณะกายภาพของยาที่รับประทาน หากพบว่าเม็ดยามีลักษณะที่ผิดปกติหรือเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยทาน ควรงดทานยาดังกล่าวและปรึกษาเภสัชกร
  3. ภาชนะกันแสง (Light-resistant)คือภาชนะที่ป้องกันผลจากแสงที่สามารถเกิดกับตัวยาสำคัญได้ โดยภาชนะดังกล่าวอาจจะมีความสามารถป้องกันแสงได้ด้วยคุณสมบัติของตัวเอง หรือจากการเคลือบป้องกันแสงไว้บนผิววัตถุของภาชนะ ในกรณีภาชนะที่ใสและไม่มีสีหรือภาชนะที่โปร่งแสงสามารถป้องกันแสงได้ด้วยการเคลือบภาชนะให้ทึบแสงหรือจากการใช้บรรจุภัณฑ์ทุติยภูมิ เช่น กล่องบรรจุ หีบ ห่อ เป็นต้น ซึ่งบนภาชนะดังกล่าวจะต้องมีการระบุแจ้งเก็บให้พ้นแสงแดด (ภายใต้ภาชนะเคลือบทึบแสงหรือบรรจุภัณฑ์) จนกว่าจะมีการใช้ ตัวอย่างของภาชะบรรจุประเภทนี้ ได้แก่ ซองยาซิปล๊อคสีชา กระปุกยาชนิดแก้วสีชา (amber bottle) กระปุกยาพลาสติกทึบแสง ตลับยาชนิดทึบแสง เป็นต้น


แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่า ยาไหนควรเก็บไว้ในภาชนะอะไร?
ในตำรายาได้กำหนดมาตรฐานของภาชนะบรรจุยา(dispensing capsules and tablet) ที่เหมาะสมในการบรรจุยาเม็ดและแคปซูล โดยระบุไว้ในคุณลักษณะเฉพาะของตัวยาสำคัญ(monograph) ซึ่งเภสัชกรหรือผู้ป่วย/ผู้ใช้ยาสามารถค้นคว้าได้ในตำรายา ในกรณีที่ตำรายาไม่ได้ระบุภาชนะที่เหมาะสมไว้ ภาชนะที่ควรพิจารณาลำดับแรก คือ ภาชนะปิดแน่น (tight) เนื่องจากมีคุณสมบัติในการป้องกันที่ดีกว่าภาชนะปิดสนิท (well-closed) ส่วนคุณสมบัติการป้องกันแสงนั้น พิจารณาได้จากข้อมูลความคงตัวของตัวยาสำคัญต่อแสงซึ่งสามารถค้นคว้าได้จากเอกสารอ้างอิงทางวิชาการหรือวารสารงานวิจัย
ตารางที่ 1 แสดงตัวอย่างยาสามัญ รูปแบบของยา และภาชนะบรรจุที่เหมาะสมโดยทั่วไปภาชนะที่บรรจุยาจะเป็นประเภทภาชนะปิดแน่นหรือภาชนะปิดสนิท สำหรับยาบางตัวที่ไวต่อแสงนั้น ตำรายาจะมีการระบุให้ภาชนะมีคุณสมบัติกันแสงด้วย เช่น วิตามินซี (Ascorbic acid) หรือ ฟูโรซีไมด์ (Furosemide)
 
จะเห็นได้ว่าการเก็บจัดยาไว้ในภาชนะที่เหมาะสมนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ตัวยาสำคัญจากเราไปก่อนเวลาอันควร ทำให้เรามั่นใจได้ว่ายาที่เราทานเข้าไป จะคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพของการรักษา รวมถึงความปลอดภัยจากการได้รับสารเคมีที่เกิดจากการเสื่อมสลายตัวของตัวยาสำคัญได้ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. The United States Pharmacopeial Convention. The United States Pharmacopeia 36th Revision - The National Formulary 29th Revision. Volume 1. Maryland. United Book Press, Inc., 2012.<659> Packaging and storage requirements; p. 280-2.
  2. The United States Pharmacopeial Convention. The United States Pharmacopeia 36th Revision - The National Formulary 29th Revision. Volume 1. Maryland. United Book Press, Inc., 2012.Reference table/ Container Specifications;p. 1231-9.

 

Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.