Knowledge Article


ภาชนะเก็บยา..ที่เหมาะสมต่อการใช้ในชีวิตประจำวัน


ภก. บรมพจน์ พฤฒิวนาสัณฑ์
ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
54,938 View,
Since 2014-05-04
Last active: 30m ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +
คุณเภสัชกรครับ ยานี้เก็บอย่างไรดี? ยานี้ต้องกันแสงแดดไหม? ต้องใส่ซองกันความชื้นหรือไม่? คำถามการเก็บยาพวกนี้เป็นคำถามยอดนิยมมาก ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เพราะอะไรหรือ? หากตอบด้วยความรู้สึกที่เป็นผู้ใช้ยา คือเราอยากให้ยาที่เรารับประทาน ยังคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพการรักษา ไม่เสื่อมหรือหมดอายุก่อนจบการรักษา แน่นอนว่าการรับยาในแต่ละครั้งเรามักจะได้รับการจ่ายยามาเพื่อทานอย่างน้อยเป็นเวลา 3-5 วัน บางท่านอาจจะได้รับยานานเป็นเดือนๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน ที่จำเป็นต้องมีการทานยาตลอดชีวิต ดังนั้นความรู้และความเข้าใจในการจัดเก็บยาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ทุกสิ่งในโลกนี้มีการเสื่อมสลายตลอดเวลา จะแตกต่างกันที่อัตราเร็วในการเสื่อมสลาย การจัดเก็บยาที่ไม่ถูกต้องสามารถทำให้เกิดการเสื่อมสลาย (degradation) ของตัวยาสำคัญ (active pharmaceutical ingredients) ไวขึ้น เนื่องจากปัจจัยทางด้านสภาวะแวดล้อม ได้แก่ ความชื้น อุณหภูมิ สารเคมี แสงแดดฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่มีผลในการเกิดการเสื่อมสลายของตัวยาสำคัญได้ทั้งสิ้น การเสื่อมสลายของตัวยาสำคัญส่งผลให้ปริมาณตัวยาสำคัญต่อยาหนึ่งเม็ดลดลง ซึ่งเมื่อเราทานยาเข้าไปจะทำให้ระดับยาในเลือดไม่ถึงระดับที่มีผลต่อการรักษาโรค …โรคก็จะไม่หาย
การเสื่อมสลายจะเกิดขึ้นได้ทั้งจากตัวยาสำคัญหรือสารช่วยในตำรับ (excipients) ซึ่งอาจส่งผลก่อให้เกิดสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ยกตัวอย่างเช่น ยาแอสไพริน (aspirin) เป็นยาที่มีการใช้มากในผู้ป่วยโรคหัวใจเพื่อต้านการแข็งตัวของเกร็ดเลือด การเก็บรักษายาแอสไพรินจำเป็นต้องระวังความชื้นเนื่องจากความชื้นทำให้ยาดังกล่าวสลายตัวเป็นกรดซาลิไซลิก (salicylic acid) และกรดอะซิติก (acetic acid) การรับประทานกรดซาลิไซลิกนั้นไม่มีผลต่อการต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด (ผลการรักษา) ซ้ำยังมีอันตรายต่อร่างกายเมื่อได้รับเข้าไปในปริมาณที่สูงๆ เป็นความโชคดีอย่างหนึ่งของยาแอสไพริน คือ เราสามารถสังเกตการสลายตัวของยาแอสไพรินได้ด้วยการดม!! หากดมเม็ดยาแล้วพบว่ามีกลิ่นเปรี้ยวเหมือนน้ำส้มสายชูซึ่งกลิ่นที่ว่าก็คือกลิ่นของกรดอะซิติกนั่นเอง หากยาแอสไพรินมีการสลายตัวเยอะ เราก็จะได้กลิ่นของน้ำส้มสายชูที่ฉุนมาก การเสื่อมของยาที่สามารถสังเกตได้อีกตัวอย่างคือยาเม็ดวิตามินซีที่เมื่อเกิดการเสื่อมสลายจะเกิดเป็นจุดด่างสีน้ำตาลขึ้นบนเม็ดยา “แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากเป็นยาอื่นที่เราไม่สามารถสังเกตการสลายตัวด้วยประสาทสัมผัสของเราเองละครับ?
การแบ่งยาออกจากกระปุกยาขวดใหญ่หรือการแกะยาออกจากแผงยาเพื่อนำไปใส่ในกล่องยาหรือตลับยาเล็กๆ เป็นอีกพฤติกรรมหนึ่งที่สร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้ป่วย/ผู้ใช้ยาในการเก็บรักษาและพกพาไปนอกบ้านระหว่างวัน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารยาแก่ผู้ป่วยในกรณีที่ตลับยามีการระบุวันหรือมื้ออาหารที่ต้องรับประทานยาไว้เพื่อกันลืม อย่างไรก็ตามเภสัชกร ผู้ป่วย ผู้จัดยา หรือผู้ใช้ยา ควรมีความรู้ในการจัดเก็บหรือแบ่งบรรจุยาโดยเลือกภาชนะที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการเสื่อมสลายของตัวยาสำคัญได้

คำแนะนำในการจัดเก็บหรือแบ่งบรรจุยา

  1. ไม่ควรแกะยาที่บรรจุในแผงหรือแบ่งออกจากภาชนะ เช่น กระปุกยาหรือขวดยาที่ทางผู้ผลิตได้บรรจุมาไว้แต่แรกเพราะประเภทบรรจุภัณฑ์เริ่มแรกนั้นจะได้ตามมาตรฐานที่ตำรายาระบุไว้ (จะกล่าวถึงชนิดของภาชนะบรรจุยาที่ระบุในตำรายา(ตำราที่ว่าด้วยยาที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญและใช้อ้างอิงทางเภสัชศาสตร์) ต่อไป)
  2. หากมีความจำเป็นที่ต้องแกะยาออกจากแผงหรือแบ่งออกจากกระปุกใหญ่
    • ในกรณีที่เป็นแผงยา อาจจะทำการตัดแบ่งแผงยาออกเป็นขนาดย่อยๆ และบรรจุลงในกล่อง ซองหรือตลับยาที่จัดเตรียมไว้ โดยขอบแผงยาที่ตัดแล้วจะต้องไม่มีส่วนใดฉีกขาดหรือมีรูรั่วทะลุถึงส่วนในที่บรรจุยาเม็ดในแผง
    • ในกรณีแบ่งยาออกจากกระปุกใหญ่หรือแกะยาออกจากแผงลงในภาชนะบรรจุใหม่ให้เลือกพิจารณาภาชนะที่ปิดแน่น (Tight)ในการจัดเก็บเป็นลำดับแรก และควรมีคุณสมบัติที่กันแสงได้ หากไม่มีและจำเป็นต้องแบ่งยาลงในภาชนะบรรจุประเภทปิดสนิท เช่น ซองยา กล่องยาหรือตลับยา จะต้องปิดภาชนะให้สนิทเสมอและไม่ควรแบ่งยาเพื่อรับประทานเกิน 1 อาทิตย์(ระยะเวลาอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ตามความคงตัวของตัวยา)
  3. ต้องสังเกตลักษณะกายภาพของยาที่รับประทาน หากพบว่าเม็ดยามีลักษณะที่ผิดปกติหรือเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยทาน ควรงดทานยาดังกล่าวและปรึกษาเภสัชกร
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.