Knowledge Article


เตือนปรับลดขนาด ยาพาราเซตามอล (paracetamol) สูงสุดต่อวัน ลดความเสี่ยงต่อการเกิดความเป็นพิษต่อตับ


ภญ. ศยามล สุขขา
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
152,561 View,
Since 2010-07-09
Last active: 1h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +
พาราเซตามอล (Paracetamol; acetaminophen) เป็นยาสามัญประจำบ้านที่ผู้บริโภคสามารถซื้อได้เองโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยา และไม่ต้องจ่ายยาโดยเภสัชกร ข้อบ่งใช้ของยาพาราเซตามอล คือบรรเทาอาการปวดระดับอ่อนถึงปานกลาง ลดไข้ บรรเทาอาการปวดศีรษะ ปวดประจำเดือน และเป็นยาที่ควรเลือกใช้เป็นอันดับแรกในการบรรเทาอาการปวดต่างๆ เช่นอาการปวดในโรคข้อเสื่อม(osteoarthritis) เนื่องจากยามีอาการไม่พึงประสงค์ต่ำ เกิดอาการข้างเคียงในระบบทางเดินอาหารได้ต่ำกว่ายาแก้ปวดในกลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ดังนั้นยาพาราเซตามอล จึงได้มีการใช้อย่างแพร่หลายทั้งที่ผู้บริโภคหาซื้อเอง และจากการสั่งจ่ายยาโดยแพทย์

อุบัติการณ์การเกิดความเป็นพิษต่อตับจากยา พาราเซตามอล

แม้ว่าพาราเซตามอล เป็นยาที่นับว่ามีความปลอดภัยในการใช้ แต่อย่างไรก็ตามอาการไม่พึงประสงค์ที่สำคัญของการใช้พาราเซตามอล คือการเกิดความเป็นพิษต่อตับ (hepatotoxicity)ความเป็นพิษต่อตับของพาราเซตามอล เกิดได้ตั้งแต่มีความผิดปกติของผลทางห้องปฏิบัติการที่ใช้ในการประเมินการทำงานของตับ ไปจนถึงภาวะตับวายอย่างเฉียบพลัน (acute liver failure) และเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเสียชีวิตได้ ซึ่งการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อตับเกิดจากการรับประทานยาในขนาดที่มากกว่า 4 กรัมต่อวัน จากรายงานขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration; USFDA) พบอุบัติการณ์ของการเกิดภาวะตับวายอย่างเฉียบพลันระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1998-2003มีสาเหตุเกิดจากพาราเซตามอล ร้อยละ 48 ซึ่งสัมพันธ์กับการใช้ยาเกินขนาด และจากรายงานสรุปรวมจาก 5 การศึกษา พบผู้ป่วยที่เกิดความเป็นพิษต่อตับที่สัมพันธ์กับการใช้พาราเซตามอล โดยสรุปพบว่าผู้ป่วยประมาณ 56,000 รายที่ต้องเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉิน และมีผู้ป่วย 26,000 รายที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และ 458 รายที่เสียชีวิต

กลไกและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดความเป็นพิษต่อตับ

กลไกการเกิดความเป็นพิษต่อตับเกิดจาก toxic metaboliteที่ชื่อ NAPQI ไปทำลายเนื้อเยื่อตับ จากคำแนะนำในการใช้ยาจึงได้มีการกำหนดขนาดยาในการรับประทานคือ 650-1,000 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง และไม่เกิน 4 กรัมต่อวัน ในการใช้ยาก็ไม่ควรใช้นานติดต่อกันเกิน 5 วัน เนื่องจากจะเพิ่มความเป็นพิษต่อตับ เนื่องจากการเกิดความเป็นพิษต่อตับจากการใช้ยาพาราเซตามอล มีความสัมพันธ์กับการใช้ยาเกินขนาด USFDA จึงมีมาตรการในการลดความเสี่ยงนี้ โดยให้คำแนะนำในการปรับลดขนาดยา พาราเซตามอล ที่ใช้แต่ละครั้งไม่ให้เกิน 650 มิลลิกรัม และขนาดยาสูงสุดต่อวันคือ 2,600 มิลลิกรัม ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงของการที่ผู้บริโภคใช้ยาพาราเซตามอล เกินขนาดโดยไม่ตั้งใจ รวมถึงเป็นขนาดที่แนะนำในกรณีที่ผู้บริโภคมีความไวต่อการเกิดความเป็นพิษต่อตับด้วย

สาเหตุของการเกิดความเป็นพิษต่อตับจากการใช้ พาราเซตามอล

จากรายงานของ USFDAได้กล่าวถึงสาเหตุของการเกิดความเป็นพิษต่อตับขั้นรุนแรงในผู้ป่วยที่รับประทานยาพาราเซตามอล ดังนี้

  • การรับประทานยา พาราเซตามอลในขนาดมากกว่าขนาดที่แนะนำซึ่งอาจเกิดจากการขาดความเข้าใจของผู้บริโภค เช่นความเชื่อที่ว่าการรับประทานยาในขนาดสูง จะให้ผลลดอาการปวดมากขึ้นเป็นต้น
  • ปัจจัยที่ทำให้เกิดความไวต่อการเป็นพิษต่อตับเฉพาะบุคคลเช่น ในผู้ป่วยที่ดื่มสุราเรื้อรัง แม้จะรับประทานยาพาราเซตามอล ไม่เกินจากขนาดที่แนะนำ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในการเกิดความเป็นพิษต่อตับได้ ทั้งนี้อาจเนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้มีการกำจัดสารพิษ (toxic metabolite) ออกจากร่างกายได้ช้า หรือเกิดจากการที่ผู้ป่วยมีการสร้างสารพิษเหล่านี้ได้มากกว่าปกติ ซึ่งจากรายงานพบว่ามีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่พบความเป็นพิษต่อตับจากการรับประทานพาราเซตามอล ในขนาดต่ำกว่า 2.5 กรัมต่อวัน และผู้ป่วยที่มีภาวะขาดสารอาหารก็จะมีความไวต่อการเป็นพิษต่อตับเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยจะมีการสร้าง glutathione ที่จะช่วยทำลาย toxic metabolite ที่ชื่อ NAPQI ได้ลดลง และผู้ป่วยที่มีโรคตับอยู่เดิม หากเกิดการทำลายเนื้อเยื่อตับขึ้น โอกาสที่การทำงานของตับจะกลับคืนสู่สภาพปกติจะยากกว่าคนทั่วไป ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่คาดว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ตับไวต่อการเกิดพิษจากพาราเซตามอล มากขึ้นกำลังมีการศึกษาเพิ่มเติมอยู่ เช่น ปัจจัยทางด้านเชื้อชาติ พันธุกรรม เป็นต้น
  • ระยะเวลาของการเกิดความเป็นพิษต่อตับทำนายได้ไม่แน่นอนเนื่องจากระยะเวลาของอาการแสดงความเป็นพิษต่อตับอาจใช้เวลาหลายวัน รวมถึงอาการแสดงบ่งชี้ไม่แน่นอน ผู้ป่วยอาจมีอาการคล้ายกับการเป็นไข้ (flu-like symptoms) ซึ่งหากผู้ป่วยเกิดอาการดังกล่าวแต่ไม่ทราบสาเหตุก็อาจมีการรับประทานยาพาราเซตามอล ต่อไปได้
  • ผลิตภัณฑ์ยาที่มีส่วนประกอบของ พาราเซตามอลมีหลายข้อบ่งใช้ รวมถึงขนาดยาพาราเซตามอล ที่มีความหลากหลายเช่นพาราเซตามอล ในรูปที่เป็นยาเดี่ยวในการบรรเทาอาการปวดศีรษะ หรืออยู่ในรูปยาสูตรผสมกับยาอื่นเพื่อบรรเทาอาการหวัด รวมถึงยาที่ใช้ในการบรรเทาอาการปวดอื่นๆ เช่น ร่วมกับยาแก้ปวดกลุ่ม narcotics ซึ่งผู้ป่วยอาจมีหลายสภาวะร่วมกันในช่วงเวลาที่จะใช้ยา และทำให้เกิดการใช้พาราเซตามอล ในผลิตภัณฑ์ยาที่หลากหลายในเวลาเดียวกันอย่างไม่ตั้งใจ และทำให้เกิดความเป็นพิษต่อตับจากยาได้
  • ผู้บริโภคไม่ทราบว่าการใช้ พาราเซตามอลเกินขนาดจะเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดความเป็นพิษต่อตับเนื่องจากการที่ยาพาราเซตามอล หาซื้อได้ง่าย ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความคุ้นเคยกับยานี้มานาน และเป็นยาที่ผู้บริโภคมักเข้าใจว่ามีความปลอดภัยสูงในการใช้ รวมถึงผลิตภัณฑ์ยาในท้องตลาดที่อาจไม่ได้มีคำเตือนถึงอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวอย่างชัดเจน
  • ยาน้ำ พาราเซตามอลสำหรับเด็กมีหลายความเข้มข้นโดยความเข้มข้นที่ให้ในเด็กทารกมักจะสูงกว่าในเด็กโต เนื่องจากต้องการการให้ยาในปริมาณที่น้อย และทำให้เกิดความผิดพลาดได้หากนำยาที่ความเข้มข้นสูงดังกล่าวมาใช้ในเด็กโต โดยที่ไม่ได้นำมาคำนวณปริมาณยาใหม่ตามน้ำหนักตัวของเด็ก จึงทำให้เด็กอาจได้รับยาเกินขนาดได้
  • การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาการใช้ยาหรือสารที่มีคุณสมบัติเพิ่มการเหนี่ยวนำเอนไซม์ (enzyme inducer) cytochrome P450 2E1ร่วมกับพาราเซตามอล จะเพิ่มการเกิดความเป็นพิษต่อตับจากพาราเซตามอล เนื่องจาก cytochrome P450 2E1 เป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงยาพาราเซตามอล ให้เกิด toxic metabolite ที่ชื่อ NAPQI ซึ่งไปทำลายเนื้อเยื่อตับ ตัวอย่างยาที่เป็น enzyme inducer cytochrome P450 2E1 ได้แก่ phenytoin, carbamazepine, rifampin หรือการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานก็จะเพิ่มการเหนี่ยวนำเอนไซม์นี้เช่นเดียวกัน

มาตรการในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดความเป็นพิษต่อตับจาก พาราเซตามอล

จากสาเหตุดังกล่าวทำให้USFDAได้กำหนดมาตรการในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดความเป็นพิษต่อตับจากพาราเซตามอล ที่นอกเหนือจากการปรับลดขนาดยาได้แก่ การเพิ่มคำเตือนเรื่องการหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลงบนฉลากผลิตภัณฑ์ยา หรือแนะนำผู้ที่มีการบริโภคแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ ให้ทำการปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนที่จะมีการใช้ยานี้ รวมถึงการเพิ่มคำเตือนต่อการเกิดความเป็นพิษต่อตับบนฉลากยาพาราเซตามอล ที่เกิดจากการรับประทานยามากกว่าขนาดยาสูงสุดที่แนะนำต่อวัน และคำเตือนให้หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของพาราเซตามอล อื่นๆ ร่วมด้วยขณะใช้ยา หรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องโรคตับ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา และเพิ่มการสนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์ให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นพิษดังกล่าวเมื่อได้มีการจ่ายยาแก่ผู้ป่วย ตลอดจนการเพิ่มความระมัดระวังในการจ่ายยาพาราเซตามอล แก่ผู้ป่วยโดยมีการคำนวณขนาดยาอย่างเหมาะสมด้วย

นอกจากนี้ USFDA ยังเสนอให้มีการปรับลดความแรงของยาพาราเซตามอล ที่มีในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งในรูปแบบยาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำควรกำหนดให้มีขนาด 325 มิลลิกรัม ต่อ 1 ครั้ง โดยผลิตภัณฑ์นี้ให้รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคสามารถซื้อได้เอง และสูตรผสมกับยาอื่นที่ต้องมีการสั่งจ่ายโดยแพทย์

สิ่งที่ผู้บริโภคควรทราบก่อนการใช้ยา พาราเซตามอล

พาราเซตามอล ควรใช้เมื่อมีความจำเป็นตามข้อบ่งใช้ของยาที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์เท่านั้น และควรเพิ่มความระมัดระวังโดยการอ่านฉลากข้อมูลผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัดทุกครั้งที่จะมีการใช้ยา เพื่อป้องกันการใช้ยาซ้ำซ้อน รวมถึงไม่ควรรับประทานยามากกว่าขนาดที่แนะนำที่ระบุไว้บนฉลากยา และไม่ควรรับประทานยาติดต่อกันนานมากกว่า 5 วันเพราะอาจหมายถึงการที่ไม่ได้รับประสิทธิภาพจากยา และจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดพิษต่อตับมากขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ระหว่างที่มีการใช้ยา ผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคตับ ผู้ที่มีการดื่มแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ หรือมีการใช้ยาอื่นๆ ร่วมด้วย ควรทำการปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนที่จะมีการใช้ยานี้

เอกสารอ้างอิง

  1. Drug Safety and Risk Management Advisory Committee. Acetaminophen Overdose and Liver Injury — Background and Options for Reducing Injury. Available at http://www.fda.gov/downloads/AdvisoryCommittees/CommitteesMeetingMaterials/Drugs/DrugSafetyandRiskManagementAdvisoryCommittee/UCM164897.pdf. Accessed 1 June 2010.
  2. Acetaminophen. In: DRUGDEX® Evaluations. [Online]. 2010 Jun 1. Available from: MICROMEDEX® Healthcare Series; 2010. [cited 2010 Jun 1].
  3. Navarro, VJ. and Senior, JR.Drug-Related Hepatotoxicity. N Engl J Med. 2006; 354: 731-9.

 

 


Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.