Knowledge Article


ยาเหลือใช้ ปลอดภัยหรือไม่? “รอบรู้เรื่องยา ปรึกษาเภสัชฯ ลดยาเหลือใช้ ปลอดภัย ปลอดโรค”


เภสัชกรมรุพงษ์ พชรโชค
สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
58,380 View,
Since 2010-06-29
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/2yyxlhp3
Scan to read on mobile device
 
A - | A +

“ยาเหลือใช้” นับเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนจากการใช้ยาหลายคนอาจสงสัยว่า “ยาเหลือใช้” คืออะไร? หน้าตาเป็นอย่างไร? ยาเหลือใช้มาจากไหน? ยาที่กำลังรับประทานอยู่เป็นยาเหลือใช้หรือไม่? และยาเหลือใช้มีอันตรายอย่างไร? ซึ่งคำตอบเหล่านี้จะหมดไปทันทีเมื่ออ่านบทความนี้จนถึงบรรทัดสุดท้าย

“ยาเหลือใช้” คืออะไร?
ยาเหลือใช้ คือ ยาที่ไม่ได้ใช้แล้ว ยาเหลือใช้อาจเกิดจากหลายสาเหตุเช่น ยาที่ผู้ป่วยเคยใช้มาก่อนแต่ใช้ไม่ครบตามแพทย์สั่ง หรือหยุดใช้ยา ทำให้มียาเหลือเก็บไว้ที่บ้านโดยไม่ได้ใช้งาน หรือเป็นยาเหลือใช้จากการปรับเปลี่ยนยาในการรักษา เป็นต้น ยาเหลือใช้ที่อยู่ในสภาพดีสามารถนำกลับมาใช้ได้อีก แต่หากเก็บรักษาไม่ดีหรือเก็บไว้นานเกินไปยาเหลือใช้เหล่านั้นอาจจะเสื่อมสภาพหรือหมดอายุได้ ดังนั้นหากนำยาเหล่านี้มาใช้จะทำให้รักษาโรคไม่หายหรือได้รับอันตรายจากยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุได้

ยาเหลือใช้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
“ยาเหลือใช้” เกิดได้จากหลายสาเหตุดังที่ได้กล่าวไปแล้วในเบื้องต้น แต่เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นเรามาลองดูตัวอย่างสาเหตุที่ทำให้เกิด “ยาเหลือใช้” ดังต่อไปนี้

1. ยาเหลือใช้จากการที่ผู้ป่วยหยุดรับประทานยาเอง

1.1. ผู้ป่วยไม่ยอมรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง
ยาสำหรับโรคเรื้อรังควรรับประทานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมอาการของโรค ผู้ป่วยที่ไม่รับประทานยาไม่ว่าจะลืมหรือหยุดใช้ยาเองโดยไม่ได้บอกแพทย์ จะควบคุมอาการของโรคไม่ได้และทำให้การรักษาไม่ได้ผล เช่นกรณีผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่ได้รับประทานยาตามแพทย์สั่ง อาจเกิดอาการที่เป็นผลเสียของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเช่น ตาพร่า ชาปลายมือปลายเท้า ปัสสาวะบ่อย เป็นต้น
การรับประทานยาไม่ต่อเนื่องตามแพทย์สั่งไม่เพียงแต่จะควบคุมอาการของโรคไม่ได้เท่านั้น แต่ยังทำให้การดำเนินของโรครุนแรงยิ่งขึ้น เช่นกรณีผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้จะเกิดการเสื่อมสภาพของอวัยวะภายในร่างกาย และอาจเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังอื่นๆ ตามมาเช่น ไตวาย โรคหลอดเลือดหัวใจ อัมพาต เป็นต้น เพราะฉะนั้นผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่งเพื่อสุขภาพที่ดีของผู้ป่วยและลดปัญหายาเหลือใช้

1.2. ผู้ป่วยไม่ยอมรับประทานยาติดต่อกันจนหมด
ยาปฏิชีวนะ, ยาฆ่าเชื้อ หรือยาแก้อักเสบจากการติดเชื้อจำเป็นต้องรับประทานติดต่อจนหมด แม้ว่าอาการจะดีขึ้นเมื่อรับประทานเพียง 1-2 วัน แต่ถ้าแพทย์หรือเภสัชกรแนะนำให้รับประทานยาดังกล่าวติดต่อกัน 7 วัน ผู้ป่วยควรรับประทานยาติดต่อกันจนหมด การหยุดรับประทานยาปฏิชีวนะเมื่ออาการดีขึ้นเป็นสาเหตุของการดื้อยา เมื่อผู้ป่วยรับประทานยาปฏิชีวนะชนิดเดิมอีกครั้งจะทำให้รักษา ไม่หายเพราะเชื้อเกิดการดื้อยา และอาจต้องใช้ยารักษาที่แพงมากขึ้น ผู้ป่วยไม่ควรมียาปฏิชีวนะเป็น ยาเหลือใช้ เพราะปกติแล้วแพทย์หรือเภสัชกรมักจะจ่ายยาปฏิชีวนะให้พอสำหรับการรักษาแต่ละครั้ง หากมียาเหลือแสดงว่าไม่รับประทานติดต่อกันจนหมด หรือผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะไปเก็บไว้ที่บ้าน เนื่องจากการเจ็บป่วยแต่ละครั้งอาจเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันซึ่งบางครั้งไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะ Amoxicillin ไปเก็บไว้ที่บ้าน เพราะอาการเจ็บคออาจเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ นอกจากนี้การซื้อยาปฏิชีวนะเก็บไว้ จะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ยา เพราะหากผู้มีประวัติการแพ้ยากลุ่มอื่นและมีความเสี่ยงที่จะแพ้ยาข้ามกลุ่ม อาจหยิบไปรับประทานจนเกิดอันตรายจากการแพ้ยาได้

1.3. ผู้ป่วยหยุดรับประทานยาเองเนื่องจากอาการข้างเคียง
เมื่อผู้ป่วยบางรายที่ทนอาการข้างเคียงจากการใช้ยาไม่ได้เช่น ง่วงนอน, คลื่นไส้ อาเจียน, ปวดท้อง หรือท้องเสีย เป็นต้น ผู้ป่วยจะไม่รับประทานยาดังกล่าว ทำให้เกิดยาเหลือใช้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยสามารถแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบ เพื่อขอคำแนะนำเพื่อลดอาการข้างเคียงดังกล่าว

1.4. ผู้ป่วยหยุดรับประทานยาเนื่องจากผู้ป่วยหายดีแล้ว
ยาหลายชนิดเป็นยารักษาหรือบรรเทาอาการ แพทย์และเภสัชกรมักแนะนำให้ผู้ป่วยหยุดรับประทานยาเมื่ออาการดีขึ้น เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดยาเหลือใช้ขึ้น ผู้ป่วยควรเก็บรักษายารักษาหรือบรรเทาอาการดังกล่าวในสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อสามารถนำมาใช้ได้อีกครั้ง

2. ยาเหลือใช้ที่ได้รับจากผู้อื่น
ผู้ป่วยบางรายอาจแบ่งปันยาเหลือใช้ของตนให้กับเพื่อน คนรู้จักหรือญาติที่มีประวัติความเจ็บป่วยคล้ายกัน การแบ่งยาให้กับบุคคลที่มีอาการคล้ายกันเป็นเรื่องไม่เหมาะสมเนื่องจากผู้ป่วยอาจไม่ทราบว่าอาการดังกล่าวจะเป็นอาการแสดงของโรคเดียวกันหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยมีอาการปวดข้อจาก โรคเก๊าต์รับประทานยาแก้ปวดแล้วหายปวด จึงแนะนำให้เพื่อนบ้านที่มีอาการปวดข้อจากโรคข้อเสื่อม ให้รับประทานยาตัวเดียวกัน ผู้ป่วยอาจไม่ทราบความแตกต่างระหว่างอาการปวดข้อของโรคทั้ง 2 ชนิดและ ไม่ทราบว่ายารักษาโรคเก๊าต์บางชนิดใช้กับผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมไม่ได้ผล ด้วยเหตุนี้ผู้ป่วยจึงไม่ควรแบ่ง ยาเหลือใช้ของตนให้บุคคลอื่นที่มีอาการคล้ายกัน นอกจากนี้แม้ว่าผู้ป่วยจะมีโรคประจำตัวเหมือนกัน ยาที่ผู้ป่วยใช้ได้ผลอาจใช้กับผู้ป่วยอีกคนไม่ได้ผลหรือไม่ปลอดภัยกับผู้ป่วยคนอื่นก็ได้

3. ยาเหลือใช้ที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนการรักษา
หากแพทย์เปลี่ยนการรักษาสำหรับผู้ป่วย บางกรณีอาจเปลี่ยนตัวยาใหม่ ยาตัวเดิมที่เหลือในบ้าน จะกลายเป็นยาเหลือใช้ หรือกรณีที่โรงพยาบาลมีการเปลี่ยนแปลงยี่ห้อยาที่ผู้ป่วยได้รับ เมื่อมีการสั่งจ่ายยายี่ห้อใหม่ ในขณะที่ยังมียายี่ห้อเดิมเหลือใช้อยู่ในบ้าน ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำที่ชัดเจนเพราะหากผู้ป่วย ไม่เข้าใจอาจรับประทานยาทั้งหมดร่วมกันจนอาจเกิดอันตรายจากการใช้ยา

 

ประชาชนจะลดยาเหลือใช้ได้อย่างไร?
หลังจากที่เราทราบแล้วว่าเรามี “ยาเหลือใช้” อยู่มากน้อยแค่ไหน วิธีการปฏิบัติตัวในลำดับต่อมา คือ การจัดการกับยาเหลือใช้ที่มีอยู่อย่างถูกต้องด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

1. พายามาหาเภสัชกร
เภสัชกรคือผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับยาดีที่สุด ดังนั้นการขอรับคำปรึกษาจากเภสัชกรใกล้บ้านจึงเป็นวิธีที่ดี สะดวก และปลอดภัยที่สุดเช่นกัน

2. การบริจาคยากับเภสัชกร / แพทย์
ในกรณีที่ “ยาเหลือใช้” ยังไม่หมดอายุและไม่จำเป็นสำหรับเราอีกแล้วนั้น อาจทำการบริจาคให้แก่เภสัชกรหรือแพทย์เพื่อนำยาเหล่านั้นไปมอบให้แก่ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาแต่ขาดแคลนกำลังทรัพย์ได้ ซึ่งถือเป็นการทำบุญในอีกทางหนึ่งด้วย

3. การใช้ยาเก่าก่อนยาใหม่
ในกรณีที่มียาเหลือใช้เป็นจำนวนมากและเรายังจำเป็นต้องรับประทานยานั้นอยู่ สิ่งที่ควรทำ คือ สำรวจวันหมดอายุของยาที่มีทั้งหมดและรับประทานยาที่ใกล้หมดอายุก่อน

4. การกำจัดยาเหลือใช้อย่างถูกต้อง
ในกรณีที่ “ยาเหลือใช้” ที่มีอยู่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุลง แน่นอนว่าสิ่งที่ควรปฏิบัติ คือ การกำจัดยาเหล่านั้นทิ้งไป แต่สิ่งหนึ่งที่พึงระลึกไว้เสมอว่าเมื่อเราทิ้งยาเหล่านั้นไปแล้วอาจมีผู้ที่เก็บยาเหล่านั้นได้แล้วนำไปใช้ต่อโดยที่ไม่ได้สังเกตวันหมดอายุหรือลักษณะที่เสื่อมสภาพของยาก่อนใช้ทำให้ได้รับอันตรายจากยาเหลือใช้ของเรา ดังนั้นสิ่งที่ควรปฏิบัติก่อนการทิ้ง “ยาเหลือใช้” คือ การทำให้ยาเหล่านั้นเสียสภาพก่อนหรือทำให้ไม่สามารถนำมาใช้ต่อได้อีก เช่น ยาเม็ดหรือแคปซูลควรที่จะทำการบดให้แตกละเอียดก่อนจากนั้นจึงทำการคลุกกับสารที่ไม่ต้องการ เช่น ขี้เถ้า ดิน หรือกากกาแฟ จากนั้นจึงห่อด้วยกระดาษหรือถุงพลาสติกอีกชั้นหนึ่งแล้วนำไปทิ้งถังขยะ หรือยาน้ำควรเทยาออกจากขวดให้หมดโดยอาจคลุกยากับสารที่ไม่ต้องการและห่ออีกชั้นก่อนนำไปทิ้ง ส่วนการเทยาลงในโถส้วมหรืออ่างล้างจานนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แนะนำ เนื่องจากจะทำให้ยากระจายและปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ เช่น ดินที่ใช้ทำเกษตรกรรม หรือน้ำในแม่น้ำลำคลองต่างๆ ที่ถูกนำมาผลิตเป็นน้ำประปา ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเราอาจได้รับอันตรายจากยาที่เราเป็นคนทิ้งไปเองโดยไม่รู้ตัว

 

สิ่งพึงปฏิบัติก่อนนำ “ยาเหลือใช้” กลับมาใช้ใหม่
ผู้ป่วยสามารถนำยาเหลือใช้ในบ้านกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไม่รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง หากจะกลับมารับประทานยาอีกครั้งควรตรวจสอบวิธีการใช้ยากับแพทย์ก่อนใช้ยา เพราะแพทย์อาจปรับเปลี่ยนวิธีรับประทาน ผู้ป่วยสามารถสังเกตได้จากฉลากยาครั้งสุดท้ายที่ไปพบแพทย์ ผู้ป่วยที่ได้รับยาเหลือใช้จากผู้อื่นควรสอบถามจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา ก่อนที่จะใช้ยาเหลือใช้ทุกครั้งผู้ป่วยควรตรวจสอบสภาพยา ก่อนใช้งานว่าเป็นยาสภาพดีที่สามารถนำมาใช้ได้หรือเป็นยาเสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว โดยมีวิธีการตรวจสอบยาก่อนใช้ดังนี้

1. ตรวจสอบวิธีการเก็บรักษายาว่าถูกต้องหรือไม่
ผู้ป่วยควรเก็บรักษายาที่บ้านให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม หากเก็บรักษาไม่เหมาะสม ยาเหลือใช้ที่บ้านอาจกลายเป็นยาเสื่อมสภาพโดยไม่รู้ตัว
- ผู้ป่วยควรเก็บรักษายาให้ห่างจากความชื้น เช่นไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ เป็นต้น
- ผู้ป่วยควรเก็บรักษายาในอุณหภูมิที่เหมาะสม ยาส่วนใหญ่เก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง แต่ยาบางชนิดแนะนำให้เก็บในตู้เย็นเช่น ยาเหน็บทวารหนัก, ยาหยอดตาบางชนิด เป็นต้น
- ผู้ป่วยควรเก็บรักษายาให้พ้นจากแสงแดด โดยเฉพาะยาที่ไวต่อแสงแดด ควรเก็บในซองสีชา

2. ตรวจสอบลักษณะของบรรจุภัณฑ์หรือภาชนะบรรจุยา
ผู้ป่วยควรเก็บยาในภาชนะเดิมของผู้ผลิตเช่น ขวด, แผง หรือซองเดิม เป็นต้น ไม่ควรเก็บยาหลายชนิดในซองเดียวกัน เนื่องจากอาจเกิดการปนเปื้อนและสับสนในการใช้ยา และถ้าจำเป็นต้องแบ่งยาของจากภาชนะเดิมเพื่อจัดแบ่งให้ผู้ป่วยตามมื้ออาหาร ควรจัดไว้เพียงระยะเวลาสั้นๆ เช่นรายวันหรือรายสัปดาห์ การแบ่งยาออกจากภาชนะเดิมจำนวนมากๆ อาจทำให้ยาเสื่อมสภาพได้

3. ตรวจสอบฉลากยา
ผู้ป่วยควรรักษาฉลากยาให้ครบถ้วน ไม่ควรฉีกหรือทำลายทิ้ง เมื่อต้องใช้ยาอีกครั้งผู้ป่วยจะสามารถอ่านข้อมูลจากฉลากยาเพื่อให้ใช้ยาอย่างเหมาะสมต่อไป

4. ตรวจสอบวันหมดอายุ
ผู้ป่วยควรอ่านวันหมดอายุก่อนใช้ยา ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยาเหลือใช้ที่หมดอายุแล้ว

5. ตรวจสอบลักษณะภายนอกของยา
ผู้ป่วยควรสังเกตลักษณะภายนอกของยาก่อนใช้ หากลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สี, กลิ่น, รส เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ผู้ป่วยไม่ควรรับประทานยาดังกล่าวเพราะอาจเกิดจากยาเสื่อมสภาพหรือยาหมดอายุ

 


บรรณานุกรม
วิรัตน์ ทองรอด. ยาเหลือใช้ (หรือ ยาขยะ)...ที่บ้าน [Online]. [cited 2010 Jun 23]. Available from: URL:

https://pharmacycouncil.org/main/download/8_Leftover%20drugs%20at%20home%20_%20_%20drug%20waste.pdf.pdf.

Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.