Knowledge Article


ดาหลา ความงามที่กินได้...


กฤติยา ไชยนอก
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
63,353 View,
Since 2013-08-18
Last active: 2h ago
https://tinyurl.com/24jkz9dh
Scan to read on mobile device
 
A - | A +


หากเป็นคนที่มีพื้นเพอยู่ในจังหวัดทางภาคใต้ น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักพืชชนิดนี้ ด้วยรูปทรงและสีสันที่สวยงาม บวกกับความทนทานของดอกดาหลา จึงทำให้มันถูกจำหน่ายเป็นไม้ตัดดอกที่ทำกำไรให้กับผู้ปลูกเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่เพียงแค่การใช้เป็นไม้ประดับ แต่ดอกดาหลายังสามารถนำมาทำเป็นอาหารได้หลากหลาย ทั้งต้มจิ้มน้ำพริก ทำแกงส้ม แกงจืด แกงเผ็ด แกงกะทิ และผสมในข้าวยำที่เป็นอาหารเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นของชาวปักษ์ใต้บ้านเรา หรือบางแห่งก็นำดอกดาหลาไปแปรรูปเป็นน้ำสมุนไพร ไวน์สมุนไพร น้ำส้ม น้ำยาทำความสะอาด หรือแม้แต่นำไปทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี

ดาหลา (Torch ginger) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Etlingera elatior [Jack] R. M. Smith. เป็นพืชในวงศ์ ZINGIBERACEAE เช่นเดียวกับขิงและข่า ชื่ออื่นๆ คือ กาหลา จินตะหลา กะลา ดาหลาเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน ส่วนลำต้นเหนือดินเป็นกาบใบที่โอบซ้อนกันแน่นเช่นเดียวกับพืชจำพวกกล้วย ซึ่งส่วนนี้คือลำต้นเทียม ใบเป็นรูปหอกยาวเรียว ปลายใบแหลม สีเขียวเข้ม ดอกออกเป็นช่อ แทงก้านดอกจากเหง้าใต้ดิน กลีบประดับซ้อนกันหลายชั้น มีสีชมพูถึงแดงเข้ม นอกจากการใช้เป็นไม้ดอกไม้ประดับและนำมารับประทานแล้ว ดอกดาหลายังมีสรรพคุณทางยาในการช่วยขับลมและแก้ท้องอืดท้องเฟ้อได้ เนื่องจากมีรสเผ็ดร้อน อีกทั้งยังใช้แก้โรคลมพิษและโรคผิวหนังได้อีกด้วย

การศึกษาทางด้านสารเคมีของดาหลาพบสารสำคัญในกลุ่ม phenolics และ flavonoids ทั้งในส่วนของใบ ดอก และเหง้า ซึ่งล้วนแต่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่โดดเด่น โดยมีลำดับความแรงดังนี้ สารสกัดจากส่วนใบ > สารสกัดจากส่วนดอก > สารสกัดจากส่วนเหง้า นอกจากนี้ยังพบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย (จากน้ำมันหอมระเหยและใบ) ฤทธิ์ต้านความเป็นพิษต่อตับ (จากช่อดอก) ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase (จากใบ) และฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง (จากเหง้า) แต่ทั้งหมดยังเป็นเพียงการศึกษาในระดับเซลล์ หลอดทดลอง และสัตว์ทดลองเท่านั้น สำหรับการศึกษาความเป็นพิษ ยังไม่มีการรายงานความเป็นพิษของพืชชนิดนี้ อีกทั้งการรับประทานในรูปแบบของอาหารก็มีความปลอดภัยสูง แต่สำหรับผู้ที่มีประวัติการแพ้ ขิง ข่า ไพล หรือพืชในวงศ์ ZINGIBERACEAE ควรเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานดาหลา เนื่องจากเป็นพืชวงศ์เดียวกัน อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้...

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.