Knowledge Article


การพัฒนาอนุภาคนาโนและระบบนำส่ง ตอนที่ 3


ศาสตราจารย์.ดร.อำพล ไมตรีเวช, ศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ สาริสุต,
ภญ.ดวงมณี มณีโรจน์ภักดี, ภญ.วสุ วิฑูรย์สฤษฏ์ศิลป์ และ ภก.โกศล แซ่ติ้ง
ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
32,890 View,
Since 2013-08-14
Last active: 5m ago
https://tinyurl.com/272zmqz7
Scan to read on mobile device
 
A - | A +
บทนำ

ระบบนำส่งเป็นศาสตร์ที่อาศัยความรู้จากสหวิชาไว้ด้วยกัน และเป็นแขนงที่ได้รับความสนใจจากทั้งนักวิจัย ในทศวรรษที่ผ่านมาได้มีการศึกษาเทคโนโลยีการนำส่งยาที่หลากหลาย แต่ที่ได้รับความสนใจเป็นอันมากคือ การพัฒนาระบบนำส่งในระดับนาโนเมตร หรือที่เรียกว่า "อนุภาคนาโน" ได้มีการพัฒนาอนุภาคนาโนไปใช้กับทั้งยาที่มีการใช้ในรูปแบบเดิม การนำส่งยาโปรตีน วัคซีน และนิวคลีโอไทด์ เป็นต้น โดยระบบนำส่งที่พัฒนาขึ้นทั้งในรูปอนุภาคนาโน หรือระบบคอลลอยด์อื่นๆ เหล่านี้ จะไปมีผลต่อค่าเภสัชจลนศาสตร์ การกระจาย และการปลดปล่อยในร่างกาย(1)

นอกจากนี้ในปัจจุบันได้มีการประยุกต์ใช้อนุภาคนาโนนำไปใช้ในเครื่องสำอาง ดังจะเห็นได้จากการเติบโตอย่างรวดเร็วในการลงทุนและการจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอนุภาคนาโนเพื่อการใช้ทางผิวหนัง ตัวอย่างเช่น ในผลิตภัณฑ์กันแดด ผลิตภัณฑ์เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว แต่อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีอนุภาคนาโนเป็นส่วนประกอบนี้ควรได้รับการตรวจสอบเพื่อให้ทราบถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ก่อนนำไปใช้ด้วย ในบทนี้จะกล่าวถึงการเตรียมอนุภาคนาโนในรูปแบบ นาโนอิมัลชัน (Nanoemulsion)(2)

นาโนอิมัลชัน (Nanoemulsion)

นาโนอิมัลชัน เป็นระบบที่ประกอบด้วยน้ำมัน, น้ำและสารลดแรงตึงผิวในปริมาณสูง มีลักษณะเป็นของเหลวใสที่มีความคงตัวทางเทอร์โมไดนามิกส์สูง ขนาดของหยดอนุภาคในตำรับมักมีขนาดเล็กกว่า 100 นาโนเมตร สามารถคงรูปอยู่ได้จากผิวฟิล์มของสารลดแรงตึงผิว รูปตัวอย่างแสดงดังรูปที่ 1 สารลดแรงตึงผิวที่นิยมใช้คือกลุ่มสารลดแรงตึงผิวที่ไม่มีประจุ (nonionic surfactants) และกลุ่มสารลดแรงตึงผิวที่มีทั้งประจุบวกและลบ (zwitterionic surfactants) ตัวยาหรือสารสำคัญที่มี คุณสมบัติชอบน้ำหรือไม่ชอบน้ำสามารถนำส่งด้วยระบบนี้ได้ สารลดแรงตึงผิวในตำรับสามารถทำปฏิกิริยากับไขมันที่อยู่ระหว่างเซลล์ของผิวหนังทำให้สามารถเพิ่มการซึมผ่านของตัวยาหรือสารสำคัญผ่านผิวหนัง และในส่วนของวัฏภาคไขมันสามารถทำให้เกิดการปกคลุมผิวเมื่อทาลงบนผิวหนัง โดยทำให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้นสูงขึ้น ส่วนหยดอนุภาคอิมัลชันจะยุบตัวหรือหลอมไปกับส่วนประกอบของผิวหนัง(2)





รูปที่ 1 ลักษณะของนาโนอิมัลชัน (ดัดแปลงมาจาก Venugaranti VV, et al.(2))

Puglia และคณะได้ทำการศึกษานาโนอิมัลชันในการนำส่ง glycyrrhetic acid ซึ่งมีฤทธิ์ลดการระคายเคือง ลดอาการแดงของผิวหนังและมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยาและเครื่องสำอาง ผลทาง in vitro และ in vivo พบว่านาโนอิมัลชันสามารถเพิ่มการนำส่ง glycyrrhetic acid ผ่านผิวหนังได้ดีกว่าตำรับที่เป็น O/W อิมัลชัน(3) Zhou และคณะได้ทำการพัฒนาตำรับ lecithin nanoemulsion ซึ่งเป็นการนำ lecithin มาใช้แทนสารลดแรงตึงผิวในตำรับและศึกษาคุณสมบัติต่าง ๆ ของตำรับพบว่าสามารถเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนังอย่างมีนัยสำคัญและยังช่วยเพิ่มการซึมผ่านของ Nile red ซึ่งเป็นสารที่ใช้ศึกษาการซึมผ่านชั้นผิวหนัง ดังนั้นตำรับ lecithin nanoemulsion อาจสามารถนำมาใช้เป็นระบบนำส่งตัวยาหรือสารสำคัญที่มีคุณสมบัติชอบไขมัน (lipophilic) ได้(4)

การประยุกต์ใช้นาโนอิมัลชันทางเวชสำอาง

  1. การประยุกต์ใช้นาโนอิมัลชันเพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึมของสารสำคัญผ่านผิวหนัง หยดของเหลวที่มีขนาดเล็กของนาโนอิมัลชันทำให้มีพื้นที่ผิวที่มากและเกิดการสะสมบนผิวอย่างสม่ำเสมอ จึงทำให้กระบวนการแทรกซึมของสารสำคัญเข้าสู่ผิวหนังเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ(5) Kong และคณะ(6) พัฒนานาโนอิมัลชันชนิดน้ำมันในน้ำ (oil in water emulsion) จาก hyaluronic acid เพื่อนำส่งสารสำคัญที่ชอบละลายในน้ำมัน (lipophilic ingredient) ผ่านผิวหนัง โดยใช้วิตามินอี (alpha-tocopherol) เป็นสารต้นแบบ พบว่านาโนอิมัลชันที่เตรียมได้มีความสามารถในการซึมผ่านผิวหนังชั้น stratum corneum ไปยังผิวหนังชั้น dermis ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับสารละลายของวิตามินอีในเอธานอล โดยไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง
  2. การประยุกต์ใช้นาโนอิมัลชันเพื่อช่วยกักเก็บน้ำในผิวหนัง การสร้างฟิล์มปกคลุมบนผิวหนังของนาโนอิมัลชัน ช่วยลดการสูญเสียน้ำจากผิวหนังชั้นนอก ทำให้ผิวมีความชุ่มชื้น เพิ่มการเกิดไฮเดรชัน (hydration) จึงเพิ่มการแทรกผ่านของสารสำคัญเข้าสู่ผิวหนัง รูปที่ 2 แสดงความสามารถในการเก็บกักความชื้นของนาโนอิมัลชัน body milk และ body water โดยที่ 1 และ 24 ชั่วโมงหลังจากทาผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดพบว่า นาโนอิมัลชันให้ความชุ่มชื้นของผิวที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่เหลืออีก 2 ชนิด(7)



    รูปที่ 2 แสดงปริมาณการเพิ่มขึ้นของความชุ่มชื้นของผิวหนังชั้น stratum corneum บริเวณท้องแขน ที่ เวลา 1 และ 24 ชั่วโมงหลังจากทาผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ (ดัดแปลงมาจาก Sonneville-Aubrun O, et al.(7))
  3. การประยุกต์ใช้นาโนอิมัลชันเพื่อช่วยให้ผลิตภัณฑ์น่าใช้และให้ความรู้สึกที่ดีบนผิว จากคุณสมบัติของนาโนอิมัลชันที่ไม่เป็นอันตราย ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ไม่อุดตันรูขุมขน ยอมให้อากาศและน้ำไหลผ่านได้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนาโนอิมัลชันน่าใช้และให้ความรู้สึกที่ดีหลังการใช้ โดยจากการทดสอบกับกลุ่มอาสาสมัครที่ใช้ body lotion เป็นประจำ จำนวน 192 คน โดยให้ใช้ body lotion ชนิดนาโนอิมัลชัน วันละครั้งนาน 2 สัปดาห์ พบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของอาสาสมัครชอบความเหลวและใสของ body lotion ชนิดนาโนอิมัลชัน 80 เปอร์เซ็นของอาสาสมัครดังกล่าวชอบความสดชื่นที่ได้รับ 72 เปอร์เซ็นต์ชอบความชุ่มชื้นและ 84 เปอร์เซ็นต์ชอบผลทางความงามที่ได้รับ นอกจากนี้ยังพบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของอาสาสมัครชอบ body lotion ชนิดนาโนอิมัลชันมากกว่าผลิตภัณฑ์เดิมที่เคยใช้ โดย 95 เปอร์เซ็นต์ของอาสาสมัครดังกล่าวต้องการเปลี่ยนมาใช้ body lotion ชนิดนาโนอิมัลชัน(7)


แม้ว่าจะมีงานวิจัยมากมายกล่าวถึงศักยภาพในการนำนาโนอิมัลชันมาประยุกต์ใช้ แต่รายงานการประยุกต์ใช้นาโนอิมัลชันยังมีอยู่อย่างจำกัด ทั้งนี้อาจเนื่องมากจากข้อจำกัดในเรื่องความคงตัว ทำให้นาโนอิมัลชันไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน จึงต้องใช้ทันทีหลังจากเตรียมเสร็จซึ่งไม่เหมาะกับการนำไปใช้จริง(8)

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์เวชสำอางที่มีนาโนอิมัลชันเป็นส่วนผสมในท้องตลาด เช่น Bepanthol? Crema Facial Ultra Protect ของบริษัท Bayer Healthcare ประกอบด้วย ceramides, lecithin, vitamin B3, dexpanthenol, madecassic, lactic acid, glycine and vitamin E ซึ่งระบุว่าช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง กระตุ้นให้เกิดการผลัดเซลล์ผิวและป้องกันริ้วรอย(9) บทสรุป

ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเครื่องสำอางให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยมีการใส่สารสำคัญลงไปในผลิตภัณฑ์เพื่อให้มีการออกฤทธิ์เชิงรักษาเรียกว่า ‘เวชสำอาง’ อีกทั้งได้มีแนวทางการพัฒนาตำรับเวชสำอางให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นด้วยการใช้ระบบนำส่ง โดยเฉพาะการใช้อนุภาคนาโนในผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ผิวหนังเป็นเครื่องกีดขวางที่สำคัญในการซึมแพร่ผ่านของสารสำคัญ ข้อมูลของสารสำคัญเช่น คุณสมบัติทางเคมีกายภาพ รวมทั้งกลไกการออกฤทธิ์และชั้นผิวหนังของที่เป็นเป้าหมายในการออกฤทธิ์เป็นข้อมูลสำคัญในการเลือกวิธีนำส่งสารสำคัญเข้าสู่ชั้นของผิวหนัง การเลือกใช้วิธีนำส่งสารสำคัญที่เหมาะสมจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการซึมแพร่ผ่านของสารสำคัญ ประหยัดและปลอดภัยแก่ผู้ใช้ ข้อได้เปรียบในการนำส่งสารสำคัญเหล่านี้โดยการกักเก็บไว้ในระบบนำส่งอนุภาคนาโนคือ ความสามารถในการเพิ่มการดูดซึม, เพิ่มการละลาย, สามารถป้องกันการเสื่อมสลาย, ควบคุมการปลดปล่อยสารสำคัญ, หรือทำให้เกิดความรู้สึกสัมผัสที่ดีบนผิวหนังหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์ ฯลฯ อนุภาคนาโนที่สามารถนำมาใช้มีอยู่ในหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับส่วนประกอบของอนุภาค, วิธีที่ใช้ผลิต, สารสำคัญที่ต้องการกักเก็บ, กลไกการนำส่งอนุภาคที่ต้องการ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจกำหนดสมบัติทางเคมีกายภาพของอนุภาคนาโน เช่น ขนาดอนุภาค, พื้นผิวอนุภาค, และความคงตัวของอนุภาคเป็นต้น

ในท้องตลาดได้มีผลิตภัณฑ์ที่มีอนุภาคนาโนเป็นระบบนำส่ง เช่น Cutanova Cream NanoVital Q10, SURMER Cr?me Leg?re Nano-Protection ซึ่งสามารถนำส่งสารสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพดีกว่าตำรับเครื่องสำอางแบบเก่า เช่น ครีม หรือ อิมัลชั่น นอกจากนี้ยังทำให้ผลิตภัณฑ์มีความน่าสนใจและเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์อีกด้วย

อย่างไรก็ตามการพัฒนาระบบนำส่งอนุภาคนาโน นอกเหนือจากการทดสอบถึงลักษณะทางเคมีกายภาพและความคงสภาพของอนุภาคนาโน ผู้พัฒนาต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ก่อนที่จะนำไปใช้ต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Parveen S, Misra R, Sahoo S K, Nanopartcles: a boon to drug delivery, therapeutics, diagnostics, and imaging. Nanomed Nanotechnol Biol Med. 2012; 8: 147-66.
  2. Venugaranti VV, Perumal OP, Chapter 9, Nanosystems for Dermal and Transdermal Drug Delivery, In: Pathak Y, Thassu D. Drug Delivery Nanoparticles Formulation and Characterization. New York: Informa Healthcare USA, Inc., 2009: 126-55.
  3. Puglia C, Rizza L, Drechsler M, Bonina F. Nanoemulsions as vehicles for topical administration of glycyrrhetic acid: Characterization and in vitro and in vivo evaluation. Drug Deliv. 2010; 17(3): 123-9.
  4. Zhou H, Yue Y, Liu G, Li Y, Zhang J, Gong Q, et al. Preparation and Characterization of Lecithin Nanoemulsion as a Topical Delivery System. Nanoscale Res Lett. 2010; 5: 224-30.
  5. วราภรณ์ จรรยาประเสริฐ. นาโนเทคโนโลยี: การนำส่งยาและเครื่องสำอางทางผิวหนัง. กรุงเทพฯ: บริษัท ประชาชน จำกัด, 2552.
  6. Kong M, Chen XG, Kweon DK, Park HJ. Investigations on skin permeation of hyaluronic acid based nanoemulsion as transdermal carrier. Carbohydr Polym.2011; 86(2): 837-43.
  7. Sonneville-Aubrun O, Simonnet JT, L Alloret F. Nanoemulsions: a new vehicle for skincare products. Adv Colloid Interface Sci. 2004; 108: 145-9.
  8. Gutierrez JM, Gonzalez C, Maestro A, Sole I, Pey CM, Nolla J. Nano-emulsions: New applications and optimization of their preparation. Curr Opin Colloid Interface Sci. 2008; 13(4): 245-51.
  9. Bayer Healthcare. Protect Facial Cream Ultra Bepanthol – What is it? 2011 [cited 2012 February 12]; Available from: http://www.consumercare.bayer.es/es/parafarmacia/dermatologicos/ bepanthol/bepanthol-crema-facial-ultra-protect/que-es/index.php.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.