Knowledge Article


นิ่วน้ำลาย


รองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา ทองประดิษฐ์โชติ
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
110,533 View,
Since 2013-02-03
Last active: 1h ago
https://tinyurl.com/2xwfcta2
Scan to read on mobile device
 
A - | A +
คำว่า “นิ่ว” เมื่อได้ยินคนส่วนใหญ่จะนึกถึงนิ่วในทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งนิ่วในถุงน้ำดีหรือทางเดินน้ำดี แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า “นิ่ว” สามารถเกิดในต่อมน้ำลายหรือท่อทางเดินน้ำลายได้ด้วย

“น้ำลาย” เป็นของเหลวใสในช่องปาก พบได้ทั้งในคนและในสัตว์ ซึ่งในคนมีการสร้างและหลั่งน้ำลาย วันละประมาณ 1-1.5 ลิตร ส่วนใหญ่ได้จากต่อมน้ำลายหลัก 3 คู่ คือ ต่อมน้ำลายใต้หู ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร และต่อมน้ำลายใต้ลิ้น ส่วนน้อยมาจากต่อมเล็ก ๆที่กระจายอยู่ในเยื่อบุช่องปากและคอหอย ต่อมน้ำลายใต้หูสร้างน้ำลายชนิดใส ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกรและต่อมน้ำลายใต้ลิ้นสร้างทั้งชนิดใสและเหนียวข้น ซึ่งต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกรสร้างชนิดใสมากกว่าเหนียวข้น ส่วนต่อมน้ำลายใต้ลิ้นสร้างชนิดเหนียวข้นเป็นส่วนใหญ่ น้ำลายชนิดใสมีเอนไซม์แอลฟ่าอะไมเลสสำหรับย่อยแป้ง และน้ำลายชนิดข้นมีเมือกเพื่อช่วยหล่อลื่นอาหาร

น้ำลายมีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อน (pH ประมาณ 6.5-7.0) ประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ (99.5%) น้ำลายมีหน้าที่หลัก 2 ประการ คือ ย่อยอาหารและปกป้องอันตรายที่อาจเกิดภายในปาก ในน้ำลายมีเอนไซม์แอลฟาอะไมเลส ช่วยย่อยอาหารคาร์โบไฮเดรต มีเมือกช่วยหล่อลื่นอาหารเพื่อสะดวกในการกลืนและป้องกันการระคายเคืองจากอาหาร มีไบคาร์บอเนตอิออน (HCO3-) ทำหน้าที่สะเทินสภาพกรดจากอาหารและแบคทีเรีย จึงช่วยป้องกันฟันผุ น้ำลายประกอบด้วยน้ำจำนวนมาก ทำให้ปากชุ่มชื้นเสมอ นอกจากนี้ น้ำลายช่วยในการรับรส โดยช่วยละลายสารอาหารต่าง ๆ เพื่อสามารถกระตุ้นการทำงานของเซลล์รับรส

นิ่วในต่อมน้ำลายหรือท่อน้ำลาย เกิดจากการสะสมขององค์ประกอบทางเคมีในน้ำลาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแคลเซียม อาจเกี่ยวข้องกับการสร้างน้ำลายลดลงและ/หรือมีผนังท่อน้ำลายหนา แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

อย่างไรก็ตาม พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดนิ่วน้ำลาย ได้แก่ ภาวะขาดน้ำ การใช้ยาบางชนิด (ในกลุ่มยาต้านฮีสตามีน ยาลดความดันโลหิต ยาทางจิตเวช และยาควมคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ) ตลอดจนการกระทบกระแทกหรือการบาดเจ็บของต่อมน้ำลายก็มีผลเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วน้ำลายด้วย

เมื่อมีนิ่วในต่อมน้ำลายหรือท่อน้ำลาย หรือทั้งคู่ จะเกิดท่อน้ำลายอุดตัน ทำให้น้ำลายไหลเปิดสู่ช่องปากไม่ได้ซึ่งพบนิ่วของต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกรมากที่สุดในจำนวนต่อมน้ำลายหลักทั้งสามคู่นี้ ผู้ป่วยมักจะมาปรึกษาแพทย์ด้วยอาการของท่อน้ำลายอุดตัน คือมีอาการบวมใต้คาง เป็นๆหายๆ โดยเฉพาะเวลาที่จะกินอาหาร เนื่องจากน้ำลายที่ถูกสร้างไม่สามารถไหลออกมาได้ อาจมีอาการปวดร่วมด้วยเมื่อมีการคั่งของน้ำลายมากๆ รวมทั้งอาจมีภาวะแทรกซ้อนเมื่อมีการติดเชื้อ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบผนังท่อน้ำลาย และกลายเป็นฝีได

้ นิ่วในทางเดินน้ำลาย สามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้ โดยการดื่มน้ำมากๆ รักษาความสะอาดในช่องปากและฟัน กรณีมีปัญหา ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก เมื่อพบนิ่วขนาดเล็กในท่อน้ำลายส่วนปลาย การรักษาในขั้นตอนแรก หากมีการอักเสบ ให้ใช้ยาลดการอักเสบก่อน เมื่อการอักเสบลดลง เยื่อบุผนังท่อน้ำลายยุบบวม ท่อทางเดินน้ำลายจะกว้างขึ้นมาอยู่ในระดับปกติ และให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวเพื่อรักษาตนเอง โดยดื่มน้ำมากๆ ให้อมวิตามินซีหรือรับประทานของเปรี้ยวเพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำลาย และให้ประคบบริเวณคางที่บวมด้วยน้ำอุ่นพร้อมกับใช้มือรีดแก้มและคางจากบริเวณด้านข้างลงตามแนวแก้ม เพื่อกระตุ้นให้น้ำลายไหลสู่ช่องปากมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีนิ่วหลุดออกมาได้ แต่กรณีนิ่วไม่หลุดออกมาหรือนิ่วขนาดใหญ่ สามารถรักษาด้วยการผ่าตัด โดยคีบก้อนนิ่วออก รวมทั้งเปิดปากทางออกของท่อน้ำลายให้กว้างขึ้น หรืออาจผ่าตัดเอาต่อมน้ำลายข้างที่เป็นนิ่วออก

เอกสารอ้างอิง

  1. สุจิตรา ทองประดิษฐ์โชติ. ระบบทางเดินอาหาร. กทม: ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2555.
  2. Jardim EC et al. Sialolithiasis of the submandibular gland. J Craniofac Surg. 2011 May;22(3):1128-31.
  3. Ellies M and Laskawi R. Diseases of the salivary glands in infants and adolescents. Head Face Med. 2010 Feb 15;6:1.

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.