Knowledge Article


น้ำมันมะพร้าวรักษาโรค อัลไซม์เมอร์ (Alzheimer ) ได้จริงหรือ


รองศาสตราจารย์วัลลา ตั้งรักษาสัตย์
ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
72,810 View,
Since 2012-08-12
Last active: 1h ago

Scan to read on mobile device
 
A - | A +
น้ำมันมะพร้าว (Coconut oil) ซึ่งสกัดจากเนื้อ (Kernel) ของมะพร้าว (Cocos nucifera) ได้รับความสนใจและมีการแนะนำให้นำมาใช้การรักษาโรคอัลไซม์เมอร์ ในน้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันสายปานกลาง (Medium chain triglycerideds, MCTs ) ซึ่งมีจำนวนคาร์บอน 8-12 อะตอมได้แก่กรดลอริก ( C=12) กรดคาปริก (C=10) กรดคาไพรลิก(C=10) และกรดคาโปรอิก (C=8) รวมกันประมาณ 62.5 % ไขมันซึ่งมีกรดไขมันสายปานกลางเมื่อเข้าสู่ร่างกายสามารถเข้าสู่ตับได้โดยตรงไม่ต้องอาศัยน้ำดีในการย่อย
โดยทั่วไปร่างกายได้รับพลังงานจากกลูโคส เมื่อกลูโคสลดลงเช่นในกรณีขาดอาหารหรืออดอาหาร ตับจะสร้าง ketone bodies ซึ่งได้แก่ acetoacetate beta-hydroxybutyrate และacetone จากไขมันที่ร่างกายสะสมไว้เพื่อเป็นแหล่งพลังงานแทน
ในผู้ที่เป็นโรคอัลไซม์เมอร์นั้นการเผาผลาญกลูโคสลดลงจึงมีผลต่อการทำงานของสมอง มีผู้เสนอให้ใช้น้ำมันมะพร้าวซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างคีโตนเพื่อเป็นแหล่งพลังงานของสมองและกล่าวว่าผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมสามารถใช้คีโตนได้ดีกว่ากลูโคส ซึ่งทฤษฎีนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนักในหมู่แพทย์ที่รักษาโรคอัลไซม์เมอร์และนักวิจัย
การทำให้เกิดภาวะคีโตซิสในร่างกายนั้นสามารถทำได้โดยการให้อาหารที่เรียกว่า Ketogenic diet ซึ่งเป็นอาหารที่มีไขมันสูง คาร์โบไฮเดรตและโปรตีนต่ำ เพื่อให้ร่างกายใช้ไขมันเป็นแหล่งพลังงานหลักเพื่อทำให้เกิดการสร้างคีโตนขึ้น มีการใช้อาหารนี้ในการรักษาโรคลมชักมาเป็นระยะเวลานานโดยเฉพาะในเด็กที่ไม่ค่อยตอบสนองต่อการใช้ยาและต่อมาพบว่าการใช้ MCTs oil แทนไขมันที่ใช้ตามปกติจะทำให้การดูดซึมเร็วกว่า และทำให้อาหารมีรสชาติดีกว่า เกิดภาวะคีโตซิสได้เร็วกว่าสามารถป้องกันการชักได้
มีรายงานการศึกษาถึงผลของการใช้ Ketogenic diet ในผู้สูงอายุที่เป็นโรคอัลไซม์เมอร์และมีความจำเสื่อมเล็กน้อยจำนวน 23 คน เป็นเวลา 6 สัปดาห์ โดยให้อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำซึ่งจะทำให้มีระดับคีโตนเพิ่มขึ้น พบว่าทำให้ผู้ป่วยมีความจำดีขึ้นกว่าอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง และอีกการศึกษาหนึ่งเป็นการศึกษาทางคลินิกเบื้องต้นในผู้ป่วยอัลไซม์เมอร์หรือผู้ป่วยความจำเสื่อมอย่างอ่อนจำนวน 20 คน โดยให้ดื่มเครื่องดื่ม MCTs เมื่อทดสอบความจำพบว่าผู้ป่วยมีความจำบางอย่างดีขึ้นและพบว่ามีระดับ beta-hydroxybutyrate สูงขึ้นอย่างเฉียบพลันภายใน 90 นาที หลังการศึกษาทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะผู้ป่วยจำนวน 9 คนที่ไม่มี apolipoprotein E เท่านั้น
ปัจจุบันมีอาหารทางการแพทย์ (Medical food) ที่ชื่อว่า Axona® มีสารสำคัญคือกรดคาไพรลิกซึ่งเป็นกรดไขมันสายปานกลาง มีการศึกษาทางคลินิกโดยใช้ชื่อว่า Ketasyn [AC-1202] โดยทำการศึกษาในผู้ป่วยอัลไซม์เมอร์อย่างอ่อนและปานกลาง จำนวน 152 คน เป็นเวลา 90 วัน แบบ randomized double-blind ใน phase 2 โดยให้ Axona® วันละ10-20 กรัมหรือยาหลอก ในวันที่ 45 ทางผู้ผลิตรายงานว่าผู้ป่วยที่ได้รับ Axona® สามารถทำแบบทดสอบความจำได้ดีกว่า และในวันที่ 90 และหลังจากหยุดให้ Axona® แล้วคือในวันที่ 104 พบว่าผู้ป่วยที่ไม่มี apolipoprotein E gene และได้รับ Axona® มีความจำดีกว่าผู้ที่ได้รับยาหลอก ทั้งสองครั้ง แต่อย่างไรก็ตามทางผู้ผลิตไม่ได้ทำการศึกษาต่อใน phase 3 ซึ่งต้องทำในผู้ป่วยอัลไซม์เมอร์จำนวนมากขึ้นจึงจะสามารถผ่านการอนุมัติขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาให้ขึ้นทะเบียนเป็นยาได้ ดังนั้นจึงยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปได้ว่าอาหารทางการแพทย์ Axona® ใช้รักษาโรคอัลไซม์เมอร์ได้
สำหรับการใช้น้ำมันมะพร้าวในการรักษาโรคอัลไซม์เมอร์นั้น ยังไม่พบว่ามีรายงานการวิจัยหรือบทความตีพิมพ์ที่กล่าวถึงการศึกษาทางคลินิกที่ประเมินได้ว่าสามารถใช้รักษาโรคอัลไซม์เมอร์ จึงน่าจะมีการส่งเสริมให้มีการวิจัยทางคลินิกที่นำน้ำมันมะพร้าวมาใช้ในการรักษาโรคอัลไซม์เมอร์โดยตรงเพื่อจะได้ทราบถึงปริมาณที่เหมาะสมและปลอดภัยรวมถึงผลข้างเคียงต่างๆที่อาจเกิดขึ้นกับระบบทางเดินอาหารหรือปริมาณไขมันในเลือด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ป่วยและเป็นแนวทางใหม่ในการรักษาโรคอัลไซม์เมอร์ต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Alzheimer’s Association. Alternative treatments. http//www. alz.org/alzheimers_disease_alternative_treatments.asp Accessed August 1, 2012.
  2. Henderson ST, Vogel JL, Barr LJ, Garvin F, Jones JJ, Costantini LC. Study of the ketogenic agent AC-1202 in mild to moderate Alzheimer’s disease: a randomized, double-blind, placebo-controlled, multicenter trial. Nutr Metab(Lond). 2009;6:1.
  3. Krause MV. Mahan LK. Nutritional care in disease of the nervous system and behavioral disorders. In : Krause MV. Mahan LK, eds. Food, nutrition and diet therapy 7th ed. Philadelphia : WB Saunders ; 1984.
  4. Krikorian R, shidler MD, Dangelo K, Couch SC, Benoit Sc, Clegg DJ. Dietary Ketosis enhances memory in mild cognitive impairment. Neurobiol Aging. 2012; 33:425.e19-27
  5. Reger MA, Henderson ST, Hale C, et al. Effects of beta-hydroxybutyrate on cognition in memory-impaired adults. Neurobiol Aging.2004;25:311-314. Abstract
  6. Scott GN. Is coconut oil effective for treating Alzheimer disease?
    http://as.webmd.com/viewarticle/764495?src=emailthis. Accessed July 30, 2012.
Others articles

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

Public Knowledge Articles



View all articles
-->

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

Faculty of Pharmacy, Mahidol University.

447 Sri-Ayuthaya Road, Rajathevi, Bangkok 10400, THAILAND
Designed & Developed by Department of Information Technology, Faculty of Pharmacy, Mahidol University.
Copyright © 2013-2020
 

We use Cookies

This site uses cookies to personalise your experience and analyse site traffic. By Clicking ACCEPT or continuing to browse the site you are agreeing to our use of cookies.