หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ญาติผู้ใหญ่ผมถูกวินิจฉัยเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ปกติแล้วใช้เคมีบำบัดกลุ่มใด มีอาการข้างเคียงใดที่โดดเด่นสำหรับเคมีบำบัดที่รักษาโรคนี้/ ควรแนะนำประเด็นใดเป็นพิเศษบ้าง เช่น อาหาร การปรับพฤติกรรม การออกกำลังกาย / มีพฤติกรรมเสี่ยงใดที่ควรหลีกเลี่ยง

ถามโดย NC เผยแพร่ตั้งแต่ 05/08/2023-10:04:47 -- 15,606 views
 

คำตอบ

การรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ หรือ bladder cancer มักอาศัยการผ่าตัด และอาจพิจารณาใช้ยา รวมถึงการหาทางออกให้ปัสสาวะใหม่ ขึ้นกับความเสี่ยงต่อการกลับเป็นซ้ำหรือการลุกลามของมะเร็งไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ซึ่งกลุ่มยาที่ใช้รักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะอาจประกอบด้วยยาเคมีบำบัด เช่น methotrexate, gemcitabine, carboplatin, vinblastine, doxorubicin, cisplatin, fluorouracil หรือยาภูมิคุ้มกันบำบัด เช่น avelumab, nivolumab และ pembrolizumab หรือรังสีรักษา โดยชนิดยา จำนวนยาในสูตรการรักษา และขนาดยา จะมีความหลากลายและอาจขึ้นกับปัจจัยของผู้ป่วย เช่น ระยะของโรคมะเร็ง ความพร้อมต่อการรับการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะหรืออวัยวะอื่น ๆ ที่มีการลุกลาม โรคประจำตัว ค่าการทำงานของไตหรือตับ รวมไปถึงสิทธิในการรักษา ตัวอย่างชนิดยาที่มีใช้ในการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ผลข้างเคียงจากการได้รับยาเคมีบำบัดพบได้หลากหลายชนิด เช่น อ่อนเพลีย ผมร่วง ผื่น ท้องผูก ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เป็นแผลในปาก ชาหรือปวดปลายประสาทที่มือ-เท้า โลหิตจาง เลือดออกง่ายและอาจมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งยาเคมีบำบัดแต่ละชนิดก่อให้เกิดผลข้างเคียงมากน้อยแตกต่างกันไป และมักสัมพันธ์กับขนาดที่ใช้ สำหรับการปฏิบัติตัวนั้น ผู้ป่วยยังสามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุก และครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีนที่มีผลต่อการฟื้นฟูของร่างกาย สำหรับผักผลไม้ ควรปอกเปลือกและล้างให้สะอาด ดื่มน้ำให้เพียงพอ เลี่ยงอาหารหมักดอง และในช่วงได้รับการรักษาหรือมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ควรงดกินผักสด ผลไม้เปลือกบางที่กินทั้งเปลือก เช่น องุ่น ชมพู่ การออกกำลังกายเบา ๆ สามารถทำได้ แต่ควรได้รับการพิจารณาจากแพทย์ก่อนเสมอโดยเฉพาะภายหลังการผ่าตัด รวมถึงหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แอดอัดหรือเสี่ยงพบเจอผู้ป่วยโรคติดเชื้อต่าง ๆ ในช่วงที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ อย่างไรก็ตาม ยังมีการปฏิบัติตัวที่จำเพาะเพิ่มเติม เช่น หากมีการเปลี่ยนทางเดินปัสสาวะใหม่และตัดเอาบางส่วนของลำไส้มาดัดแปลงเป็นกระเพาะปัสสาวะแทนที่ อาจต้องดูแลเรื่องถุงปัสสาวะซึ่งมีรายละเอียดที่ต้องให้ความสนใจเช่นกัน ดังนั้นเมื่อแผนการรักษามีความชัดเจน และทราบถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับตัวผู้ป่วย แพทย์ เภสัชกร และพยาบาลที่รับผิดชอบการรักษาจะเป็นผู้อธิบายรายละเอียดที่จำเพาะและจำเป็นสำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแลอีกครั้ง

Reference:
Bladder cancer. National cancer institute [internet]. 2023. [cited 21/08/2023]. Available from: https://www.cancer.gov/types/bladder

กินอย่างไรเมื่อเป็นมะเร็ง. บทความ. ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. มหาวิทยาลัยมหิดล [internet]. 2022. [cited 26/08/2023]. Available from: https://www.gj.mahidol.ac.th/main/knowledge-2/cancer-and-eating/

Chemotherapy for Bladder Cancer. American Cancer Society [internet]. 2023. [cited 26/08/2023]. Available from: cancer.org/cancer/types/bladder-cancer/treating/chemotherapy.html

พัชรินทร์ ไชยสุรินทร์. การดูแลผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะหลังผ่าตัดเปลี่ยนช่องทางขับถ่ายปัสสาวะ. คณะพยาบาลศาสตร์. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ [internet]. 2012. [cited 26/08/2023]. Available from: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/7399/6389

Keywords:
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ, การรักษามะเร็ง





มะเร็ง

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้