หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ทานวิตามินซีมากก่อให้เกิดอันตรายหรือเปล่า และมีผลกระทบถึงไตหรือไม่คะ และเฮโมวิตมากๆมีผลกระทบหรือเปล่าคะ

ถามโดย ทัศ เผยแพร่ตั้งแต่ 29/04/2021-20:18:41 -- 18,430 views
 

คำตอบ

วิตามินซีเป็นวิตามินที่ละลายได้ในน้ำจึงขับออกทางปัสสาวะ ไม่สะสมในร่างกาย อย่างไรก็ตามการรับประทานวิตามินซีอาจมีผลกระทบต่อการขับสารอื่นออกทางปัสสาวะได้ นอกจากนี้วิตามินซีถูกเปลี่ยนเป็นกรดออกซาลิก (oxalic acid) และสารออกซาเลต (oxalate) ซึ่งขับออกทางปัสสาวะ การรับประทานวิตามินซีปริมาณมากและเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการสะสมสารออกซาเลตที่ไตจนเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไต นอกจากนี้การรับประทานวิตามินซีอาจทำให้อาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ เช่น คลื่นไส้ ปวดเกร็งในช่องท้อง และท้องเสีย สำหรับเฮโมวิต เป็นยาที่ประกอบไปด้วยสารเหล็กในรูปเฟอรัสซัลเฟต (ferrous sulfate) หรือเฟอรัสฟูมาเรต (ferrous fumarate), วิตามินบี 1, วิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 จากการสืบค้นข้อมูลยังไม่พบรายงานเกี่ยวกับการเกิดอาการพิษจากการรับประทานยาดังกล่าว แต่อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เเสบท้อง ท้องผูก เมื่อพิจารณาส่วนประกอบและปริมาณของตัวยาในตำรับแล้ว กรณีที่เป็นพวกวิตามินบีซึ่งละลายได้ในน้ำหากรับประทานตามขนาดที่แนะนำในเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ ไม่น่าจะเกิดการสะสมยาจนเกิดอาการพิษ ส่วนสารเหล็กซึ่งรับประทานเพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็กหรือเพื่อรักษาผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก หากรับประทานตามขนาดที่แนะนำยังไม่พบรายงานการเกิดความเป็นพิษของยาแม้ใช้เป็นเวลานานหลายเดือนสำหรับรักษาภาวะโลหิตจาง อย่างไรก็ตามไม่ควรรับประทานวิตามินซีร่วมกับยาที่มีสารเหล็ก เพราะอาจส่งเสริมให้เกิดภาวะเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน (oxidative stress) ซึ่งการรับประทานร่วมกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการอักเสบในทางเดินอาหารและผลอื่น ๆ จากภาวะดังกล่าว

Reference:
1. Thomas LDK, Elinder C-G, Tiselius H-G, Wolk A, Åkesson A. Ascorbic acid supplements and kidney stone incidence among men: a prospective study. JAMA Intern Med 2013;173(5):386-8.
2. Pazirandeh S, Burns DL. Overview of water-soluble vitamins. In: Basow DS, ed. Up-to-Date [database on the Internet]. Waltham (MA): UpToDate; 2021 . https://www.uptodate.com/contents/overview-of-water-soluble-vitamins?search=pyridoxine%20toxicity&source=search_result&selectedTitle=2~148&usage_type=default&display_rank=1#H43
3. Fisher AE, Naughton DP. Iron supplements: the quick fix with long-term consequences. Nutr J 2004. doi:10.1186/1475-2891-3-2

Keywords:
วิตามินซี, นิ่วในไต, เฟอรัสซัลเฟต, เฟอรัสฟูมาเรต, วิตามินบี 1, วิตามินบี 6 และวิตามินบี 12





วิตามินและอาหารเสริม

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้