หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาก่อนอาหารและยาหลังอาหารต่างกันยังไงครับ ช่วยอธิบายอย่างละเอียดหน่อยครับ

ถามโดย ต้อง เผยแพร่ตั้งแต่ 25/03/2010-09:28:26 -- 5,481 views
 

คำตอบ

ความสัมพันธ์ของเวลาในการรับประทานยากับเวลาในการรับประทานอาหารมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาและประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ประเภทของยาที่แบ่งตามเวลาของการรับประทานอาหาร อาจแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ 1. ยาที่ต้องรับประทานก่อนอาหาร ยาที่ต้องรับประทานก่อนอาหาร จะต้องเริ่มรับประทานก่อนมื้ออาหารประมาณ 30-60 นาที โดยมีเป้าหมาย เพื่อ - ไม่ต้องการให้ยาพบกับอาหารในกระเพาะอาหาร เนื่องจากยาเหล่านี้จะถูกดูดซึมได้น้อยลงเมื่อเจอกับอาหารในกระเพาะอาหาร หรือยาถูกทำลายได้โดยกรดในกระเพาะอาหาร (ตามปกติ เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปร่างกายจะหลั่งกรดออกมาเป็นจำนวนมาก หากรับประทานยาตอนที่มีอาหารอยู่จะทำให้ยาอาจถูกทำลายได้นั่นเอง) ในกรณีที่ลืมรับประทานยาประเภทนี้อาจต้องรอให้กระเพาะอาหารว่างเสียก่อน (โดยมากมักต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วหลังจากรับประทานอาหารไปแล้ว) จึงจะรับประทานยาที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ได้ - ต้องการให้ยาเริ่มออกฤทธิ์ตอนหลังอาหาร เช่น ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดกลุ่ม sulfonylurea ต้องรับประทานประมาณ 30 นาที เพื่อให้ยาสามารถออกฤทธิ์ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตั้งแต่ช่วงหลังจากรับประทานอาหารเป็นต้นไป หากลืมรับประทานยาในกลุ่มลดระดับน้ำตาลในเลือด ไม่ควรรอรับประทานยาหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจนเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ 2. ยาที่ต้องรับประทานหลังอาหาร ยาที่ต้องรับประทานหลังอาหารมีเป้าหมายเพื่อต้องการให้ยาพบกับอาหารในกระเพาะอาหาร โดยจะต้องรับประทานยาหลังจากมื้ออาหารทันทีหรือไม่เกิน 2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารไปแล้ว ยาที่ต้องรับประทานหลังอาหารมักมีคุณสมบัติ เช่น - ยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้เพิ่มขึ้นเมื่อเจอกับอาหารในกระเพาะอาหาร เช่น ketoconazole , cefditoren pivoxil เป็นต้น ซึ่งการรับประทานพร้อมอาหารจะช่วยลดขนาดการใช้ยาลงได้ ทำให้ความเสี่ยงในการได้รับผลข้างเคียงจากยาลดลง - ยามีผลระคายเคืองกระเพาะอาหาร เช่น ยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช้สเตียรอยด์ (NSAIDs) หรือยาทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ เช่น ยาปฏิชีวนะ erythromycin เป็นต้น 3. ยาที่สามารถรับประทานช่วงใดก็ได้ การดูดซึมของยาประเภทนี้มักจะไม่ขึ้นอยู่กับว่ามีอาหารหรือไม่มี ยามีความคงตัวต่อกรดในกระเพาะอาหารได้ดี หรือยาไม่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองกระเพาะอาหารหรือก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ ทำให้สามารถรับประทานยาเวลาไหนก็ได้ อย่างไรก็ดีในบางครั้งการเลือกเวลาให้ยาประเภทนี้อาจอาศัยเวลาจากการให้ยาอื่นๆ ด้วย เช่น ถ้ายาอื่นให้ก่อนอาหาร ก็อาจให้ยาประเภทนี้ก่อนอาหารด้วยเลย เพื่อให้เกิดความสะดวกในการใช้ยา 4. ยาที่กำหนดเวลาหรืออาหารเฉพาะ เช่น รับประทานพร้อมอาหารคำแรก ห้ามรับประทานพร้อมนม ห้ามรับประทานพร้อมอาหารที่มีโปรตีนสูง ห้ามรับประทานพร้อมอาหารหมักดอง ซึ่งข้อกำหนดเฉพาะเหล่านี้จะขึ้นกับคุณสมบัติและวัตถุประสงค์ของยาแต่ละชนิด เช่น ยาลดน้ำตาลในเลือด ชื่อ acarbose ให้รับประทานพร้อมอาหารคำแรก เพื่อยับยั้งการสลายตัวของอาหารจำพวกแป้งไปเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว หรือการรับประทานยา warfarin ต้องระวังปริมาณผักใบเขียวที่รับประทาน เพราะผักใบเขียวมีวิตามินเคซึ่งจะต้านฤทธิ์ของ warfarin ในการป้องกันการเกิดลิ่มเลือด เป็นต้น การศึกษาข้อมูลของยาก่อนใช้ยาจะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์กำหนดเวลาของการรับประทานยาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพและลดผลข้างเคียงจากยาที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้ป่วยได้

Reference:
1. ธิดา นิงสานนท์, สุวัฒนา จุฬาวัฒนทล, ปรีชา มณทกานติกุล, บรรณาธิการ. การบริหารยาเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย. กรุงเทพมหานคร; สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย); 2552:98-106.

Keywords:
-





อื่นๆ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้