หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาน้ำของเด็กหลังจากเปิดใช้แล้วสามารถเก็บได้นานเท่าไรเช่นflemex syrup

ถามโดย milk เผยแพร่ตั้งแต่ 18/03/2010-22:37:18 -- 132,211 views
 

คำตอบ

ยาเสื่อมสภาพอาจส่งผลเสียที่รุนแรงต่อผู้ที่รับประทานได้ การเก็บรักษายาอย่างเหมาะสมจะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง ข้อควรปฏิบัติในการเก็บรักษายา - อ่านสลากยาให้ครบถ้วน รวมทั้งคำแนะนำการเก็บรักษายา - กรณียาทั่วไป ที่ไม่ระบุการเก็บรักษาเป็นพิเศษ ให้เก็บยาที่อุณหภูมิห้องบริเวณที่ไม่ร้อน และ ไม่มีแสงแดดส่อง ห้ามทิ้งยา ไว้ในรถยนต์ เพราะ เมื่อจอดกลางแดด แม้เพียงไม่นานอุณหภูมิในรถจะร้อนมาก ทำให้ยาเสื่อมได้ง่าย และ ควรเก็บในที่ที่เด็กหยิบยาเองไม่ได้ - กรณียาที่ระบุว่าให้ เก็บยาไว้ในตู้เย็น ห้ามแช่แข็ง หมายถึงให้เก็บในตู้เย็นช่องปกติ ไม่ควรเก็บที่ชั้นใกล้ช่องแช่แข็ง เพราะ มีความเย็นจัดจนทำให้เป็นน้ำแข็งและเกิดการตกตะกอนได้ นอกจากนี้ไม่ควรเก็บยาที่ประตูตู้เย็น เพราะอุณหภูมิอาจไม่เย็นพอ จากการที่มีการเปิด - ปิด ประตูตู้เย็น บ่อยๆ - ยาที่บรรจุ ในขวดสีชา หมายถึงยาที่ต้องป้องกันไม่ให้ถูกแสง ไม่ควรเปลี่ยนภาชนะบรรจุยา ไปเป็นแบบใสหรือ ขาว เพราะจะทำให้ยาเสื่อมได้ - ยาที่ต้องระมัดระวังเรื่องความชื้นควรใส่สารกันชื้น (มักเห็นเป็นซองเล็กๆ ภายในมีเม็ดกันชื้นอยู่สอดอยู่ในขวดยา) ไว้ตลอดเวลา และ ปิดภาชนะบรรจุให้แน่น - ควรเก็บยาไว้ในภาชนะบรรจุเดิมซึ่งมีสลากระบุชื่อยาและ วันที่ได้รับยานั้น จะทำให้สามารถพิจารณาระยะเวลาที่ควรเก็บยาที่เหลือนั้นได้ ระยะเวลาในการเก็บยาน้ำหลังเปิดใช้ - ในกรณีของยาปฏิชีวนะที่ต้องผสมน้ำนั้น เมื่อผสมผงยากับน้ำไปแล้วสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 7 วัน ที่อุณหภูมิห้อง แต่ถ้าเก็บไว้ในตู้เย็นจะสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 14 วัน หากเก็บนานกว่านี้อาจจะทำให้ประสิทธิภาพลดลงจนรักษาไม่ได้ผล - ในกรณีของยาน้ำโดยทั่วไปนั้นไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 6 เดือน หรือ ไม่เกิน 25% ของเวลาก่อนที่ยาจะถึงวันหมดอายุที่ระบุไว้ในฉลากผลิตภัณฑ์ (อันใดอันหนึ่งโดยเลือกวันที่มาถึงก่อน) เช่น เปิดใช้ยาวันที่ 31 มีนาคม 2553 ฉลากบ่งบอกว่ายาหมดอายุ 30 พฤศจิกายน 2553 (เหลือเวลาประมาณ 8 เดือน) ดังนั้นเมื่อเปิดใช้ยาไปแล้ว 2 เดือน ควรทิ้งยานั้นไปเลย) อย่างไรก็ดี ทุกครั้งก่อนใช้ยาควรสังเกตลักษณะของผลิตภันฑ์ เช่น เขย่าแรงๆแล้วยังไม่เป็นเนื้อเดียวกันหรือไม่กระจายตัว รวมถึงสังเกต สี กลิ่น ตะกอน ความขุ่น-ใส ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ด้วย หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นควรทิ้งยาเหล่านั้นไป และหากไม่แน่ใจก็ควรทิ้งยานั้นไปด้วยเช่นกัน จะทำให้เกิดความปลอดภัยมากกว่าครับ “ การสำรวจวันหมดอายุของยาในตู้ยาและตู้เย็นอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับผลข้างเคียงจากยาเสื่อมสภาพได้ ”

Reference:
1. Trissel LA. Trissel’s Stability of Compounded Formulations.Washington DC: American Pharmacists Association; 2005. p. 453-4.

2. การเก็บรักษายา [Online]. [cited 2010 Mar 22]. Available from: URL: http://pharmasakhon.org/pages/5865/.

3. นัยนา สันติยานนท์.ความคงตัวของเภสัชภัณฑ์และการเก็บรักษา. Thai Pharm Health Sci J 2008;3(1):180-187.

Keywords:
-





อื่นๆ

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้