หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Community-Acquired Pneumonia: Following Treatment Guidelines Results in Better Outcomes

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน กรกฎาคม ปี 2553 -- อ่านแล้ว 11,395 ครั้ง
 
โรคปอดอักเสบชุมชน (community-acquired pneumonia) เป็นโรคติดเชื้อที่มีความรุนแรง ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับยาต้านจุลชีพที่เหมาะสม ในปัจจุบันได้มีแนวทางการรักษาที่กำหนดให้เป็นมาตรฐานสำหรับการรักษาโรคปอดอักเสบชุมชนโดยเฉพาะ แต่แนวทางการรักษาดังกล่าวยังไม่ได้มีการประเมินผลทางคลินิกที่ได้รับจากการรักษาตามที่ได้แนะนำ



McCabe และคณะได้ทำการรวบรวมการศึกษาที่เป็น observational study ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดอักเสบชุมชนจำนวน 54,620 ราย โดยผลลัพธ์จากการศึกษาได้แก่ การประเมินระยะเวลาที่ต้องอยู่โรงพยาบาล (length of hospital stay) และการเสียชีวิต (mortality) ซึ่งผู้ป่วยร้อยละ 65 จะได้รับยาต้านจุลชีพตามที่กำหนดจากแนวทางการรักษา ในขณะที่ร้อยละ 35 ไม่ได้การรักษาดังกล่าว ในการประเมินผลลัพธ์ได้มีการตัดปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการศึกษา (confounding factor) เช่น ความรุนแรงของโรค (disease severity) ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าการใช้ยาต้านจุลชีพตามแนวทางการรักษาสามารถลดอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลลงได้อย่างมีนัยสำคัญ (odd ratio, 0.70) และลดระยะเวลาที่ต้องอยู่โรงพยาบาลลง 0.6 วัน ส่วนผลลัพธ์รองของการศึกษาคือ ภาวะติดเชื้อ (sepsis) ไตวาย (renal failure) และระยะเวลาของการได้รับยาต้านจุลชีพในรูปแบบยาฉีด ซึ่งจากผลทั้งหมดพบว่ากลุ่มที่ได้รับยาต้านจุลชีพตามที่กำหนดจากแนวทางการรักษาจะมีผลดังกล่าวลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้การรักษา ดังนั้นจากการศึกษาที่รวบรวมนี้จึงเป็นการสนับสนุนให้ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคปอดอักเสบชุมชนให้ทำการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพตามที่กำหนดจากแนวทางการรักษาที่เป็นมาตรฐาน



จากการศึกษาล่าสุดที่ได้มีการรวบรวมนี้ พบว่าให้ผลเช่นเดียวกับการศึกษาก่อนหน้าที่ได้มีการรวบรวมข้อมูลการใช้ยาต้านจุลชีพในผู้ป่วยโรคปอดอักเสบชุมชน แม้ว่าการศึกษาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพในการรักษาปอดอักเสบชุมชนจะเป็นการศึกษาแบบ observational study แต่ผลที่ได้นั้นก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติได้ อย่างไรก็ตามมีหลายเหตุผลที่ทำให้ผู้ป่วยบางส่วนไม่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพตามที่กำหนดจากแนวทางการรักษา ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากผู้ป่วยมีปัจจัย หรือสภาวะอื่นที่นอกเหนือจากผู้ป่วยในการศึกษาร่วมด้วย หรืออาจเกิดจากความพร้อมในการรักษาของสถานพยาบาล กล่าวโดยสรุปสำหรับแนวทางการใช้ยาต้านจุลชีพในการรักษาโรคปอดอักเสบชุมชนอาจเริ่มจากการให้การรักษาที่มีการกำหนดให้เป็นมาตรฐาน และการสั่งใช้ยาต้องคำนึงให้มีความเหมาะสมทั้งทางประสิทธิภาพ และความปลอดภัยต่อผู้ป่วยเป็นสำคัญ

สำหรับคำแนะนำของการใช้ยาต้านจุลชีพตามที่กำหนดจากแนวทางการรักษา ได้แก่



1. ผู้ป่วยนอกที่ไม่มีโรค หรือปัจจัยเสี่ยงใดๆ ที่จะส่งเสริมให้ผู้ป่วยเกิดโรคแทรกซ้อนร่วมด้วย แนะนำการให้ยาต้านจุลชีพกลุ่ม macrolides



2. ผู้ป่วยนอกที่มีภาวะ chronic cardiopulmonary, renal หรือ metabolic comorbidities, substance abuse หรือ immunosuppression แนะนำการให้ยาต้านจุลชีพกลุ่ม flouoroquinolones หรือ beta-lactams ร่วมกับ macrolides



3. ผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาในโรงพยาบาล แนะนำการให้ยาต้านจุลชีพกลุ่ม flouoroquinolones หรือ beta-lactams ร่วมกับ macrolides



4. ผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวในหน่วยอภิบาล (intensive care unit; ICU) แนะนำการให้ยาต้านจุลชีพกลุ่ม beta-lactams ร่วมกับ quinolones หรือ beta-lactams ร่วมกับ azithromycin



การรักษาตามคำแนะนำนี้ ได้มีข้อยกเว้นในบางกรณี เช่น ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้ออื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ Pseudomonas, Legionella หรือ methicillin-resistant ซึ่งต้องการการรักษาที่เฉพาะสำหรับเชื้อแต่ละชนิดต่อไป

 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้