ยากลุ่ม cholinesterase inhibitors มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในผู้ป่วย dementia
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน มิถุนายน ปี 2552 -- อ่านแล้ว 6,140 ครั้ง
ยากลุ่ม cholinesterase inhibitors ซึ่งใช้ในผู้ป่วยสูงอายุที่มีภาวะ dementia นั้นพบว่ามีผลข้างเคียงคือ ทำให้หัวใจเต้นช้าและหมดสติซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยต้องใส่เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจและยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักจากการพลัดตก หกล้ม อีกด้วย โดยอ้างอิงจากข้อมูลการศึกษาแบบ cohort จากผู้เข้าร่วมการศึกษาที่ประเทศแคนาดาซึ่งรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ เดือนเมษายน 2545 ถึงเดือน มีนาคม 2547 ข้อมูลประกอบด้วยผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่ม cholinesterase inhibitors จำนวน 19,803 คน และผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยากลุ่ม cholinesterase inhibitors จำนวน 61,499 คน ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่ม cholinesterase inhibitors มีอาการหมดสติจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบ่อยกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยากลุ่มนี้ ร้อยละ 70 (31.5 vs 18.6 events per 1000 person-years; adjusted hazard ratio [HR], 1.76; 95% confidence interval [CI], 1.57 - 1.98) โดยเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นได้แก่ การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากมีภาวะหัวใจเต้นช้า (6.9 vs 4.4 events per 1000 person-years; HR, 1.69; 95% CI, 1.32 - 2.15), การได้รับการใส่เครื่องกระตุ้นการทำงานของหัวใจ (4.7 vs 3.3 events per 1000 person-years; HR, 1.49; 95% CI, 1.12 - 2.00) และการเกิดกระดูกสะโพกหัก (22.4 vs 19.8 events per 1000 person-years; HR, 1.18; 95% CI, 1.04 - 1.34) สำหรับข้อจำกัดของการศึกษานี้ได้แก่ เป็นการศึกษาแบบย้อนหลัง, การศึกษาปัจจัยเสี่ยงในการหมดสติในผู้ป่วยจำนวนมาก, การที่ไม่สามารถเปรียบเทียบการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยแต่ละคนรวมทั้งไม่สามารถหาความสัมพันธ์ระหว่างขนาดยากับผลการรักษาได้, ไม่มีการประเมินการบาดเจ็บจากการพลัดตก หกล้มนอกจากภาวะกระดูกสะโพกหักและการคัดผู้ป่วยที่เคยมีประวัติการหมดสติออก (exclusion criteria) ดังนั้นจึงยังคงต้องการข้อมูลการศึกษาแบบ RCTs เกี่ยวกับการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยสูงอายุที่มีภาวะ dementia เพิ่มเติมในอนาคต