วิตามิน อี หรือ วิตามิน ซี ไม่ช่วยให้ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากหรือมะเร็งชนิดอื่นๆ ลดลง
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน ธันวาคม ปี 2551 -- อ่านแล้ว 6,320 ครั้ง
ปัจจุบัน มีคนเป็นจำนวนมากที่รับประทานวิตามินเสริมชนิดต่างๆ โดยหวังว่าจะช่วยป้องกันการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง วิตามินที่มีการใช้อย่างแพร่หลายคือ วิตามิน อี และ ซี อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาระยะยาวในเพศชายวัยกลางคน กลับพบว่า การรับประทานวิตามิน อี (400 IU วันเว้นวัน) หรือวิตามิน ซี (500 mg ต่อวัน) ไม่ช่วยให้ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากหรือมะเร็งชนิดอื่นๆ ลดลงแต่อย่างใด
Physicians’ Health Study II Randomized Controlled Trial มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงประสิทธิภาพของวิตามิน อี, ซี, และวิตามินรวม ในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคตา(ที่สัมพันธ์กับอายุ) รวมถึงผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น การศึกษานี้เริ่มต้นในปี พ.ศ.2541 และสิ้นสุดลงเมื่อสิงหาคม พ.ศ.2551 (เฉพาะในส่วนของวิตามิน อี และ ซี) มีผู้เข้าร่วมในการศึกษาคือแพทย์ผู้ชาย ในประเทศสหรัฐอเมริกา อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 14,641 คน ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่มที่ได้รับวิตามิน อี 400 IU วันเว้นวัน (n=3,659) กลุ่มที่ได้รับวิตามิน ซี 500 mg วันละครั้ง (n=3,673) กลุ่มที่ได้รับวิตามินเสริมทั้งสองชนิด (n=3,656) และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (n=3,653)
จากการติดตามผลระยะยาวเป็นเวลา 8 ปี (117,711 person-years) ตรวจพบมะเร็งโดยรวมทุกชนิด 1,943 ราย แต่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก 1,008 ราย มีผู้เสียชีวิตระหว่างการศึกษา 1,661 ราย
ในกลุ่มที่ได้รับวิตามิน อี และยาหลอก อัตราการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก เท่ากับ 9.1 และ 9.5 [Hazard Ratio=0.97; 95%CI 0.85-1.09; P=.41] ส่วนอัตราการเกิดมะเร็งโดยรวมเท่ากับ 17.8 และ 17.3 ต่อ 1,000 person-years ตามลำดับ [Hazard Ratio=1.04; 95%CI 0.95-1.13; P=.41]
ในกลุ่มที่ได้รับวิตามิน ซี เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก พบว่า อัตราการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก เท่ากับ 9.4 และ 9.2 [Hazard Ratio=1.02; 95%CI 0.90-1.15; P=.80] ส่วนอัตราการเกิดมะเร็งโดยรวมเท่ากับ 17.6 และ 17.5 ต่อ 1,000 person-years ตามลำดับ [Hazard Ratio=1.01; 95%CI 0.92-1.10; P=.86]
นอกจากนี้ ยังพบว่าการรับประทานวิตามิน อี หรือ ซี ไม่เกี่ยวข้องกันกับการเกิดมะเร็งเฉพาะที่ (site-specific cancers) เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งปอด และไม่มีผลต่ออาการข้างเคียงต่างๆ เช่น minor bleeding, GI symptoms, fatigue, drowsiness อย่างมีนัยสำคัญ