Dexamethasone ช่วยลดการใช้ opioids ในเด็กที่เข้ารับการผ่าตัดต่อมทอนซิล
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน มกราคม ปี 2568 -- อ่านแล้ว 194 ครั้ง
Tonsillectomy หรือการผ่าตัดต่อมทอนซิล หมายถึง การผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลทั้งหมดออก โดยอาจรวมไปถึงการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ด้วยหรือไม่ก็ได้ การผ่าตัดต่อมทอนซิลเป็นหนึ่งในการผ่าตัดที่พบได้บ่อยที่สุดจากการผ่าตัดในเด็กทั่วโลก โดยในแคนาดามีจำนวนถึง 40,000 เคสทุกปี ซึ่ง codeine, morphine และ opioids อื่น ๆ เป็นยาระงับปวดที่ใช้บ่อยสำหรับบรรเทาปวดในเด็กที่ได้รับการผ่าตัดต่อมทอนซิล อย่างไรก็ตามยาระงับปวดกลุ่ม opioids เหล่านี้สามารถก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงได้ เช่น ออกซิเจนในเลือดต่ำ หรือภาวะกลั้นหายใจ จึงมีการนำยาอื่นมาใช้เป็นทางเลือกเพื่อลดปริมาณการใช้ opioids และลดโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง หนึ่งในยาที่นำมาใช้ คือ dexamethasone ซึ่งเป็น corticosteroids ที่มีข้อมูลว่าสามารถลดอาการปวด ลดอาเจียน ลดการบวมของทางเดินหายใจหลังการผ่าตัดต่อมทอนซิล อย่างไรก็ตามยังไม่มีีผลการศึกษาเชิงปริมาณอย่างชัดเจนว่าการใช้ dexamethasone ช่วยลดการใช้ opioids ได้หรือไม่
ล่าสุดมีการศึกษา แบบ meta-analysis ซึ่งรวบรวมการศึกษาแบบ randomized controlled trials ที่ทำการทดลองในเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ที่มีการใช้ dexamethasone ในช่วง 0.15-1.0 mg/kg (มีการศึกษา 1 ชิ้นรายงานว่าให้ยาขนาด 8 mg/m2) และได้รับยาระงับปวดสำหรับการผ่าตัดต่อมทอนซิลมี primary outcomes คือ ปริมาณการใช้ opioid ในระหว่างการผ่าตัด (ผลรวมของการใช้ fentanyl, morphine, tramadol, pethidine และ codeine) ส่วน secondary outcomes คือ อุบัติการณ์การเกิดภาวะเลือดออก และการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ (perioperative respiratory adverse events: PRAEs) ระหว่างผ่าตัด ผลการศึกษาพบว่าการให้ dexamethasone หยดเข้าทางหลอดเลือดดำช่วยลดการใช้ opioids สำหรับการผ่าตัดต่อมทอนซิลในเด็กได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยปริมาณเฉลี่ยของ opioid ที่ลดลงเทียบเท่ากับ morphine ชนิดรับประทาน 0.11 mg/kg (95% CI=-0.22 ถึง -0.01) เมื่อพิจารณาภาวะเลือดออกหลังการผ่าตัด พบว่าการให้ dexamethasone ไม่เพิ่มอุบัติการณ์การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลซ้ำด้วยภาวะเลือดออก (RR=0.69; 95% CI=0.28 ถึง 1.67) และไม่เพิ่มอุบัติการณ์การเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินด้วยภาวะเลือดออก (RR=3.67; 95% CI=0.79 ถึง 17.14) โดยมีการศึกษาเพียงหนึ่งชิ้นที่รายงานว่าพบ PRAEs นอกจากนี้ยังพบว่าการให้ dexamethasone ช่วยลดการอาเจียนลงอย่างมีนัยสำคัญ (RR=0.32; 95% CI=0.21 ถึง 0.49) และลดความต้องการการใช้ยาต้านการอาเจียนภายใน 24 ชั่วโมง (RR=0.42; 95% CI= 0.25 ถึง 0.69) อย่างไรก็ตามแนะนำให้ใช้ dexamethasone ในขนาดอย่างน้อย 0.5 mg/kg จึงจะเป็นขนาดยาที่มีประสิทธิผล
เอกสารอ้างอิง
1. Baugh RF, Archer SM, Mitchell RB, Rosenfeld RM, Amin R, Burns JJ, et al. Clinical practice guideline: tonsillectomy in children. Otolaryngology–head and neck surgery. 2011 Jan; 144(1_suppl):S1-30.
2. Niimi N, Sumie M, Englesakis M, Yang A, Olsen J, Cheng R, et al. Effects of dexamethasone on opioid consumption in pediatric tonsillectomy: a systematic review with meta-analysis. Canadian Journal of Anesthesia/Journal canadien d’anesthésie. 2024 Aug 27:1-3.
3. ชลทิชา ศรีภักดี, อาทิตย์ เสมอเชื้อ. การเตรียมผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนก่อนมารับการระงับความรู้สึกแบบทั่วตัวในการผ่าตัดที่ไม่เร่งด่วน. ธรรมศาสตร์เวชสาร. 2561; 18:117-124.
4. Hansen J, Shah RD, Benzon HA. Management of pediatric tonsillectomy pain: a review of the literature. Ambulatory Anesthesia. 2016 May 12:23-6.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
dexamethasone
opioids
การผ่าตัดต่อมทอนซิลในเด็ก
tonsillectomy