หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Fenfluramine ได้รับข้อบ่งใช้ในการรักษา Lennox-Gastaut Syndrome

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน เมษายน ปี 2566 -- อ่านแล้ว 1,189 ครั้ง
 
Lennox-Gastaut Syndrome (LGS) เป็นกลุ่มอาการลมชักที่มีความรุนแรงในเด็กช่วงอายุ 1-10 ปี ผู้ป่วยสามารถเกิดอาการชักได้หลายชนิด ได้แก่ แข็งเกร็ง (tonic seizure) ตัวอ่อน (atonic seizure หรือ drop seizure) เหม่อลอย (absence seizure) และสะดุ้ง (myoclonic seizure) ร่วมกับตรวจพบคลื่นไฟฟ้าสมองมีลักษณะผิดปกติ (diffuse slow spike-wave complex ความถี่น้อยกว่า 3 เฮิร์ต) และผู้ป่วยมักมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น พัฒนาการล่าช้าหรือทำให้พิการ ถือเป็นโรคลมชักที่รักษาได้ยาก

Fenfluramine เป็นยาที่ออกฤทธิ์จับกับ serotonin transporter (SERT) ที่บริเวณ presynaptic neuron ส่งผลยับยั้งการดูดกลับสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (serotonin; 5-HT) มีผลเพิ่มปริมาณ 5-HT นอกเซลล์ จนทำให้มี 5-HT จับกับ receptor ชนิดต่าง ๆ ได้แก่ 5-HT1D, 5-HT2A, 5-HT2C, 5-HT4 และ 5-HT7 ที่บริเวณ postsynaptic neuron มากขึ้น ส่งผลเพิ่มการส่งสัญญาณของ gamma-aminobutyric acid (GABA) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่มีผลยับยั้งการทำงานของเซลล์ประสาทที่ทำให้เกิดอาการชัก

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (European Medicines Agency; EMA) ได้อนุมัติข้อบ่งใช้ fenfluramine (Fintepla®) สำหรับเป็น adjunctive therapy ในลมชักชนิด LGS ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป การได้รับอนุมัติข้อบ่งใช้ของ fenfluramine ในครั้งนี้ อ้างอิงจากการศึกษาแบบ double-blind, placebo-controlled, parallel-group, phase 3 randomized controlled trial ที่ตีพิมพ์ใน JAMA Neurology ซึ่งพบว่าการใช้ fenfluramine มีประสิทธิภาพในการลดความถี่ของการเกิดลมชักชนิด drop seizure อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับยาหลอกในคนไข้ที่มีอายุ 2-35 ปี ที่มีการชักมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ในช่วง 4 สัปดาห์ จากจุดเริ่มต้น โดยศึกษาในผู้ป่วยทั้งหมด 263 ราย แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับ fenfluramine 0.7 mg/kg/day จำนวน 87 ราย กลุ่มที่ได้รับ fenfluramine 0.2 mg/kg/day จำนวน 89 ราย และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก จำนวน 87 ราย ประเมินประสิทธิผลของยาจาก primary endpoint คือ ร้อยละความถี่ของ drop seizure ลดลงจากค่าเริ่มต้น จากระยะการศึกษา 20 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่ได้รับ fenfluramine 0.7 mg/kg/day มีความถี่ของการชักลดลงร้อยละ 26.5 กลุ่มที่ได้รับ fenfluramine 0.2 mg/kg/day ลดลงร้อยละ 14.2 เทียบกับกลุ่มยาหลอก ซึ่งลดลงร้อยละ 7.6 ทำให้กลุ่มที่ได้รับ fenfluramine 0.7 mg/kg/day มีความถี่ในการชักน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกคิดเป็นร้อยละ 19.9 (95%CI, −31.0 to −8.7%; P=.001) ทั้งนี้อาการไม่พึงประสงค์ที่พบมากกว่าร้อยละ 10 ในการศึกษา ได้แก่ ความอยากอาหารลดลง ง่วงซึม อ่อนเพลีย ไข้ ท้องเสีย และอาเจียน

เอกสารอ้างอิง

1. Knupp KG, Scheffer IE, Ceulemans B, et al. Efficacy and Safety of Fenfluramine for the Treatment of Seizures Associated with Lennox-Gastaut Syndrome: A Randomized Clinical Trial. JAMA Neurol. 2022; 79(6):554-564.

2. Samanta D. Fenfluramine: A Review of Pharmacology, Clinical Efficacy, and Safety in Epilepsy. Children (Basel). 2022; 9(8):1159.

3. Sourbron J, Lagae L. Serotonin receptors in epilepsy: Novel treatment targets?. Epilepsia Open. 2022; 7(2):231-246.




คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
fenfluramine Lennox-Gastaut Syndrome seizure drop seizure
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้