Abaloparatide…หนึ่งในยารักษาโรคกระดูกพรุนสำหรับผู้ชาย
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน มีนาคม ปี 2566 -- อ่านแล้ว 1,168 ครั้ง
กระดูกพรุนเป็นโรคที่พบบ่อยในหญิงหมดประจำเดือน ส่วนผู้ชายที่กระดูกพรุนจนต้องได้รับการรักษามีน้อยกว่าผู้หญิง ทำให้มีีข้อมูลจากการศึกษาส่วนน้อยเท่านั้นที่มีผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นเพศชาย ส่งผลให้้ในปัจจุบันมียาที่ได้รับข้อบ่งใช้อย่างเป็นทางการสำหรับรักษาโรคกระดูกพรุนในเพศชายเพียงไม่กี่ชนิด ได้แก่ ยายับยั้งการสลายกระดูก (anti-resorptive drugs) กลุ่ม bisphosphonates (alendronate, risedronate, zoledronic acid) และกลุ่ม RANKL inhibitors (denosumab) ส่วนกลุ่มที่ออกฤทธิ์เสริมสร้างกระดูก (anabolic drugs) ที่ได้รับข้อบ่งใช้ในเพศชาย ได้แก่ recombinant human parathyroid hormone related protein analog (teriparatide) จนล่าสุดเมื่อ 19 ธันวาคม 2022 ยาในกลุ่มเดียวกับ teriparatide อีกหนึ่งชนิด ได้แก่ abaloparatide ่ได้รับอนุมัติโดย US FDA ให้ใช้รักษากระดูกพรุนในเพศชายเช่นกัน ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2017 ยานี้ได้รับข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคกระดูกพรุนในหญิงหมดประจำเดือนเพียงอย่างเดียว[1],[2]
Abaloparatide เป็นยาที่มีโครงสร้างเป็นสายโปรตีนคล้ายฮอร์โมนพาราไทรอยด์ แต่มีการเปลี่ยนแปลงลำดับกรดอะมิโนบางส่วนให้จำเพาะกับการออกฤทธิ์ที่กระดูกมากขึ้น[1] ซึ่งข้อบ่งใช้ในเพศชายนี้อ้างอิงจากการศึกษา phase 3, randomized, double blind, placebo controlled trial ที่ทำในผู้ชายซึ่งมีความหนาเเน่นของกระดูก (bone mineral density: BMD) ที่รายงานเป็นค่า T-scores จากการวัดที่กระดูกสันหลังส่วนเอว (lumbar spine) กระดูกสะโพก (total hip) หรือ กระดูกโคนขาส่วนคอ (femoral neck) ระหว่าง -3.5 ถึง -2.5 หรือ T-scores น้อยกว่า -1.5 ร่วมกับมีกระดูกสันหลังหักที่ตรวจพบโดยการถ่ายภาพกระดูกสันหลัง (radiologic vertebral fracture) หรือมีประวัติบาดเจ็บเล็กน้อยบริเวณกระดูกส่วนอื่นที่ไม่ใช่กระดูกสันหลังใน 5 ปีที่ผ่านมา หรือ T-scores น้อยกว่า -2.0 ในผู้อายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งหมด 228 ราย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้รับ abaloparatide ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 80 mcg วันละครั้ง จำนวน 149 ราย และกลุ่มที่ 2 ได้รับยาหลอกฉีดเข้าใต้ผิวหนัง วันละครั้ง จำนวน 79 ราย ผู้ป่วยในการศึกษานี้อายุเฉลี่ย 68.3 ปี (40-85 ปี) เมื่อวัดผลที่ 12 เดือน พบว่ากลุ่มที่ได้รับยา abaloparatide มีความหนาเเน่นของกระดูกเพิ่มขึ้นจาก baseline 8.5%, 2.1%, 3.0% ที่ lumbar spine, total hip, femoral neck ตามลำดับ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก สำหรับด้านความปลอดภัยพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในกลุ่มที่ได้รับ abaloparatide ได้แก่ บริเวณที่ฉีดบวม แดง 12.8% คอหอยอักเสบ (nasopharyngitis) 8.7% มึนงง 8.7% ปวดข้อ (arthragia) 6.7% ปวดศีรษะ 5.4% เป็นต้น และมีผู้เสียชีวิตจาก non-hodgkin’s lymphoma หลังจากได้รับยาครั้งสุดท้าย 94 วัน[2]
เอกสารอ้างอิง
1. ข่าวยา. Abaloparatide…ยารักษาโรคกระดูกพรุนชนิดใหม่. [Internet]. [cited 2023 Jan 23]. Available from: https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1443
2. Czerwinski E, Cadona J, Plebanski R, Recknor C, Vokes T, Saag KG. The Efficacy and Safety of Abaloparatide-SC in Men With Osteoporosis: A Randomized Clinical Trial. Journal of Bone and Mineral Research. 2022; 37(12):2435-42.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
abaloparatide
parathyroid hormone related protein analog
PTHrP
osteoporosis
men
bone mineral density
BMD