เอสโตรเจนในยาคุมกำเนิดและภาวะอ้วนเกินหรือโรคอ้วน (obesity) ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด คนที่มีภาวะอ้วนเกินจำนวนไม่น้อยยังคงมีการคุมกำเนิดด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีเอสโตรเจน ซึ่งยาเม็ดคุมกำเนิดที่ใช้กันมากนั้นเป็นชนิดฮอร์โมนรวมที่มีฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจนผสมกับฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน เมื่อราวกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมามีการเผยแพร่บทความชนิดรวบรวมข้อมูล (narrative review) ที่แสดงถึงการเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (venous thromboembolism) ในผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์คุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (ไม่ว่าจะเป็นยาเม็ดคุมกำเนิดหรือผลิตภัณฑ์คุมกำเนิดรูปแบบอื่น) เทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้, ความเสี่ยงในคนอ้วนทั่วไปที่ไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ฮอร์โมนคุมกำเนิดเทียบกับผู้ที่ไม่อ้วน และความเสี่ยงในคนอ้วนที่ใช้ผลิตภัณฑ์คุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมเทียบกับผู้ที่ไม่อ้วนและไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งจากข้อมูลที่รวบรวมมานั้นพบว่าการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมซึ่งมีฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจนเป็น ethinylestradiol ผสมกับฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน (มีหลายชนิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่าย) เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำชนิด deep venous thrombosis ราว 3-6 เท่าเทียบกับผู้ที่ไม่ใช้ (ดูตาราง) หากเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดแผ่นแปะผิวหนัง (transdermal patch) และชนิดวงแหวนช่องคลอด (vaginal ring) พบความเสี่ยงดังกล่าวเพิ่มขึ้นราว 8 เท่าและ 6.5 เท่า ตามลำดับ หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีโพรเจสตินอย่างเดียวไม่เพิ่มความเสี่ยง ส่วนคนอ้วนทั่วไปที่ไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ฮอร์โมนคุมกำเนิดเมื่อเทียบกับคนที่ไม่อ้วนและไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ฮอร์โมนคุมกำเนิดเช่นกัน พบความเสี่ยงต่อ deep venous thrombosis เพิ่มขึ้น 2.5 เท่าหากคิดทุกช่วงอายุ และเพิ่มขึ้น 5.2 เท่าในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี และความเสี่ยงต่อ pulmonary embolism เพิ่มขึ้น 2.1 เท่าหากคิดทุกช่วงอายุ และเพิ่มขึ้น 5.2 เท่าในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี และความเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำในผู้ที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดเพิ่มตามค่าดัชนีมวลกาย (body mass index; BMI) ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่อ้วน (BMI<25kg/m
2) และไม่ได้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ซึ่งบางการศึกษาพบความเสี่ยงเพิ่มได้สูงถึง 12-24 เท่าในคนอ้วน (BMI>25kg/m
2)
อ้างอิงจาก:
(1) Rosano GMC, Rodriguez-Martinez MA, Spoletini I, Regidor PA. Obesity and contraceptive use: impact on cardiovascular risk. ESC Heart Fail 2022. doi: 10.1002/ehf2.14104; (2) Brabaharan S, Veettil SK, Kaiser JE, Raja Rao VR, Wattanayingcharoenchai R, Maharajan M, et al. Association of hormonal contraceptive use with adverse health outcomes: an umbrella review of meta-analyses of randomized clinical trials and cohort studies. JAMA Netw Open 2022. doi: 10.1001/jamanetworkopen.2021.43730; (3) Weze KO, Obisesan OH, Dardari ZA, Cainzos-Achirica M, Dzaye O, Graham G, et al. The interplay of race/ethnicity and obesity on the incidence of venous thromboembolism. Am J Prev Med 2022;63(1):e11-e20.