หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Topiramate และ valproate เพิ่มความเสี่ยงต่อความผิดปกติในพัฒนาการด้านประสาท (neurodevelopmental disorders) ของเด็กที่สัมผัสยาช่วงก่อนคลอด

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน สิงหาคม ปี 2565 -- อ่านแล้ว 1,139 ครั้ง
 
Topiramate และ valproate เป็นยารักษาโรคลมชักและใช้ในการรักษาโรคอื่นด้วย เป็นที่ทราบกันแล้วว่าการใช้ยารักษาโรคลมชักหลายชนิดซึ่งรวมถึงยาที่กล่าวข้างต้นในช่วงตั้งครรภ์มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อ congenital malformations แต่ความเสี่ยงต่อความผิดปกติในพัฒนาการด้านประสาท (neurodevelopmental disorders) ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน เมื่อเร็ว ๆ นี้มีรายงานผลการศึกษาถึงการใช้ยารักษาโรคลมชักหลายชนิดในหญิงมีครรภ์ เป็นการศึกษาแบบ population-based cohort study ในกลุ่มประเทศนอร์ดิกหลายประเทศ (Denmark, Finland, Iceland, Norway และ Sweden) ในเด็กจำนวน 4,494,926 คน ที่มารดาได้รับหรือไม่ได้รับยารักษาโรคลมชักช่วงตั้งครรภ์กับการเกิด neurodevelopmental disorders โดยประเมินผลที่เด็กอายุ 8 ปี (เป็นค่ากลางของอายุ 4.0-12.1 ปี) พบว่าในเด็กที่มารดาไม่ได้ใช้ยารักษาโรคลมชักช่วงตั้งครรภ์จำนวน 21,634 คน มี 1.5% ที่พบอาการออทิสติก (autism spectrum disorder; ASD) และ 0.8% มีความบกพร่องด้านสติปัญญา (intellectual disability; ID) ในเด็กอายุเท่ากันที่มารดาเป็นโรคลมชักและช่วงตั้งครรภ์ได้รับการรักษาด้วย topiramate และ valproate แบบยาเดี่ยวพบ ASD ได้ 4.3% (HR=2.8; 95% CI=1.4-5.7) และ 2.7% (HR=2.4; 95% CI=1.7-3.3) ตามลำดับ และพบ ID ได้ 3.1% (HR=3.5; 95% CI= 1.4-8.6) และ 2.4% (HR=2.5; 95% CI=1.7-3.7) ตามลำดับ ค่า HR เพิ่มขึ้นตามขนาดยา นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้ยารักษาโรคลมชัก 2 ชนิดร่วมกัน ได้แก่ levetiracetam ร่วมกับ carbamazepine และ lamotrigine ร่วมกับ topiramate เพิ่มความเสี่ยงต่อ neurodevelopmental disorders ในเด็กที่มารดาได้รับยารักษาโรคลมชักช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งค่า 8-year cumulative incidence ของการใช้ levetiracetam ร่วมกับ carbamazepine เท่ากับ 5.7% (HR=3.5; 95% CI=1.5-8.2) และ lamotrigine ร่วมกับ topiramate เท่ากับ 7.5% (HR=2.4; 95% CI=1.1-4.9) แต่ความเสี่ยงต่อการเกิด neurodevelopmental disorders ไม่เพิ่มหากใช้ levetiracetam ร่วมกับ lamotrigine (8-year cumulative incidence เท่ากับ 1.6%; HR= 0.9; 95% CI=0.3-2.5) ส่วนยาอื่นที่ใช้แบบเดี่ยวพบการเพิ่มความเสี่ยงต่อ neurodevelopmental disorders ไม่แน่นอน ได้แก่ lamotrigine, levetiracetam, carbamazepine, oxcarbazepine, gapapentin, pregabalin, clonazepam และ phenobarbital การศึกษานี้ได้สรุปว่าช่วงก่อนคลอด (มารดาใช้ยาช่วงตั้งครรภ์) หากมีการสัมผัสยา topiramate และ valproate แบบยาเดี่ยว และการสัมผัสยารักษาโรคลมชักบางอย่างที่ใช้ร่วมกัน 2 ชนิด มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของ neurodevelopmental disorders

ในส่วนที่เกี่ยวข้อง topiramate นั้น ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หน่วยงานในสหราชอาณาจักรได้มีการทบทวนข้อมูลด้านความปลอดภัยของการใช้ topiramate ในช่วงตั้งครรภ์ (สำหรับ valproate ได้มีการทบทวนด้านความปลอดภัยไปบ้างแล้วก่อนหน้านี้) ในเบื้องต้นที่อยู่ระหว่างการทบทวนข้อมูลนี้ได้มีคำแนะนำไปยังบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ topiramate ว่าต้องมั่นใจว่าผู้ป่วยที่อาจตั้งครรภ์ได้นั้นมีการคุมกำเนิดด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงตลอดช่วงที่ใช้ยา พร้อมทั้งควรให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยถึงความเสี่ยงต่อ neurodevelopmental disorders เพิ่มเติมจากความเสี่ยงเดิมที่เกี่ยวกับ congenital malformations และการรบกวนการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ซึ่งทำให้ทารกที่คลอดออกมามีขนาดตัวเล็กและน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย

อ้างอิงจาก:

(1) Bjørk MH, Zoega H, Leinonen MK, Cohen JM, Dreier JW, Furu K, et al. Association of prenatal exposure to antiseizure medication with risk of autism and intellectual disability. JAMA Neurol 2022;79:672-81; (2) Topiramate (Topamax): start of safety review triggered by a study reporting an increased risk of neurodevelopmental disabilities in children with prenatal exposure. Article citation: Drug Safety Update volume 15, issue 12: July 2022:1.
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้