หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Mavacamten...cardiac myosin inhibitor ชนิดแรกที่ใช้รักษาโรคหัวใจชนิด obstructive hypertrophic cardiomyopathy

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน มิถุนายน ปี 2565 -- อ่านแล้ว 2,765 ครั้ง
 
โรคหัวใจชนิด obstructive hypertrophic cardiomyopathy (obstructive HCM) เป็นโรคเรื้อรังซึ่งกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้อุดกั้นการบีบไล่เลือดของหัวใจห้องล่าง ผู้ป่วยอ่อนล้า ร่างกายทรุดโทรม และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด atrial fibrillation, stroke, heart failure และ sudden cardiac death สาเหตุของ obstructive HCM ที่พบบ่อยเกิดจากการกลายพันธุ์ของโปรตีนกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งราว 50% มีปัจจัยเสี่ยงจากพันธุกรรม แม้จะพบผู้ป่วย obstructive HCM จำนวนไม่มาก แต่คาดว่ามีผู้ป่วยอีกไม่น้อยที่ยังไม่แสดงอาการ ในผู้ป่วยโรคดังกล่าวหากกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวมากเกินจะส่งผลกระทบต่อปริมาณเลือดที่สูบฉีดจากหัวใจห้องล่าง ยาที่ใช้รักษา obstructive HCM เช่น beta-blockers, non-dihydropyridine calcium channel blockers, disopyramide และเมื่อเร็ว ๆ นี้มียาชนิดใหม่ออกใช้แล้วในบางประเทศ คือ mavacamten ยานี้ออกฤทธิ์เป็น cardiac myosin inhibitor ช่วยลดการบีบตัวที่มากเกินของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอยู่ในสภาพที่คลายตัวช่วยลดอุดกั้นและช่วยให้หัวใจห้องล่างสูบฉีดเลือดได้ดีขึ้น ยา mavacamten ได้รับข้อบ่งใช้ในผู้ใหญ่เพื่อรักษา obstructive HCM ที่อาการอยู่ในขั้น New York Heart Association (NYHA) class II-III เพื่อให้หัวใจทำงานดีขึ้นและมีอาการของโรคลดลง ผลิตในรูปยาแคปซูล ความแรง 2.5, 5, 10 และ 15 มิลลิกรัม สำหรับรับประทานวันละ 1 ครั้ง ขนาดที่แนะนำคือเริ่มด้วย 5 มิลลิกรัม จากนั้นปรับขนาดยาตามอาการของโรคและการตอบสนองต่อการรักษา ไม่ใช้กับผู้ที่มี left ventricular ejection fraction (LVEF) <55%

การศึกษาทางคลินิกมาสนับสนุนข้อบ่งใช้ข้างต้นเป็นการศึกษาแบบ double-blind, randomized, placebo-controlled, multicenter, international, parallel-group trial ระยะที่ 3 ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่เป็น obstructive HCM จำนวน 251 คน อาการอยู่ในขั้น NYHA class II และ III ผู้ป่วยเหล่านี้มี LVEF ≥55% แบ่งผู้ป่วยแบบ 1:1 เพื่อให้ mavacamten ในขนาดเริ่มต้นด้วย 5 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง หรือให้ยาหลอก ปรับเพิ่มขนาดยาได้ตามการตอบสนองของผู้ป่วยและขนาดสูงสุดคือ 15 มิลลิกรัม ศึกษานาน 30 สัปดาห์ เมื่อประเมินผลด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มีค่าเหล่านี้ดีขึ้นจากค่าเริ่มต้น ได้แก่ venous oxygen tension (pVO2) ≥1.5 mL/kg/min ร่วมกับมี NYHA class ดีขึ้นไม่น้อยกว่า 1 ขั้น หรือมีค่าที่ดีขึ้นของ pVO2 ≥3.0 mL/kg/min ร่วมกับมี NYHA class ที่ไม่แย่ลง พบว่ากลุ่มที่ได้รับยามีจำนวนผู้ป่วย 37% เทียบกับ 17% ในกลุ่มยาหลอก (p=0.0005) นอกจากนี้ยังประเมินผล secondary endpoint โดยดูค่าการบีบไล่เลือดของหัวใจห้องล่างหลังออกกำลังกาย, ค่าการเปลี่ยนแปลงของ pVO2, จำนวนผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้น (ดูจาก NYHA class ดีขึ้น), ตลอดจนประเมินการทำงานของหัวใจด้วยแบบสอบถาม พบว่ากลุ่มที่ได้รับยาให้ผลดีกว่ากลุ่มยาหลอก (โดยมีค่า p=0.0006 หรือ p=0.0001 ซึ่งขึ้นกับสิ่งที่ประเมิน) ผลไม่พึงประสงค์ของยาที่พบบ่อยที่สุด (>5%) และพบมากกว่ายาหลอก ได้แก่ เวียนศีรษะ (27%) และอาการวูบหรือเป็นลม (6%)

อ้างอิงจาก:

(1) Camzyos (mavacamten) capsules for oral use. Reference ID: 4975922, revised: 04/2022. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2022/214998s000lbl.pdf; (2) Argirò A, Zampieri M, Berteotti M, Marchi A, Tassetti L, Zocchi C, et al. Emerging medical treatment for hypertrophic cardiomyopathy. J Clin Med 2021. doi: 10.3390/jcm10050951; (3) Masri A, Olivotto I. Cardiac myosin inhibitors as a novel treatment option for obstructive hypertrophic cardiomyopathy: addressing the core of the matter. J Am Heart Assoc 2022. doi: 10.1161/JAHA.121.024656.
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้