Tapinarof...aryl hydrocarbon receptor modulating agent ชนิดแรกสำหรับใช้ภายนอกเพื่อรักษาโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา (plaque psoriasis)
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน มิถุนายน ปี 2565 -- อ่านแล้ว 2,276 ครั้ง
Aryl hydrocarbon receptor (AhR) หรือ dioxin receptor เป็น ligand-dependent transcription factor ซึ่ง AhR signaling มีบทบาทในการควบคุมการแสดงออกของยีนใน immune cells และเซลล์ผิวหนัง การกระตุ้น AhR ทำให้เกิด downregulation ของ pro-infammatory cytokines รวมถึง interleukin-17 (IL-17 ซึ่งเป็น cytokine ที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาการตอบสนองของร่างกายทั้งการเกิดการอักเสบและการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน ทั้งยังเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะอักเสบเรื้อรังจากโรคภูมิต้านตนเอง) นอกจากนี้การกระตุ้น AhR ยังชักนำให้เกิดการสร้าง filaggrin และ loricrin ซึ่งเป็น skin barrier proteins จึงทำให้มีการเจริญของผิวหนังตามปกติ ได้มีการศึกษาถึงยาที่ออกฤทธิ์ต่อ AhR เพื่อใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินและ atopic dermatitis จนเมื่อเร็ว ๆ นี้ tapinarof ซึ่งออกฤทธิ์เป็น AhR agonist ได้รับข้อบ่งใช้สำหรับใช้ภายนอกเพื่อรักษาโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาในผู้ใหญ่ ยานี้ผลิตในรูปครีมความแรง 1% บรรจุหลอดละ 60 กรัม ใช้ทาบาง ๆ บริเวณรอยโรควันละ 1 ครั้ง
การศึกษาทางคลินิกที่มาสนับสนุนข้อบ่งใช้ข้างต้นเป็นการศึกษาแบบ multicenter, randomized, double-blind, vehicle-controlled trial จำนวน 2 การศึกษา ในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนารวม 1,025 คน แบ่งผู้ป่วยแบบ 2:1 เพื่อทายาครีม tapinarof วันละ 1 ครั้ง หรือทาครีมกระสาย (vehicle cream) เพื่อเป็นกลุ่มควบคุม ศึกษาเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ประเมินผลด้วย Physician’s Global Assessment (PGA) score ซึ่งมีระดับคะแนน 0 ถึง 4 และการรักษาถือว่าได้ผลหากมีระดับคะแนน 0 = clear หรือ 1 = almost clear หรือดีขึ้นจากค่าเริ่มต้นไม่น้อยกว่า 2 ระดับคะแนน ผลพบว่าในการศึกษาที่ 1 (n=510) กลุ่มที่ทายามีผู้ได้ผลในการรักษาสูงกว่ากลุ่มควบคุม 29% (95% CI= 22-36) และในการศึกษาที่ 2 (n=515) กลุ่มที่ทายามีผู้ได้ผลในการรักษาสูงกว่ากลุ่มควบคุม 34% (95% CI= 27-41) ผลไม่พึงประสงค์ของยาที่พบบ่อยที่สุด (≥1%) ได้แก่ รูขุมขนอักเสบ (folliculitis), ผิวหนังอักเสบตรงที่ทายา, ปวดศีรษะ, คัน, คอหอยส่วนจมูกอักเสบ (nasopharyngitis) และไข้หวัดใหญ่
อ้างอิงจาก:
(1) Vtama (tapinarof) cream, for topical use. Reference ID: 4986645, revised: 05/2022. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2022/215272s000lbl.pdf; (2) Furue M, Hashimoto-Hachiya A, Tsuji G. Aryl hydrocarbon receptor in atopic dermatitis and psoriasis. Int J Mol Sci 2019. doi: 10.3390/ijms20215424; (3) Bissonnette R, Stein Gold L, Rubenstein DS, Tallman AM, Armstrong A. Tapinarof in the treatment of psoriasis: a review of the unique mechanism of action of a novel therapeutic aryl hydrocarbon receptor-modulating agent. J Am Acad Dermatol 2021;84:1059-67.