หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Efgartigimod…neonatal Fc receptor blocker สำหรับรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิด myasthenia gravis

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2565 -- อ่านแล้ว 2,437 ครั้ง
 
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (myasthenia gravis) เป็นโรคภูมิต้านตนเองชนิดหนึ่ง เกิดเนื่องจากมีแอนติบอดีที่ต้านตนเอง (ส่วนใหญ่เป็น IgG1 และ IgG3) ไปยับยั้งหรือทำลาย nicotinic acetylcholine receptors (AChR) ที่ neuro-muscular junction จึงยับยั้งการส่งสัญญาณประสาทที่ไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้อทำงาน ในร่างกาย neonatal Fc receptor (FcRn) ซึ่งเป็น IgG Fc receptor มีบทบาทใน IgG recycling โดยช่วยยืดอายุ IgG (เมื่อจับกับ FcRn) ด้วยกระบวนการ transcytosis จึงลดการกำจัด IgG ที่เกิดขึ้นโดยไลโซโซม ทำให้ IgG อยู่ในเลือดนานขึ้น (ค่าครึ่งชีวิตยาวขึ้น) หากยับยั้งการจับระหว่าง IgG กับ FcRn จะลด IgG recycling ทำให้ IgG (ซึ่งรวมทั้ง AChR antibody) ในเลือดลดลง เมื่อเร็ว ๆ นี้มียาชนิดใหม่ คือ efgartigimod alfa (ชื่ออื่น: efgartigimod alfa-fcab) เป็น human IgG1 antibody fragment ที่จับกับ FcRn จึงยับยั้งการเกิด IgG recycling ทำให้ IgG ซึ่งรวมทั้ง AChR antibody ในเลือดลดลง efgartigimod alfa เป็นยาชนิดแรกในกลุ่ม neonatal Fc receptor blockers ใช้รักษา generalized myasthenia gravis ซึ่งมีกล้ามเนื้ออ่อนแรงเกิดที่ตา ใบหน้า แขน-ขา และกล้ามเนื้อที่อื่น ๆ ในผู้ใหญ่ที่ตรวจพบ AChR antibody ผลิตในรูปยาน้ำใสหรือออกเหลือบ สำหรับหยดเข้าหลอดเลือดดำ บรรจุในขวดยาฉีดสำหรับการใช้ครั้งเดียว มีตัวยา 400 มิลลิกรัม ปริมาตร 20 มิลลิลิตร ขนาดยาที่แนะนำคือ 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หยดเข้าหลอดเลือดดำนาน 1 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 120 กิโลกรัมขึ้นไปใช้ขนาดครั้งละ 1,200 มิลลิกรัม การให้ยารอบต่อไปขึ้นกับการประเมินผลทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยหากให้ยารอบต่อไปเร็วกว่า 50 วันนับจากวันเริ่มต้นการรักษารอบที่ผ่านมา

การศึกษาทางคลินิกที่มาสนับสนุนข้อบ่งใช้ข้างต้นเป็น multicenter, randomized, double-blind, placebo-controlled trial นาน 26 สัปดาห์ ในผู้ใหญ่ที่เป็น generalized myasthenia gravis และตรวจพบ AChR antibody จำนวน 167 คน อายุ 19-81 ปี (ค่ากลาง 46 ปี) ให้ยา efgartigimod alfa ขนาด 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หากมีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 120 กิโลกรัมขึ้นไปให้ 1,200 มิลลิกรัม (n=84) หรือให้ยาหลอก (n=83) ประเมินผลด้วย Myasthenia Gravis-Specific Activities of Daily Living scale (MG-ADL) ซึ่งคะแนนรวม 0-24 (คะแนนยิ่งสูงอาการยิ่งมาก) และผู้ที่ถือว่าให้การตอบสนองต่อการรักษา (MG-ADL responder) เมื่อ MG-ADL score ที่เป็นคะแนนรวมลดลงจากค่าเริ่มต้นของแต่ละรอบการรักษา (treatment cycle baseline) ไม่น้อยกว่า 2 คะแนน ติดต่อกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ โดยการลดลงครั้งแรกต้องเกิดไม่ล่าช้ากว่า 1 สัปดาห์หลังสิ้นสุดการให้ยาครั้งสุดท้ายของรอบการรักษา ผลการศึกษาพบว่าจำนวน MG-ADL responder ในรอบแรกของการรักษาในกลุ่มที่ได้รับยาเท่ากับ 67.7% เทียบกับ 29.7% ในกลุ่มยาหลอก (p <0.0001) นอกจากนี้ยังมีการประเมิน Quantitative Myasthenia Gravis (QMG) total score ซึ่งคะแนนรวม 0-39 (คะแนนยิ่งสูงอาการยิ่งมาก) และผู้ที่ถือว่าให้การตอบสนองต่อการรักษา (QMG responder) เมื่อ MG-ADL score ที่เป็นคะแนนรวมลดลงจากค่าเริ่มต้นของแต่ละรอบการรักษาไม่น้อยกว่า 3 คะแนน ติดต่อกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ โดยการลดลงครั้งแรกต้องเกิดไม่ล่าช้ากว่า 1 สัปดาห์หลังสิ้นสุดการให้ยาครั้งสุดท้ายของรอบการรักษา ผลการศึกษาพบว่าจำนวน QMG responder ในรอบแรกของการรักษาในกลุ่มที่ได้รับยาเท่ากับ 63.1% เทียบกับ 14.1% ในกลุ่มยาหลอก (p <0.0001) ผลไม่พึงประสงค์ของ efgartigimod ที่พบ (≥10%) ได้แก่ ติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ ปวดศีรษะและติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ

อ้างอิงจาก:

(1) Binu A, Kumar SS, Padma UD, Madhu K. Pathophysiological basis in the management of myasthenia gravis: a mini review. Inflammopharmacology 2022. doi: 10.1007/s10787-021-00905-9; (2) Guidon AC, Juel VC. Efgartigimod: a novel antibody depletion therapy in myasthenia gravis. Neurology 2019;92:1079-80; (3) Vyvgart (efgartigimod alfa-fcab) injection, for intravenous use. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4906646, revised: 12/2021. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2021/761195s000lbl.pdf
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.5 น้ำตาลตกจากยาเบาหวาน (Hypoglycemia from anti-diabetics)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้