หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Upadacitinib และ abrocitinib…JAK inhibitor สองชนิดแรกที่ใช้รักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis)

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2565 -- อ่านแล้ว 3,454 ครั้ง
 
Janus kinases (Janus-associated kinases หรือ JAKs) เป็นเอนไซม์ tyrosine kinase ซึ่งเอนไซม์ใน JAK family ชนิดที่ศึกษากันมากมี 4 ชนิด ได้แก่ JAK1, JAK2, JAK3 และ tyrosine kinase 2 (TYK2) เอนไซม์เหล่านี้จะเริ่มทำงานทันทีเมื่อไซโตไคน์ (cytokines) รวมทั้ง growth factors จับกับตัวรับตนเอง โดยเอนไซม์จะปลุกฤทธิ์โปรตีนสำคัญคือ signal transducers and activators of transcription (STAT) proteins ซึ่ง JAK-STAT pathway นี้มีบทบาทมากมายรวมถึงควบคุมการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน จึงมีบทบาทในโรคภูมิต้านตนเองที่มีการอักเสบร่วมด้วย เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) โรคลำไส้อักเสบ (inflammatory bowel disease) ตลอดจนโรคอื่น ๆ รวมถึงโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง JAKs (JAK inhibitors) หรือ “jakinibs” จึงมีศักยภาพในการนำมาใช้รักษาโรคต่าง ๆ หลายอย่าง

Upadacitinib เป็นยาที่ออกฤทธิ์เลือกยับยั้ง JAK1 มีใช้อยู่แล้วเพื่อรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ข้ออักเสบในโรคสะเก็ดเงิน และโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด (ankylosing spondylitis) ในแต่ละประเทศอาจได้รับข้อบ่งใช้ไม่ครบตามนี้ ผลิตในรูปยาเม็ดชนิดปลดปล่อยยานาน (extended-release tablets) ขนาด 15 และ 30 มิลลิกรัม (บางประเทศอาจมีเพียงความแรงเดียว) เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้รับข้อบ่งใช้เพิ่มเติมสำหรับรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในผู้ใหญ่และเด็กที่อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปที่โรคเป็นขั้นปานกลางถึงรุนแรงและรักษายาก ไม่สามารถควบคุมโรคได้เพียงพอแม้ใช้ systemic drugs รวมถึงยาพวก biologics หรือไม่อาจใช้ยาเหล่านั้นได้ ขนาดยาในผู้ที่อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปที่มีน้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 40 กิโลกรัม และผู้ใหญ่อายุต่ำกว่า 65 ปี เริ่มที่ 15 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง หากให้ผลไม่เพียงพออาจเพิ่มเป็น 30 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง ส่วนผู้ที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปใช้ขนาด 15 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง การที่ยานี้ได้รับอนุมัติในข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเนื่องจากมีการศึกษาในระยะที่ 3 แบบ randomized, double-blind, multicenter trial มาสนับสนุนจำนวน 3 การศึกษา ในผู้ป่วย 2,584 คน อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป (เด็ก 344 คน และผู้ใหญ่ 2,240 คน) ที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังระดับปานกลางถึงรุนแรง ใช้ยาภายนอกแล้วให้ผลการรักษาไม่เพียงพอ ให้ยาในขนาด 15 มิลลิกรัม, 30 มิลลิกรัม หรือยาหลอก รับประทานวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 16 สัปดาห์ ซึ่งในการศึกษาที่ 3 ผู้ป่วยทุกรายได้รับ topical corticosteroids ร่วมด้วยตลอด 16 สัปดาห์ ประเมินผลโดยดูรอยโรคและอาการในสัปดาห์ที่ 1, 4 และ 16 ด้วย validated Investigator’s Global Assessment score, Eczema Area and Severity Index score, Worst Pruritus Numerical Rating Scale (NRS) score และ Atopic Dermatitis Symptom Scale Skin Pain NRS score ผลการศึกษาพบว่ายาให้ผลดีกว่ายาหลอกในทุกการศึกษาโดยเริ่มเห็นผลตั้งแต่สัปดาห์แรก และยาขนาด 30 มิลลิกรัมให้ผลดีกว่าขนาด 15 มิลลิกรัม ส่วนผลไม่พึงประสงค์ที่พบ (≥1%) ได้แก่ ติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน, ติดเชื้อ herpes simplex, ติดเชื้อ herpes zoster, ไข้หวัดใหญ่หรือมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่, สิวขึ้น, รูขุมขนอักเสบ, มีไข้, ปวดศีรษะ, creatine phosphokinase ในเลือดเพิ่ม, ไอ, แพ้ยา, คลื่นไส้, ปวดท้อง, น้ำหนักตัวเพิ่ม, อ่อนล้า, เม็ดเลือดขาวน้อย และปวดกล้ามเนื้อ

Abrocitinib เป็นยาใหม่ที่มีจำหน่ายเมื่อไม่นานมานี้ ออกฤทธิ์เลือกยับยั้ง JAK1 ผลิตในรูปยาเม็ด ขนาด 50, 100 และ 200 มิลลิกรัม ได้รับข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในผู้ใหญ่ที่โรคเป็นขั้นปานกลางถึงรุนแรงและรักษายาก ไม่สามารถควบคุมโรคได้เพียงพอแม้ใช้ systemic drugs รวมถึงยาพวก biologics หรือไม่อาจใช้ยาเหล่านั้นได้ ขนาดที่แนะนำคือ 100 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง หากไม่ได้ผลให้เพิ่มเป็นขนาด 200 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง มีการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 มาสนับสนุนประสิทธิภาพของยา เป็น randomized, double-blind, placebo-controlled trial จำนวน 3 การศึกษา ศึกษาเป็นเวลานาน 12 สัปดาห์ มีผู้ป่วยทั้งหมด 1,373 คน อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป (แต่ยาไม่ได้รับอนุมัติให้ใช้กับเด็ก) เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังระดับปานกลางถึงรุนแรง ใช้ยาภายนอกแล้วให้ผลการรักษาไม่เพียงพอ หรือไม่อาจใช้ยาภายนอก หรือได้รับการรักษาด้วย systemic drugs รวมถึง dupilumab มาแล้ว ให้ยาในขนาด 100 มิลลิกรัม, 200 มิลลิกรัม หรือยาหลอก รับประทานวันละ 1 ครั้ง การศึกษาที่ 1 (n=387) และการศึกษาที่ 2 (n=391) มีเด็กรวมอยู่ด้วย เป็นการใช้ยาเดี่ยว ส่วนในการศึกษาที่ 3 (n=595) มีเฉพาะผู้ใหญ่และผู้ป่วยทุกรายได้รับ topical corticosteroids ร่วมด้วยตลอดการศึกษา ประเมินผลด้วย Eczema Area and Severity Index score และ Investigator Global Assessment score พบว่า abrocitinib ให้ผลดีกว่ายาหลอกในทุกการศึกษา โดยเห็นผลตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 และยาขนาด 200 มิลลิกรัมให้ผลดีกว่าขนาด 100 มิลลิกรัม ส่วนผลไม่พึงประสงค์ที่พบ (≥1%) ได้แก่ คอหอยส่วนจมูกอักเสบ, คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, เวียนศีรษะ, ติดเชื้อ herpes simplex, ติดเชื้อ herpes zoster, ไข้หวัดใหญ่, ติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ, สิวขึ้น, มีแผลพุพอง, contact dermatitis, creatinine phosphokinase ในเลือดเพิ่ม, อ่อนล้า, เจ็บคอ, ทางเดินอาหารอักเสบ, ปวดท้อง, ความดันโลหิตสูง และเกล็ดเลือดต่ำ

อ้างอิงจาก:

(1) Cartron AM, Nguyen TH, Roh YS, Kwatra MM, Kwatra SG. Janus kinase inhibitors for atopic dermatitis: a promising treatment modality. Clin Exp Dermatol 2021;46:820-4; (2) U.S. FDA Approves Rinvoq (upadacitinib) to treat adults and children 12 years and older with refractory, moderate to severe atopic dermatitis. https://news.abbvie.com/article_print.cfm?article_id=12394; (3) Rinvoq (upadacitinib) extended-release tablets, for oral use. Highlights of prescribing information, revised: 1/2022. https://www.rxabbvie.com/pdf/rinvoq_pi.pdf; (4) Cibinqo (abrocitinib) tablets, for oral use. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4920574, revised: 1/2022. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2022/213871s000lbl.pdf
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้