หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Trifarotene (retinoic acid receptor-γ agonist) และ clascoterone (androgen receptor inhibitor)…ยาทารักษาสิวชนิดใหม่

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน กันยายน ปี 2563 -- อ่านแล้ว 4,160 ครั้ง
 
สิว (acne vulgaris) พบได้บ่อยในวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว เกิดขึ้นบริเวณใบหน้าและหลัง ลักษณะที่เกิดขึ้น ได้แก่ เซลล์ชั้น stratum corneum หรือชั้นขี้ไคลในรูขุมขนแบ่งตัวมากเกิน (follicular hyperkeratinization), มีการสร้างไขผิวหนัง (sebum) มาก และเกิดการอักเสบจากแบคทีเรีย Cutibacterium acnes (เดิมชื่อ Propionibacterium acnes) ร่วมกับ inflammatory cytokines (เช่น IL-1β and IL-8) หากได้รับการรักษาที่รวดเร็วจะลดความรุนแรงของสิวและลดรอยโรคหลังสิวหาย มียาทาภายนอกหลายอย่างที่นำมาใช้ เช่น emollients, keratinolytics, ยาต้านแบคทีเรีย, ยากลุ่ม retinoids และเมื่อไม่นานมานี้มียารักษาสิวชนิดใหม่ออกวางจำหน่ายคือ trifarotene และ clascoterone เป็นยาสำหรับใช้ภายนอก

Trifarotene เป็น fourth-generation retinoid ออกฤทธิ์เป็น retinoic acid receptor-γ agonist กลไกในการรักษาสิวคาดว่าคล้ายยาอื่นในกลุ่ม retinoids โดยออกฤทธิ์ทำให้มี gene expression และการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้เกิดการแสดงฤทธิ์สลายสิวอุดตัน (comedolytic) ลดการอักเสบ และลดรอยดำ ผลิตออกจำหน่ายในรูปยาครีม ความแรง 0.005% บรรจุขวดแบบหัวกดขนาด 30, 45 และ 75 กรัม มีข้อบ่งใช้สำหรับทาภายนอกเพื่อรักษาสิวในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป ทายาบาง ๆ ที่หน้าและลำตัวตรงบริเวนที่เป็นสิววันละ 1 ครั้งในตอนเย็น มีการศึกษาที่สนับสนุนประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาจำนวน 2 การศึกษาซึ่งทำแบบเดียวกัน เป็นการศึกษาแบบ randomized, multicenter, parallel group, double-blind, vehicle-controlled trial มีผู้เข้าร่วมในการศึกษารวม 2,420 คน อายุตั้งแต่ 9 ปีขั้นไป ความรุนแรงของสิวอยู่ในระดับปานกลาง ทุกรายเป็นสิวที่หน้าและเกือบทุกราย (99%) มีสิวบริเวณลำตัวร่วมด้วย ทายา (n=1,214) หรือทากระสายยา (n=1,206) บาง ๆ ตรงบริเวณที่เป็นสิว วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่า trifarotene ให้ผลการรักษาดีกว่ากระสายยา ผลไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยที่สุดตรงบริเวณที่ทายา (≥1%) ได้แก่ ระคายผิว คัน และรอยไหม้แดด

Clascoterone (cortexolone 17α-propionate) มีโครงสร้างคล้าย dihydrotestosterone ซึ่งเป็นแอนโดรเจนที่กระตุ้นการสร้างไขผิวหนัง ยานี้ออกฤทธิ์เป็น androgen receptor inhibitor จึงลดการสร้างไขผิวหนัง ซึ่งยายับยั้งการสร้างไขผิวหนังที่ใช้อยู่ขณะนี้ล้วนเป็นยาชนิดรับประทาน (เช่น isotretinoin, spironolactone) clascoterone จึงเป็นยาที่ใช้ภายนอกชนิดแรกที่มีฤทธิ์ดังกล่าว ผลิตออกจำหน่ายในรูปยาครีมความแรง 1% บรรจุหลอดขนาด 60 กรัม มีข้อบ่งใช้สำหรับทาภายนอกเพื่อรักษาสิวในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ทายาบาง ๆ บริเวนที่เป็นสิววันละ 2 ครั้ง มีการศึกษาที่สนับสนุนประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาจำนวน 2 การศึกษาซึ่งทำแบบเดียวกัน เป็นการศึกษาแบบ multicenter, randomized, double-blind, vehicle-controlled clinical trial มีผู้เข้าร่วมในการศึกษารวม 1,421 คน อายุตั้งแต่ 12 ปีขั้นไป เป็นสิวที่หน้า มีทั้งสิวอักเสบ (papule, pustule และ nodule) และสิวอุดตัน (comedo ทั้ง blackhead และ whitehead) ความรุนแรงของสิวอยู่ในระดับปานกลางถึงรุนแรง ทายา (n=709) หรือทากระสายยา (n=712) บาง ๆ ตรงบริเวณที่เป็นสิว วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่า clascoterone ให้ผลการรักษาดีกว่ากระสายยา ผลไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุดตรงบริเวณที่ทายา (7-12%) ได้แก่ รอยแดง คัน ผิวเป็นขุย/ผิวแห้ง นอกจากนี้ยังพบผลไม่พึงประสงค์อื่นที่เกิดคล้ายกับการทากระสายยา (>3%) ได้แก่ บวม ปวดแสบ และแสบร้อน

อ้างอิงจาก:

(1) Aklief (trifarotene) cream, for topical use. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4501723, revised: 10/2019. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2019/211527s000lbl.pdf; (2) Scott LJ. Trifarotene: first approval. Drugs 2019;79:1905-9; (3) Winlevi (clascoterone) cream, for topical use. Highlights of prescribing information. Revised: 08/2020. https://www.cassiopea.com/wp-content/uploads/2020/08/WINLEVI-clascoterone-cream-prescribing-info-08-2020.pdf; (4) Zeichner J. Clascoterone: a novel topical anti-androgen for the treatment of acne. Practical Dermatology, October 2019. https://practicaldermatology.com/articles/2019-oct/clascoterone-a-novel-topical-anti-androgen-for-the-treatment-of-acne/pdf
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้