ยาในกลุ่ม vascular endothelial growth factor (VEGF) pathway inhibitors มีบทบาทมากในการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ตัวอย่างยา เช่น aflibercept, axitinib, bevacizumab, lenvatinib, pazopanib, regorafenib, sorafenib, sunitinib การเกิดหลอดเลือดแดงใหญ่หรือเอออร์ตาโป่งพอง (aortic aneurysm) และเอออร์ตาฉีก (aortic dissection) เป็นภาวะร้ายแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ในเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ยา VEGF pathway inhibitors บางชนิดได้ระบุถึงผลข้างเคียงของยาเกี่ยวกับเอออร์ตาฉีก การแตกของหลอดเลือดโป่งพอง (aneurysm rupture) หรือเอออร์ตาโป่งพองและฉีก ไว้แล้ว โดยผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้ระบุว่าปัจจัยเสี่ยงคือโรคความดันโลหิตสูง
เมื่อไม่นานมานี้ในยุโรปได้มีการทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดหลอดเลือดโป่งพองและเอออร์ตาฉีกในผู้ที่ใช้ยา VEGF pathway inhibitors ชนิดที่ออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย พบรายงานที่สงสัยว่าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนับถึงวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2018 มีจำนวน 660 รายงาน ความผิดปกติที่พบมาก ได้แก่ เอออร์ตาฉีก (n=163), หลอดเลือดโป่งพอง (n=146), หลอดเลือดจอตาโป่งพอง (n=93), เอออร์ตาโป่งพอง (n=89), การแตกของเอออร์ตาโป่งพอง (n=43), หลอดเลือดในสมองโป่งพอง (n=34) และการแตกของหลอดเลือดโป่งพอง (n=31) ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการแตกของเอออร์ตาโป่งพองและเอออร์ตาฉีก ซึ่งการเกิดออร์ตาโป่งพองและเอออร์ตาฉีกพบมากในผู้ที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตามเป็นการยากที่จะระบุความถี่ที่แน่ชัดของความผิดปกติเหล่านี้ การเกิดเอออร์ตาฉีกและหลอดเลือดโป่งพองอาจอยู่ในช่วงราว 0.02-0.15% ส่วนปัจจัยเสี่ยงในผู้ป่วยเหล่านี้เท่าที่มีข้อมูลพบว่าเกือบครึ่งหนึ่ง (49%) คือโรคความดันโลหิตสูง ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคโคเลสเตอรอลในเลือดสูงหรือโรคไขมันในเลือดสูง การมีประวัติของเอออร์ตาโป่งพอง โรคหัวใจและหลอดเลือด และการสูบบุหรี่
ผลจากการทบทวนข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ทำให้เมื่อเร็ว ๆ นี้ในสหราชอาณาจักรได้ให้ข้อมูลและข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้ VEGF pathway inhibitors ชนิดที่ออกฤทธิ์ทั่วร่างกายไปยังบุคลากรทางการแพทย์ดังนี้
การใช้ VEGF pathway inhibitors อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดโป่งพองและเอออร์ตาฉีก ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีหรือไม่มีโรคความดันโลหิตสูง
หลอดเลือดโป่งพองและเอออร์ตาฉีกพบไม่บ่อย แต่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นก่อนเริ่มการรักษาด้วย VEGF pathway inhibitors ควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดโป่งพองและเอออร์ตาฉีก ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคความดันโลหิตสูง การมีประวัติของเอออร์ตาโป่งพอง การสูบบุหรี่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองหรือบริเวณอื่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ตลอดจนปัจจัยเสี่ยงอื่น ได้แก่ Marfan syndrome, vascular Ehlers-Danlos syndrome, Takayasu arteritis, giant cell arteritis, Behcet’s disease และการใช้ fluoroquinolones (ดูข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง
Fluoroquinolones กับความเสี่ยงต่อเอออร์ตาโป่งพอง (aortic aneurysm) และฉีก)
ผู้ที่ได้รับยาในกลุ่ม VEGF pathway inhibitors ควรลดปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่สามารถทำได้ลงให้มากที่สุด เช่นโรคความดันโลหิตสูงและการสูบบุหรี่ และควรติดตามผลการรักษาโรคความดันโลหิตสูงของผู้ป่วย
อ้างอิงจาก:
(1) Systemically administered VEGF pathway inhibitors: risk of aneurysm and artery dissection. Drug Safety Update volume 13, issue 12: July 2020; (2) Spigset O. Drug-induced aortic aneurysms, ruptures and dissections. https://www.intechopen.com/books/etiology-pathogenesis-and-pathophysiology-of-aortic-aneurysms-and-aneurysm-rupture/drug-induced-aortic-aneurysms-ruptures-and-dissections