หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Ozanimod...sphingosine 1-phosphate receptor (S1PR) modulator ชนิดใหม่สำหรับรักษา multiple sclerosis

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน มิถุนายน ปี 2563 -- อ่านแล้ว 2,927 ครั้ง
 

Multiple sclerosis (MS) เป็นโรคภูมิต้านตนเองชนิดหนึ่งที่มีการทำลาย myelin รอบ axon (demyelinating disease) โดยเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน เกิดขึ้นที่ระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดภาวะอักเสบเรื้อรังของระบบประสาทส่วนกลางทั้งในสมองและไขสันหลัง รบกวนการสื่อสารระหว่างสมองกับส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการเสียความสามารถทางระบบประสาท (neurological disability) ในคนหนุ่มสาว อาจแบ่งเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ clinically isolated syndrome, relapsing-remitting MS, primary-progressive MS และ secondary-progressive MS ยังไม่ทราบกลไกการเกิดโรคนี้อย่างชัดเจน แต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของลิมโฟไซต์จากส่วนปลายเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง ด้วยเหตุนี้การลดจำนวนลิมโฟไซต์ในระบบประสาทส่วนกลางจะช่วยลดการอักเสบ ยาที่นำมาใช้รักษาโรค MS มีทั้งชนิดที่ออกฤทธิ์เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันโดยทางตรงหรือทางอ้อมด้วยกลไกการออกฤทธิ์ที่หลากหลายและยาที่ช่วยทุเลาอาการของโรค ยาที่นำมาใช้ เช่น interferon-beta (IFN-ß), glatiramer acetate, mitoxantrone, teriflunomide, dimethyl fumarate, natalizumab, alemtuzumab, daclizumab, ocrelizumab และยาในกลุ่ม sphingosine 1-phosphate receptor (S1PR) modulators ซึ่งยาตัวแรกในกลุ่มนี้คือ fingolimod มีใช้มาราว 10 ปีแล้ว

Sphingosine 1-phosphate เป็น signalling molecule ชนิดหนึ่ง มีตัวรับอย่างน้อย 5 ชนิด คือ S1PR1, S1PR2, S1PR3, S1PR4 และ S1PR5 ซึ่งแม้ว่า S1PR1, S1PR4 และ S1PR5 เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของลิมโฟไซต์ แต่ S1PR1 มีบทบาทมากที่สุดเนื่องจากพบที่ลิมโฟไซต์และเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของลิมโฟไซต์ออกจาก lymph node ยาที่ออกฤทธิ์เป็น S1PR1 modulator แม้จะเป็น agonist ที่ตัวรับดังกล่าว แต่การจับกับตัวรับทำให้เกิด internalization ของ receptor-modulator complex เข้าไปในลิมโฟไซต์ ทำให้ลดการเคลื่อนที่ของลิมโฟไซต์ออกจาก lymph node (กลับออกฤทธิ์เป็น antagonist) ลิมโฟไซต์จึงเข้าสู่ระบบไหลเวียนและระบบประสาทส่วนกลางลดลง ซึ่งเชื่อว่าฤทธิ์ลดการเคลื่อนที่ของลิมโฟไซต์เป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรค MS ยาในกลุ่ม S1PR modulators ออกฤทธิ์ที่ตัวรับแตกต่างกัน โดย fingolimod ออกฤทธิ์ที่ S1PR1, S1PR3, S1PR4 และ S1PR5 (ดูรูป), siponimod และ ozanimod ออกฤทธิ์ที่ S1PR1 และ S1PR5 และ ponesimod ออกฤทธิ์ที่ S1PR1 ยา 3 ชนิดแรกมีวางจำหน่ายแล้ว ส่วน ponesimod อยู่ระหว่างการขออนุมัติทะเบียนยา

Ozanimod เป็นยาใหม่ที่มีจำหน่ายแล้วในบางประเทศเมื่อไม่นานมานี้ ในข้อบ่งใช้สำหรับรักษา relapsing MS ทั้งชนิด clinically isolated syndrome, relapsing-remitting MS และ active secondary progressive MS ในผู้ใหญ่ ผลิตเป็นยาแคปซูลความแรง 0.23, 0.46 และ 0.92 มิลลิกรัม เริ่มแรกรับประทานในขนาดต่ำและค่อย ๆ ปรับขนาดยาจนถึงขนาดที่แนะนำคือ 0.92 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง ผลไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยที่สุด (≥4%) ได้แก่ การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน รบกวนการทำงานของตับ ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบถ การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ ปวดหลัง และความดันโลหิตสูง

อ้างอิงจาก:

(1) Zeposia (ozanimod) capsules. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4580967, revised: 3/2020. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2020/209899s000lbl.pdf; (2) Cartier A, Hla T. Sphingosine 1-phosphate: lipid signaling in pathology and therapy. Science 2019. doi:10.1126/science.aar5551; (3) Lamb YN. Ozanimod: first approval. Drugs 2020;80:841-8; (4) Skeen MB. Sphingosine-1-phosphate modulators for multiple sclerosis, February 2020. https://practicalneurology.com/articles/2020-feb/sphingosine-1-phosphate-modulators-for-multiple-sclerosis
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.1 ยาคุมฉุกเฉิน Emergency contraceptive pills

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้