ยาหลายชนิดที่จำเป็นต่อการรักษาโรคแต่มีศักยภาพที่จะทำให้ลูกในท้องพิการ (teratogenic potential) หากมารดาใช้ยาขณะตั้งครรภ์ เช่น ยาต้านไทรอยด์ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมในข่าวยาเรื่อง “ยาต้านไทรอยด์ (carbimazole, methimazole)...เตือนถึงความเสี่ยงต่อการทำให้ลูกในท้องพิการ” ได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1496), dolutegravir ซึ่งเป็นยาต้านไวรัส (ดูข้อมูลเพิ่มเติมในข่าวยาเรื่อง “Dolutegravir กับความบกพร่องของท่อประสาท (neural tube defects)” ได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1471), valproate ซึ่งเป็นต้านโรคลมชัก (ดูข้อมูลเพิ่มเติมในข่าวยาเรื่อง “Valproate กับการห้ามใช้ในผู้ที่มีโอกาสตั้งครรภ์” ได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1455), mycophenolate mofetil และ mycophenolic acid ซึ่งเป็นยากดภูมิคุ้มกัน (ดูข้อมูลเพิ่มเติมในข่าวยาเรื่อง “Mycophenolate mofetil/mycophenolic acid กับข้อแนะนำให้คุมกำเนิดแม้ใช้ยาเหล่านี้ในผู้ชาย” ได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1445) และยาอื่นอีกหลายอย่างรวมถึง thalidomide และ isotretinoin ความเสี่ยงของยาที่จะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์เกิดได้ทุกระยะของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสแรก (first trimester) หรือช่วงเริ่มตั้งครรภ์จนถึงอายุครรภ์ราว 12 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์มีการสร้างอวัยวะ ดังนั้นผู้ที่จะใช้ยาที่เสี่ยงต่อการทำให้ลูกในท้องพิการต้องเป็นผู้ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์หรือเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ต้องผ่านการทดสอบว่าไม่ได้ตั้งครรภ์และช่วงที่ใช้ยาควรใช้วิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง
การทดสอบการตั้งครรภ์ มีข้อควรคำนึงดังนี้
อาจไม่สามารถตรวจได้หากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงไม่ถึง 3 สัปดาห์ก่อนหน้าที่จะทดสอบ
เมื่อเริ่มใช้วิธีการคุมกำเนิด (แนะนำให้ใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพสูง ดูข้อมูลข้างล่าง) ผู้มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ควรทดสอบซ้ำที่ 3 สัปดาห์หลังจากการเริ่มการคุมกำเนิด (แม้ว่าการทดสอบครั้งแรกจะให้ผลเป็นลบ)
การคุมกำเนิดวิธีต่างๆ มีประสิทธิภาพต่างกัน บางวิธีอาจมีความจำเป็นต้องทดสอบการตั้งครรภ์ใหม่ทุกครั้งก่อนที่จะให้การคุมกำเนิดต่อเนื่องในครั้งต่อไป หรือก่อนการสั่งใช้ยาที่เสี่ยงต่อการทำให้ลูกในท้องพิการในแต่ละคราว (ดูตาราง) เพราะการคุมกำเนิดอาจเกิดความล้มเหลวได้
การเลือกวิธีคุมกำเนิด มีข้อควรคำนึงดังนี้
แม้ว่าวิธีการคุมกำเนิดชนิดใหม่ๆ หากมีการใช้อย่างถูกต้อง (perfect use) จะมีอัตราความล้มเหลวต่ำ (0.03-0.6%) อย่างไรก็ตามภายใต้การใช้ตามปกติทั่วไป (typical use) ซึ่งอาจมีความผิดพลาดที่เกิดจากผู้ใช้ (เช่น การลืมรับประทานกรณีที่เป็นยาเม็ดคุมกำเนิด การเริ่มแผงใหม่ล่าช้า) หรือมีการใช้ร่วมกับยาอื่นที่อาจรบกวนประสิทธิภาพของยา (เกิด drug interaction) ทำให้มีอัตราความล้มเหลวสูงขึ้น
ความเสี่ยงต่อความผิดพลาดที่เกิดจากผู้ใช้นั้น หากเป็นชนิดยาเม็ดคุมกำเนิดจะมีความเสี่ยงสูงกว่าวิธีคุมกำเนิดชนิดที่ออกฤทธิ์นาน (long-acting reversible contraceptive method) และการคุมกำเนิดแบบหลั่งภายนอกหรือการนับวันตกไข่จะมีความเสี่ยงต่อความผิดพลาดได้สูงที่สุด
วิธีการคุมกำเนิดที่ถือว่ามีประสิทธิภาพสูงจะมีอัตราความล้มเหลวภายใต้การใช้ตามปกติทั่วไป (“typical-use failure rate”) น้อยกว่า 1% เช่น การทำหมันฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง การคุมกำเนิดชนิดที่ออกฤทธิ์นาน (ได้แก่ การใส่ห่วงอนามัยและยาคุมกำเนิดแบบฝัง)
ยาฉีดที่มีฮอร์โมนโพรเจสโตเจนอย่างเดียว (progestogen-only injection) อาจจัดเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงหากฉีดตรงตามกำหนดและฉีดโดยบุคลากรทางการแพทย์ อย่างไรก็ตามอาจพบ “typical-use failure rate” ได้ถึง 6% ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากความล่าช้าในการให้ยาซ้ำในแต่ละคราว
การคุมกำเนิดวิธีอื่นที่จัดว่ามีประสิทธิภาพ ได้แก่ ยาคุมกำเนิดประเภทฮอร์โมนรวม (ไม่ว่าจะเป็นชนิดยาเม็ด ยาแผ่นแปะ หรือวงแหวนสอดช่องคลอด) และยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนโพรเจสโตเจนอย่างเดียว อย่างไรก็ตามอาจพบ “typical-use failure rate” ได้สูงถึง 9%
การคุมกำเนิดวิธีอื่น เช่น การนับวันตกไข่ การหลั่งภายนอก เหล่านี้ไม่จัดเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพและไม่ใช้วิธีดังกล่าวโดยลำพังในการคุมกำเนิดในผู้ที่ใช้ยาชนิดที่เสี่ยงต่อการทำให้ลูกในท้องพิการ
อ้างอิงจาก:
(1) Medicines and Healthcare products Regulatory Agency (MHRA). Pregnancy testing and contraception for pregnancy prevention during treatment with medicines of teratogenic potential, version 1, March 2019. https://assets.publishing.service.gov.uk/media/5c936a4840f0b633f5bfd895/pregnancy_testing_and_contraception_table_for_medicines_with_teratogenic_potential_final.pdf; (2) Medicines with teratogenic potential: what is effective contraception and how often is pregnancy testing needed? Drug Safety Update volume 12, issue 8: March 2019:3; (3) Bastow BD. Teratology and drug use during pregnancy. https://emedicine.medscape.com/article/260725-overview