โรคปวดศีรษะไมเกรน (migraine) เป็นความผิดปกติของระบบประสาทที่พบได้บ่อยประมาณ 10% ของประชากรทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก อาการที่เกิดขึ้นมีหลายระยะ อาการปวดศีรษะมักปวดซีกเดียว บางรายเกิดอย่างรุนแรง อาจมีอาการอื่นตามมา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน กลัวแสง กลัวเสียง อาการที่เกิดแต่ละครั้งอาจเป็นอยู่นาน 4-72 ชั่วโมง ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด มีสมมุติฐานหรือแนวคิดต่างๆ ที่นำมาอธิบายถึงสาเหตุและอาการของโรคปวดศีรษะไมเกรน รวมถึงการเกิดภาวะหลอดเลือดขยายและการอักเสบที่เกิดจากประสาท (neurogenic inflammation) ยาที่นำมาใช้ในการรักษาและ/หรือป้องกันโรคปวดศีรษะไมเกรนจึงมีหลายกลุ่มซึ่งมีการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน เช่น beta blockers, anticonvulsants (antiepileptic drugs), tricyclic antidepressants, calcium-channel blockers, nonsteroidal anti-inflammtory drugs (NSAIDs), triptans นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนายาใหม่อย่างต่อเนื่อง ในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีข้อมูลมากขึ้นที่สนับสนุนถึงบทบาทของ calcitonin gene-related peptide (CGRP) ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสรีรภาพของโรคปวดศีรษะไมเกรน ซึ่ง CGRP เป็น neuropeptide มีกรดอะมิโน 37 ตัว มีฤทธิ์แรงในการขยายหลอดเลือดและเป็นสารก่อการอักเสบ สารนี้หลั่งจาก trigeminal nerve fibers ซึ่งเส้นประสาทนี้ส่งไปยังเยื่อหุ้มสมอง (ดูรูป A) และใบหน้า เชื่อว่า CGRP เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นและการส่งสัญญานความเจ็บปวดภายใน trigeminovascular pathways โดยทำงานร่วมกับ neuromediators อื่น เช่น substance P, bradykinin มีการศึกษาที่สนับสนุนว่าหากลดปริมาณ CGRP ได้จะช่วยป้องกันและการรักษาโรคปวดศีรษะไมเกรนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
จากข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทของ CGRP ในโรคปวดศีรษะไมเกรน ทำให้มีการพัฒนายาที่ขัดขวางการออกฤทธิ์ของ CGRP โดยในช่วงแรกมีการพัฒนายาเคมีสังเคราะห์กลุ่ม gepants ซึ่งออกฤทธิ์เป็น CGRP receptor antagonists ตัวอย่างเช่น telcagepant, olcegepant แม้จะมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคปวดศีรษะไมเกรนและบางชนิดยังให้ผลในการป้องกันได้อีกด้วย แต่ยาเหล่านั้นมีปัญหาด้านเภสัชจลนศาสตร์และด้านความเป็นพิษ ทำให้ขณะนี้ยังไม่มียาในกลุ่มนี้ออกใช้ อย่างไรก็ตาม มียารุ่นใหม่ในกลุ่มนี้หลายชนิดที่อยู่ระหว่างการศึกษาทางคลินิก เช่น atogepant, rimagepant, ubrogepant ในขณะเดียวกันได้มีการพัฒนายาชีววัตถุในกลุ่ม monoclonal antibodies ที่ออกฤทธิ์ขัดขวาง CGRP (ดูรูป B) ซึ่งมีทั้งชนิดที่ออกฤทธิ์จับโดยตรงกับ CGRP เช่น eptinezumab, fremanezumab, galcanezumab ยาเหล่านี้เป็น humanized monoclonal antibodies และชนิดที่ออกฤทธิ์จับกับตัวรับของ CGRP เช่น erenumab ซึ่งเป็น human monoclonal antibody ขณะนี้ erenumab วางจำหน่ายแล้วในข้อบ่งใช้สำหรับป้องกันโรคปวดศีรษะไมเกรนในผู้ใหญ่
อ้างอิงจาก
(1) Dodick DW. A phase-by-phase review of migraine pathophysiology. Headache 2018;58:4-16; (2) Pellesi L, Guerzoni S, Pini LA. Spotlight on anti-CGRP monoclonal antibodies in migraine: the clinical evidence to date. Clin Pharmacol Drug Dev 2017;6:534-47; (3) Edvinsson L. The CGRP pathway in migraine as a viable target for therapies. Headache 2018;58(suppl 1):33-47.