หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Clarithromycin…เตือนอีกถึงความเสี่ยงในผู้ที่เป็นโรคหัวใจ

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน มิถุนายน ปี 2561 -- อ่านแล้ว 8,748 ครั้ง
 
ยาในกลุ่ม macrolides เช่น erythromycin, azithromycin, clarithromycin, roxithromycin มีประโยชน์มากในการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง ทางเดินหายใจ ปอด โพรงจมูก หู และบริเวณอื่น รวมถึงการติดเชื้อ Mycobacterium avium complex (MAC) ที่พบในปอดผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี โดยทั่วไปถือว่าเป็นยาที่มีความปลอดภัย แม้จะมีผลไม่พึงประสงค์อยู่บ้างรวมถึงความเสี่ยงต่อหัวใจ โดยอาจเกิดทำให้เกิด QT interval prolongation, torsades de pointes, ventricular tachycardia และการเสียชีวิตฉับพลัน แม้ว่าหลักฐานการศึกษาจะไม่ได้สนับสนุนไปเสียทั้งหมด แต่ที่ผ่านมาองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการติดตามความปลอดภัยในการใช้ยาของหลายประเทศได้ออกมาตรการบางประการเพื่อลดความเสี่ยงต่อหัวใจจากการใช้ยาในกลุ่ม macrolides มีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อหัวใจของยากลุ่มดังกล่าวซึ่งเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นข้อมูลที่มาจากการศึกษาหนึ่ง (systematic review, meta-analysis และ network meta-analysis) ที่สรุปว่าโดยภาพรวมแล้ว macrolides เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด (myocardial infarction) อย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular mortality)

สำหรับ clarithromycin แม้จะเริ่มมีรายงานถึงผลไม่พึงประสงค์ต่อหัวใจมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีคำเตือนเฉพาะสำหรับยานี้ จนไม่นานมานี้มีข้อมูลจากการศึกษาหนึ่ง (prospective, placebo-controlled CLARICOR trial) ที่ติตตามผลนาน 10 ปี ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary heart disease) ที่ได้รับยา clarithromycin ขนาด 500 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง นาน 2 สัปดาห์ เทียบกับยาหรอก พบว่าผู้ที่ใช้ clarithromycin มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับหัวใจหลังติดตามผลเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี และความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดการณ์ ซึ่งยังไม่อาจอธิบายได้อย่างแน่ชัดถึงสาเหตุของความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว จากผลการศึกษาข้างต้นทำให้เมื่อเร็วๆ นี้ องค์กร FDA ของสหรัฐอเมริกาได้มีข้อแนะนำและคำเตือนในการใช้ clarithromycin โดยเฉพาะไว้ดังนี้

- บุคลากรทางการแพทย์ควรระวังการสั่งจ่าย clarithromycin ให้กับผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากยาเพิ่มความเสี่ยงที่เกิดอันตรายต่อหัวใจและอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในเวลาต่อมา ควรพิจารณาถึงประโยชน์เทียบกับความเสี่ยง อีกทั้งควรพิจารณาสั่งจ่ายยาอื่นให้กับผู้ป่วยดังกล่าวแม้จะเป็นการใช้ยาระยะสั้นก็ตาม

- ให้ผู้ผลิตเพิ่มคำเตือนถึงการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจ และให้นำผลการศึกษาที่กล่าวถึงข้างต้นใส่ไว้ในเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ด้วย

- สำหรับผู้ป่วย ควรแจ้งแพทย์หากเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อน เพื่อแพทย์จะได้พิจารณาสั่งจ่ายยาที่เหมาะสม อย่าหยุดใช้ยารักษาโรคหัวใจหรือยาต้านจุลชีพเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ และหากเกิดภาวะหัวใจหรือสมองขาดเลือดฉับพลัน เช่น เจ็บแน่นหน้าอก หายใจได้ไม่เต็มที่ หายใจขัด แขน-ขาปวดหรืออ่อนเปลี้ย พูดไม่ชัด ให้รีบพบแพทย์ทันที

ขณะนี้หน่วยงาน FDA ที่กล่าวถึงข้างต้นอยู่ระหว่างให้เฝ้าติดตามความปลอดภัยของ clarithromycin เพื่ออาจมีมาตรการเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงอาจนำมาพิจารณาว่าจะปรับใช้กับผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจด้วยหรือไม่

อ้างอิงจาก

(1) Systematic review, meta-analysis, and network meta-analysis of the cardiovascular safety of macrolides. Gorelik E, Masarwa R, Perlman A, Rotshild V, Muszkat M, Matok I. Antimicrob Agents Chemother 2018. doi: 10.1128/AAC.00438-18; (2) U.S. Food and Drug Administration. FDA Drug Safety Communication: FDA review finds additional data supports the potential for increased long-term risks with antibiotic clarithromycin (Biaxin) in patients with heart disease. https://www.fda.gov/downloads/Drugs/DrugSafety/UCM597723.pdf

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
macrolides erythromycin azithromycin clarithromycin roxithromycin Mycobacterium avium complex MAC QT interval prolongation torsades de pointes ventricular tachycardia systematic review meta-analysis network meta-analysis กล้ามเนื้อหัวใจต
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้