Corticosteroids เป็นฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตส่วนเปลือก (adrenal cortex) ส่วนใหญ่จะหมายถึงกลุ่ม glucocorticoids ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อเมแทบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต โปรตีนและไขมัน ในกรณีที่เป็นยาจะเป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้น เช่น prednisone, prednisolone, methylprednisolone, triamcinolone, betamethasone, dexamethasone, beclomethasone, budesonide, clobetasol มีประโยชน์ทางการแพทย์มากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งนำมาใช้ลดการอักเสบและกดภูมิต้านทานในโรคต่างๆ ยาที่ใช้มีทั้งชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย (systemic corticosteroids) โดยทำเป็นยาฉีดหรือยาเม็ดสำหรับรับประทาน ชนิดออกฤทธิ์เฉพาะที่ เช่น ยาสูดพ่นทางปาก ยาพ่นจมูก ยาหยอดตา ยารับประทานชนิดออกฤทธิ์ภายในลำไส้ (ไม่ถูกดูดซึม) และชนิดใช้ภายนอก เช่น ยาครีม ยาขี้ผึ้ง แม้ยาในกลุ่มนี้จะมีประโยชน์ทางการแพทย์มากมาย แต่อาการไม่พึงประสงค์มีมากด้วยเช่นเดียวกันซึ่งรวมถึงอาจทำให้เกิดโรคศูนย์กลางจอประสาทตาบวม
โรคศูนย์กลางจอประสาทตาบวมหรือโรคจุดรับภาพบวม (central serous chorioretinopathy) เกิดจากการรั่วซึมของสารน้ำออกจากหลอดเลือดไปสะสมที่ศูนย์กลางจอประสาทตาซึ่งเป็นจุดรับภาพชัด ทำให้บวมนูนและมีขอบเขตชัดเจน รบกวนการมองเห็น เกิดภาพมัว ขนาดภาพเล็กลง ตาสู้แสงสว่างไม่ได้ และอาจเกิดจอตาลอก (retinal detachment) เป็นโรคที่เกิดขึ้นยาก พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง มักพบในช่วงอายุ 40-50 ปี ปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้มีหลายอย่าง เช่น พันธุกรรม โรคความดันโลหิตสูง ความเครียด ความวิตกกังวล การเป็นโรคบางอย่าง เช่น Cushing disease ตลอดจนการใช้ยาบางชนิด ยังไม่ทราบกลไกการเกิดโรคที่แน่ชัด ในกรณีที่เกี่ยวกับยานั้นพบว่ายาในกลุ่ม corticosteroids มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคนี้ซึ่งมักเกิดขึ้นกับตาทั้งสองข้าง และเกิดได้แม้รับประทานยาในขนาดเพียงวันละ 10-15 มิลลิกรัม ส่วนระยะเวลาที่ใช้ยาอาจใช้เวลาเพียง 2 หรือ 3 วัน ไปจนถึงนานหลายปี ตัวอย่างเช่น ผู้ที่รับประทาน prednisone วันละ 20 มิลลิกรัม นาน 3 เดือน เพื่อรักษาโรค polymyalgia rheumatica และเมื่ออาการดีขึ้นจึงลดเหลือวันละ 14 มิลลิกรัม ต่อมาไม่นานเกิดการบวมของศูนย์กลางจอประสาทตา (ดูรูป) นอกจากนี้ยังพบได้ในผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่ใช้ corticosteroids ชนิดที่ออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย เช่น โรค multiple sclerosis หรือใช้เฉพาะที่เพื่อให้ออกฤทธิ์ในลำไส้เพื่อรักษาโรคลำไส้อักเสบ ชนิด ulcerative colitis จากรายงานที่ผ่านมาแม้ว่าส่วนใหญ่จะกล่าวถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคศูนย์กลางจอประสาทตาบวมจากการใช้ corticosteroids ชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย อย่างไรก็ตาม การเกิดโรคศูนย์กลางจอประสาทตาบวมอาจเกิดในผู้ที่ใช้ corticosteroids ชนิดใช้เฉพาะที่หรือใช้ภายนอกได้เช่นกัน ซึ่งครอบคลุมถึงชนิดยาสูดพ่นทางปาก ชนิดที่ให้ทางจมูก ชนิดฉีดเข้า epidural space ชนิดฉีดเข้าข้อ ชนิดทาผิวหนัง ชนิดหยอดตา ขณะนี้บางประเทศกำลังติดตามถึงอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวผ่านบุคลากรทางการแพทย์ โดยให้มีการรายงานเกี่ยวกับเกิดโรคศูนย์กลางจอประสาทตาบวมที่อาจเกิดจากการใช้ corticosteroids พร้อมทั้งให้บุคลากรทางการแพทย์แนะนำผู้ป่วยที่ใช้ corticosteroids ไม่ว่าจะเป็นชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย ชนิดใช้เฉพาะที่และชนิดใช้ภายนอก ให้เฝ้าระวังถึงการเกิดความผิดปกติในการมองเห็น เช่น ภาพมัว ขนาดและลักษณะภาพผิดไป หากเกิดความผิดปกติใดๆ เกี่ยวกับการมองเห็นให้รายงานแพทย์ผู้ให้การรักษา เพื่อการพิจารณาส่งต่อจักษุแพทย์ต่อไป
อ้างอิงจาก:
(1) Corticosteroids: rare risk of central serous chorioretinopathy with local as well as systemic administration. Drug Safety Update volume 11 issue 1, August 2017: 2; (2) Geoffroy M, Afriat M, Fauconier M, Eschard JP, Salmona JH. Adverse effect of corticosteroid therapy: central serous chorioretinopathy. Joint Bone Spine, 2017. http://dx.doi.org/10.1016/j.jbspin.2017.02.001; (3) Clarke C, Smith SV, Lee AG. A rare association: Cushing disease and central serous chorioretinopathy. Can J Ophthalmol 2017;52:e77-e79.