หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยารักษาโรคแอนแทรกซ์: monoclonal antibody ไม่ได้ใช้ทดแทนยาต้านจุลชีพ

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน มิถุนายน ปี 2559 -- อ่านแล้ว 6,143 ครั้ง
 
โรคแอนแทรกซ์ (anthrax) เกิดจากแบคทีเรียแกรมบวกชื่อ Bacillus anthracis เป็นโรคที่เกิดแบบเฉียบพลันและอาจมีความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต เกิดได้กับคนและสัตว์ การเกิดโรคแอนแทรกซ์ในคนมี 3 แบบขึ้นกับช่องทางที่ได้รับเชื้อ ได้แก่ โรคแอนแทรกซ์ผิวหนัง (cutaneous anthrax) ซึ่งพบมากที่สุด โรคแอนแทรกซ์ทางเดินอาหาร (gastrointestinal anthrax) และโรคแอนแทรกซ์ทางเดินหายใจ (inhalational anthrax) ซึ่งแอนแทรกซ์ที่ทางเดินหายใจมีอันตรายสูงสุดและอาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ในอดีตเคยใช้เป็นอาวุธชีวภาพ (biological weapon)

การติดโรคเกิดจากการได้รับเชื้อในรูปสปอร์ ซึ่งสปอร์อาจฟักตัวเพื่อเจริญเป็นเซลล์ (vegetative form; vegetative bacillus) และก่อโรคได้ภายในสัปดาห์แรกหลังสัมผัสเชื้อ (บางกรณีอาจใช้เวลานาน 1-2 เดือน) หากไม่รับการรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็วเชื้ออาจเข้าสู่กระแสเลือด (septicemic anthrax) อันตรายต่อร่างกายเกิดจากท็อกซิน (toxin) ที่เชื้อในรูป vegetative bacillus สร้างขึ้น ท็อกซินจะออกฤทธิ์รบกวน cell signaling pathway ซึ่งในระยะแรกจะรบกวนระบบภูมิคุ้มกัน (innate immune response) ต่อมาจะชักนำการเกิด vascular collapse และเกิด shock-like death โปรตีนที่ประกอบเป็นท็อกซินแบ่งออกเป็น protective antigen (PA), lethal factor (LF) และ edema factor (EF) โดยที่ PA ทำหน้าที่จับกับตัวรับที่เซลล์และช่วยพา LF หรือ EF เข้าสู่ไซโตซอล ซึ่ง LF เป็น zinc-dependent protease และ EF เป็น calcium-calmodulin-dependent adenylate cyclase หากแยกโปรตีนแต่ละส่วนออกจากกันจะไม่เป็นอันตราย แต่ถ้ารวมกัน เช่น PA รวมกับ LF ได้เป็น lethal toxin (LT) และ PA รวมกับ EF ได้เป็น edema toxin (ET) จะเป็นอันตราย จากการศึกษาในสัตว์ทดลองที่ได้รับ LT โดยการฉีด พบว่าทำให้เกิดอาการของโรคแอนแทรกซ์ ส่วน ET ทำให้เกิดอาการพิษได้หลายอย่าง นอกเหนือจากท็อกซินแล้วตัวเชื้อที่อยู่ในรูป vegetative bacillus ยังสร้างแคปซูลซึ่งเป็นสารโพลิเมอร์พวก D-glutamic acid ที่เชื่อมด้วย γ-peptidyl bond ทำให้สามารถหลบหลีกจากกระบวนการ phagocytosis ได้ (antiphagocytic polyglutamic capsule) แคปซูลจึงมีบทบาทในการแพร่กระจายโรค

ในการรักษาโรคแอนแทรกซ์จะใช้ยาต้านจุลชีพเป็นหลัก เช่น ciprofloxacin, doxycycline, penicillin เพื่อกำจัดเชื้อในรูป vegetative bacillus นอกจากนี้มีการใช้วัคซีน (human anthrax vaccine) เพื่อป้องกันโรค มีทั้งชนิด acellular vaccine และ live spore vaccine และในเร็วๆ นี้อาจมีชนิด recombinant live vaccine และ recombinant sub-unit vaccine ออกใช้ ส่วนยากลุ่มใหม่ประเภท monoclonal antibody เช่น raxibacumab, obiltoxaximab มีการออกฤทธิ์ที่จำเพาะต่อโปรตีนบาง component ของท็อกซินจึงช่วยลดอาการและความรุนแรงของโรค ยาเหล่านี้ไม่มีฤทธิ์ต่อตัวเชื้อจึงไม่อาจใช้ทดแทนยาต้านจุลชีพ แต่นำมาใช้ร่วมกับยาต้านจุลชีพเพื่อรักษาโรคแอนแทรกซ์ทางเดินหายใจ

อ้างอิงจาก:

(1) Moayeri M, Leppla SH, Vrentas C, Pomerantsev AP, Liu S. Anthrax pathogenesis. Annu Rev Microbiol 2015;69:185-208; (2) Friebe S, van der Goot FG, Bürgi J. The ins and outs of anthrax toxin. Toxins 2016,8,69; doi:10.3390/toxins8030069; (3) Greig SL. Obiltoxaximab: first global approval. Drugs 2016;76:823-30.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
anthrax Bacillus anthracis cutaneous anthrax gastrointestinal anthrax inhalational anthrax biological weapon vegetative form vegetative bacillus septicemic anthrax meningeal anthrax toxin protective antigen PA lethal factor LF edema fa
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้