หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Drug-induced osteonecrosis of the jaw

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน เมษายน ปี 2559 -- อ่านแล้ว 8,832 ครั้ง
 

กระดูกขากรรไกรตาย (osteonecrosis of the jaw; ONJ) เกิดได้ยากแต่เป็นอันตรายรุนแรง เราอาจคุ้นเคยกับข้อมูลเรื่องความเสี่ยงต่อการทำให้กระดูกขากรรไกรตายที่เป็นผลจากยารักษาโรคกระดูกพรุนกลุ่ม bisphosphonates (ดูข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง “Bisphosphonates…อีกครั้งกับข้อแนะนำเกี่ยวกับ drug holidays” ใน “ข่าวยา” ประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2559) ยาในกลุ่มนี้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกขากรรไกรตาย เช่น alendronate, ibandronate, pamidronate, risendronate, zolendronate (ดูตาราง) ต่อมามีข้อมูลว่าไม่เพียงแต่ bisphosphonates เท่านั้นที่ทำให้เกิดกระดูกขากรรไกรตาย ยารักษาภาวะกระดูกพรุนชนิดอื่น เช่น denosumab ทำให้เกิดกระดูกขากรรไกรตายได้เช่นกัน (ดูข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง “Denosumab...มีความเสี่ยงต่อกระดูกขากรรไกรตาย” ใน “ข่าวยา” ประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน สิงหาคม ปี 2558) ปัจจุบันมีข้อมูลออกมาเรื่อยๆ ถึงยากลุ่มอื่นที่มีความเสี่ยงต่อการทำให้กระดูกขากรรไกรตาย โดยเฉพาะยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการงอกของเส้นเลือด (antiangiogenic agents) ที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง เช่น bevacizumab, sunitinib และเมื่อเร็วนี้มีข้อมูลว่า aflibercept ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการงอกของเส้นเลือดเช่นเดียวกัน มีความเสี่ยงต่อการทำให้กระดูกขากรรไกรตาย นอกจากยาที่กล่าวมา ยังมียาอื่นอีก เช่น sorafenib, everolimus, temsirolimus, cabozantinib (ดูตาราง) ล้วนมีข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการทำให้กระดูกขากรรไกรตายได้ ความเสี่ยงดังกล่าวเพิ่มขึ้นหากมีการใช้ร่วมกัน ยาเหล่านี้ที่อยู่ต่างกลุ่มกันมีการออกฤทธิ์และมีโครงสร้างที่ต่างกัน ดังนั้นการเกิดกระดูกขากรรไกรตายจึงอาจมาจากกลไกที่แตกต่างกันด้วย เช่น anti-osteoclastic effects, การรบกวน bone remodeling, การยับยั้งการงอกของเส้นเลือด ยาบางชนิดอาจมีกลไกมากกว่าหนึ่งอย่าง เช่น bisphosphonates นอกจากมี anti-osteoclastic effects แล้ว ยังมีฤทธิ์โดยตรงในการยับยั้งการงอกของเส้นเลือดด้วย ซึ่งการยับยั้งการเจริญของหลอดเลือดบริเวณที่ได้รับผลกระทบช่วงทำหัตถการทันตกรรมอาจทำให้กระดูกขากรรไกรตาย โดยเฉพาะการทำหัตถการทันตกรรมที่ทำให้บาดเจ็บรุนแรง

อ้างอิงจาก:

(1) Berenson JR, Stopeck AT. Medication-related osteonecrosis of the jaw in patients with cancer. UpToDate®. Apr 2016. www.uptodate.com; (2) Hamadeh IS, Ngwa BA, Gong Y. Drug induced osteonecrosis of the jaw. Cancer Treat Rev 2015;41:455-64; (3) Aflibercept (Zaltrap): minimising the risk of osteonecrosis of the jaw. Drug Safety Update volume 9 issue 9 April 2016:6.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
drug-induced osteonecrosis of the jaw ONJ bisphosphonate alendronate ibandronate pamidronate risendronate zolendronate drug holiday denosumab antiangiogenic agent anti-osteoclastic effect bevacizumab sunitinib aflibercept bone remodeli
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้