หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Opioid receptors…เป้าหมายของยารักษา IBS

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน กรกฎาคม ปี 2558 -- อ่านแล้ว 10,129 ครั้ง
 

Irritable bowel syndrome (IBS) เป็นกลุ่มอาการของลำไส้ทำงานแปรปรวน เป็นความผิดปกติที่เกิดเรื้อรัง มีอาการในระบบทางเดินอาหารหลายอย่าง เช่น ไม่สบายท้อง ท้องอืด ปวดท้อง ท้องเดิน ท้องผูก อาจจำแนก IBS ตามอาการที่เป็นลักษณะเด่นได้เป็น ชนิดท้องผูกเด่น (constipation-predominant IBS; IBS-C) ชนิดท้องเดินเด่น (diarrhea-predominant IBS; IBS-D) และชนิดท้องผูกสลับท้องเดิน (alternating-type IBS; IBS-A หรือ mixed IBS; IBS-M) ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของ IBS แต่เชื่อว่ามีสาเหตุจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น ความผิดปกติในการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร ภาวะไวเกินของอวัยวะในช่องท้อง (visceral hypersensitivity) ความกดดันทางประสาทและจิตใจ เชื้อโรค พันธุกรรม ด้วยเหตุนี้จึงมียาหลายกลุ่มที่นำมาใช้รักษาตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น ยาระบาย (laxatives), ยาแก้ท้องเดิน (antidiarrheals), serotonin (5-HT) agonists/antagonists, antidepressants, antispasmodics ยาเหล่านี้บางชนิดคาดหวังว่าอาจมีส่วนช่วยรักษาที่สาเหตุด้วย

Opioid drugs มีฤทธิ์ลดอาการท้องเดินและอาการปวด หลังการใช้ยามักมีอาการท้องผูกตามมาและลำไส้อาจทำงานผิดปกติ (opioid-induced bowel dysfunction) ตัวรับโอปิออยด์ (opioid receptors) ที่ enteric neurons ในทางเดินอาหาร ได้แก่ μ-, δ-, และ κ-opioid receptors (MOR, DOR, และ KOR) ซึ่งตัวรับเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการยับยั้งการหลั่ง acetylcholine จาก enteric interneurons และการหลั่ง purine/nitric oxide จาก inhibitory motor neurons ทำให้ยับยั้ง propulsive motility นอกจากนี้ MOR และ DOR ยังเกี่ยวข้องกับการยับยั้ง submucosal secretomotor neurons ลดการขับคลอไรด์และการเคลื่อนของน้ำมายังช่องลำไส้ใหญ่จึงทำให้เกิดท้องผูก การทน (tolerance) ต่อฤทธิ์ระงับปวดของ opioid receptor agonists เกิดขึ้นได้แต่จะไม่เกิดการทนต่อฤทธิ์ที่ทำให้เกิดท้องผูก ได้มีการใช้โอปิออยด์เป็นยาแก้ท้องเดินมานานแล้ว เช่น diphenoxylate ซึ่งเป็น μ-receptor agonist ยานี้ใช้รักษาอาการท้องเดินในผู้ป่วย IBS-D ด้วย ในปัจจุบันวงวิชาการด้าน opioid pharmacology ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายจากเดิมที่สนใจยาพวกที่เลือกออกฤทธิ่ต่อตัวรับบางชนิดอย่างมาก (highly selective opioids) มาเป็นยาพวกที่มีการออกฤทธิ์ต่อตัวรับอื่นได้ด้วย (bivalent, bi-functional, หรือ mixed opioids) เพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น eluxadoline เป็น μ-opioid receptor agonist และ δ-opioid receptor antagonist (mixed MOR agonist/DOR antagonist) อีกทั้งยังเป็น κ-opioid receptor agonist อีกด้วย ทำให้ยามีฤทธิ์ช่วยควบคุมการทำงานของทางเดินอาหารและลดอาการปวด อีกทั้งยังช่วยลดผลที่ทำให้เกิดท้องผูกจากการเป็น μ-receptor agonist ได้อีกด้วย ยานี้ได้รับอนุญาตให้วางจำหน่ายแล้วในบางประเทศในข้อบ่งใช้หรับรักษา IBS-D ในผู้ใหญ่

อ้างอิงจาก:

(1) McDonald J, Lambert DG. Opioid receptors. BJA Education 2015, 1-6. doi: 10.1093/bjaceaccp/mku041; (2) Sobczak M, Sałaga M, Storr MA, Fichna J. Physiology, signaling, and pharmacology of opioid receptors and their ligands in the gastrointestinal tract: current concepts and future perspectives. J Gastroenterol 2014;49:24-45; (3) Garnock-Jones KP. Eluxadoline: first global approval. Drugs 2015;75:1305-10.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
irritable bowel syndrome IBS constipation-predominant IBS IBS-C diarrhea-predominant IBS IBS-D alternating-type IBS IBS-A mixed IBS IBS-M visceral hypersensitivity laxative antidiarrheal serotonin 5-HT 5-HT agonist 5-HT antagonist an
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้