หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Empagliflozin…SGLT2 inhibitor ชนิดใหม่สำหรับรักษาโรคเบาหวาน

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน สิงหาคม ปี 2557 -- อ่านแล้ว 72,189 ครั้ง
 
ยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน (antidiabetic drugs) มีมากมายหลายกลุ่ม มีการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน การคิดค้นยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์ใหม่ๆ ยังมีอย่างต่อเนื่องรวมถึงยาที่ออกฤทธิ์ต่อ sodium glucose co-transporter type 2 (SGLT2) ซึ่ง SGLT2 เป็นตัวขนส่งกลูโคส (glucose transporter) พบได้ที่ท่อไตส่วนบน ทำหน้าที่พากลูโคสที่ถูกกรองออกมากลับเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดในร่างกาย ในคนปกติปริมาณกลูโคสที่กรองผ่าน glomerulus จะถูกดูดซึมกล้บเข้าร่างกายทั้งหมดโดยอาศัย SGLT2 เป็นหลัก กรณีที่มีระดับกลูโคสในพลาสมาสูงมากเกิน (hyperglycemia) ตัวขนส่ง SGLT2 ไม่เพียงพอในการพากลูโคสกลับเข้าสู่ร่างกายจึงพบกลูโคสในปัสสาวะ (glucosuria) ด้วยเหตุนี้ยาที่ยับยั้งการทำหน้าที่ของ SGLT2 (SGLT2 inhibitors) จึงลดการดูดซึมกลับของกลูโคสที่ไต เพิ่มการขับกลูโคสออกทางปัสสาวะ ทำให้ระดับกลูโคสในเลือดลดลง จากกลไกการออกฤทธิ์ดังกล่าว SGLT2 inhibitors จึงเป็นยารักษาโรคเบาหวานที่มีฤทธิ์ “glucuretic” ซึ่ง SGLT2 inhibitors ที่วางจำหน่ายแล้วเป็นยาในกลุ่ม gliflozins เช่น canaglifozin (เป็นยาตัวแรกในกลุ่มนี้ที่วางจำหน่าย), dapagliflozin, empagliflozin ยาเหล่านี้ใช้รักษาโรคเบาหวาน type 2 ร่วมกับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย ยาทั้งสามชนิดเป็นยาเม็ดใช้รับประทาน อาจใช้แบบยาเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาอื่น เช่น metformin, sulfonylurea (เช่น glimepiride), pioglitazone, sitagliptin (ที่ร่วมหรือไม่ร่วมกับ metformin) หรือ insulin (ที่ร่วมหรือไม่ร่วมกับยาลดน้ำตาลในเลือดชนิดอื่น) ไม่ใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน type 1, ผู้ป่วยเบาหวานที่เกิดภาวะ ketoacidosis และผู้ป่วยที่ไตทำงานบกพร่องระดับปานกลางจนถึงรุนแรง ยาแต่ละชนิดอาจมีข้อควรระวังและข้อห้ามใช้ระบุไว้แตกต่างกันเล็กน้อย สำหรับ empagliflozin ซึ่งเป็นยาตัวล่าสุดในกลุ่มนี้ที่วางจำหน่ายนั้น ขนาดยาที่แนะนำให้ใช้คือ รับประทาน 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ตอนเช้า พร้อมอาหารหรือไม่พร้อมก็ได้ สามารถเพิ่มขนาดยาได้เป็น 25 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ซึ่งยาที่วางจำหน่ายมี 2 ความแรง คือ 10 และ 25 มิลลิกรัม

อ้างอิงจาก:

(1) Hasan FM, Alsahli M, Gerich JE. SGLT2 inhibitors in the treatment of type 2 diabetes. Diabetes Res Clin Pract 2014;104:297-322; (2) Canagliflozin. http://www.rxlist.com/invokana-drug.htm; (3) Dapagliflozin. http://www.rxlist.com/farxiga-drug.htm; (4) Empagliflozin. http://www.rxlist.com/jardiance-drug.htm

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
antidiabetic drug sodium glucose co-transporter type 2 SGLT2 glucose transporter glomerulus hyperglycemia glucosuria SGLT2 inhibitor gliflozin glucuretic canaglifozin dapagliflozin empagliflozin metformin sulfonylurea glimepiride pio
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้