หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เรเดียม (Radium)…ความหวังใหม่ในการรักษามะเร็งที่แพร่สู่กระดูก

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน ธันวาคม ปี 2556 -- อ่านแล้ว 22,069 ครั้ง
 
เรเดียม (radium) เป็น alkaline earth metal มีเลขอะตอม (atomic number) 88 เป็นธาตุกัมมันตรังสีชนิดเข็มข้น ไอโซโทปที่มีในธรรมชาติ ได้แก่ Ra-223, Ra-224, Ra-226 และ Ra-228 ทุกไอโซโทปเป็นสารกัมมันตรังสีที่ไม่เสถียร ซึ่ง Ra-226 จัดเป็นไอโซโทปที่เสถียรที่สุดโดยมีค่าครึ่งชีวิตประมาณ 1600 ปี และจะสลายกลายเป็นก๊าซเรดอน (radon) ปัจจุบันมีการสังเคราะห์ได้จึงมีเรเดียมไม่น้อยกว่า 34 ไอโซโทป มีเลขมวล (mass number) ตั้งแต่ 202 ถึง 234 เรเดียมเป็นธาตุที่ไม่มีความจำเป็นในการดำรงชีพของมนุษย์และจะเป็นอันตรายถ้าเข้าสู่ร่างกาย การที่เรเดียมกับแคลเซียมมีความเหมือนกันทางเคมีทำให้เรเดียมสามารถเกิดสารเชิงซ้อนกับ hydroxyapatite ของกระดูกได้เช่นเดียวกับแคลเซียม โดยเกิดที่ตรงบริเวณที่มี bone turnover สูงดังเช่นกรณีที่มี bone metastasis จึงมีการนำเรเดียมชนิดไอโซโทป Ra-223 มาใช้รักษาโรคมะเร็งที่แพร่สู่กระดูก นับเป็นความก้าวหน้าด้านการพัฒนายา radiopharmaceuticals อีกขั้นหนึ่ง สาร Ra-223 มีค่าครึ่งชีวิตเพียง 11.4 วันและพบในธรรมชาติเพียงเล็กน้อย แต่สามารถสังเคราะห์ได้จาก Ra-226

ในทางยานำเรเดียมในรูป Ra-223 dichloride ทำเป็นยาฉีดใช้รักษามะเร็งต่อมลูกหมาก (prostate cancer) ที่กระจายสู่กระดูก (bone metastasis) ซึ่งดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีการลดการสร้างฮอร์โมนเพศไม่ว่าจะด้วยยาหรือการผ่าตัด (castration-resistant prostate cancer) โดยให้ยาเข้าหลอดเลือดดำในขนาด 50 kBq (1.35 microcurie) ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ให้ทุก 4 สัปดาห์ จำนวน 6 ครั้ง สาร Ra-233 ออกฤทธิ์โดยปล่อยรังสีอัลฟา (alpha radiation) ออกมาทำลายเซลล์ รังสีอัลฟามีอำนาจทะลุทะลวงต่ำเพียง 2-10 เซลล์ จึงเป็นการออกฤทธิ์ทำลายเซลล์เฉพาะที่ นอกจากนี้การที่เรเดียมชอบจับกับ hydroxyapatite ของกระดูกจึงถือว่ายานี้เลือกออกฤทธิ์ต่อกระดูก ทำให้มีผลกระทบต่อเซลล์อื่นน้อย

จากข้อมูลการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่กระจายสู่กระดูกและดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีการลดการสร้างฮอร์โมนเพศจำนวน 809 คน ในจำนวนนี้ไม่รวมผู้ป่วยที่มะเร็งแพร่สู่อวัยวะภายใน (visceral metastasis) และผู้ที่มีมะเร็งต่อมน้ำเหลืองขนาดเกิน 3 เซ็นติเมตร แบ่งผู้ป่วยเป็นกลุ่มที่ได้รับยานี้และกลุ่มที่ไม่ได้รับ ให้ยาในขนาดที่ระบุข้างต้นร่วมกับการรักษามาตรฐาน ส่วนกลุ่มยาหลอกได้เฉพาะการรักษามาตรฐาน ประเมินผลการรักษาเป็นช่วงๆ ซึ่งผลการศึกษาล่าสุดเมื่อราวต้นปี 2556 ก่อนที่ยานี้จะได้รับอนุมัติให้จำหน่ายได้ (ในบางประเทศ) พบว่า median survival สำหรับกลุ่มที่ได้รับยานี้เท่ากับ 14.9 เดือนเทียบกับ 11.3 เดือนสำหรับกลุ่มที่ไม่ได้ยานี้ อาการไม่พึงประสงค์ของยานี้ที่พบบ่อยที่สุด (≥10%) เช่น คลื่นไส้ (nausea), อาเจียน (vomiting), ท้องเดิน (diarrhea), การบวมบริเวณส่วนปลายของอวัยวะ (peripheral edema) เช่น ขา เท้า, ผลต่อระบบเลือด (anemia, lymphocytopenia, leukopenia, thrombocytopenia และ neutropenia)



อ้างอิงจาก:

(1) http://www.fda.gov/Drugs/InformationOnDrugs/ApprovedDrugs/ucm352393.htm; (2) http://www.centerwatch.com/drug-information/fda-approved-drugs/drug/1261/xofigo-radium-ra-223-dichloride; (3) http://www.rxlist.com/xofigo-side-effects-drug-center.htm


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
radium atomic number alkaline earth metal Ra-223 Ra-224 Ra-226 Ra-228 mass number hydroxyapatite bone turnover bone metastasis radium Ra 223 dichloride prostate cancer bone metastasis castration-resistant alpha radiation kBq curie v
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้