Fluoroquinolones ชนิดรับประทาน...กับการเกิด retinal detachment
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน ตุลาคม ปี 2556 -- อ่านแล้ว 5,900 ครั้ง
Fluoroquinolones เป็นยาต้านแบคทีเรียที่ครอบคลุมเชื้อได้กว้างขวาง (broad-spectrum antibacterials) ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น norfloxacin, ciprofloxacin, levofloxacin, moxifloxacin แม้จะมีข้อมูลผลไม่พึงประสงค์ของยาในกลุ่มนี้ต่อตา แต่ยังไม่มีการกล่าวถึงความเสี่ยงของการรับประทานยากับการเกิดจอตาลอก (retinal detachment)
จอตาลอกเป็นภาวะที่เกิดการแยกหรือลอกของจอตาออกจากตำแหน่งเดิม เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้รับการรักษาเพราะอาจทำให้ตาบอดได้ อาการที่เกิด จะเห็นแสงวาบฉับพลัน เห็นจุดหรือเส้นลอยไปมา ลานสายแคบลง ตามัว สำหรับปัจจัยเสี่ยงของการเกิดจอตาลอก ได้แก่ อายุมากขึ้น เคยผ่าตัดต้อกระจก สายตาสั้นมาก การบาดเจ็บที่ตา เป็นต้น
จากข้อมูลการศึกษาทางระบาดวิทยาด้านการใช้ยาจาก British Columbia ได้รายงานถึงความสัมพันธ์ของการใช้ fluoroquinolones ชนิดรับประทานกับการเกิดจอตาลอก โดยระบุถึงจำนวนผู้ป่วยที่พบจักษุแพทย์ทั้งหมด 989,591 ราย (แยกเป็น cases−retinal detachment 4,384 รายและ controls 43,840 ราย) พบผู้ที่เกิดจอตาลอก 445 รายเป็นผู้ที่ใช้ยา fluoroquinolones ชนิดรับประทาน ในการศึกษานั้นสรุปว่าผู้ที่ใช้ยา fluoroquinolones ชนิดรับประทานมีความเสี่ยงต่อการเกิดจอตาลอกสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้ยา
Key words: fluoroquinolones, norfloxacin, ciprofloxacin, levofloxacin, moxifloxacin, retinal detachment
อ้างอิงจาก:
(1) Etminan M, Forooghian F, Brophy JM, Bird ST, Maberley D. Oral fluoroquinolones and the risk of retinal detachment. JAMA 2012;307(13):1414-9; (2) WHO Drug Information 2013;27(3):218
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
fluoroquinolones
norfloxacin
ciprofloxacin
levofloxacin
moxifloxacin
retinal detachment