เมื่อไหร่จึงควรใช้ยากลุ่ม Bisphosphonates ต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อป้องกันกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน มิถุนายน ปี 2555 -- อ่านแล้ว 2,463 ครั้ง
ยากลุ่ม Bisphosphonates มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดกระดูกหักที่มีสาเหตุจากกระดูกพรุนในผู้หญิงวัยทอง อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้ในระยะยาวอาจส่งผลให้กระดูกต้นขาหัก กระดูกขากรรไกรตาย และมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ ดังนั้นจึงควรกำหนดระยะเวลาการใช้ยาต่อเนื่องที่เหมาะสมขึ้น องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกาได้ทำการทบทวนอย่างเป็นระบบ เพื่อรวบรวมหลักฐานการศึกษาที่มีการใช้ยากลุ่มนี้ในระยะยาวสำหรับป้องกันการเกิดกระดูกหัก มีการศึกษาที่เกี่ยวข้อง 2 การศึกษา การศึกษาแรกทำในผู้หญิงวัยทองที่เป็นโรคกระดูกพรุน และ รับประทาน alendronate เป็นระยะเวลา 5 ปี และหลังจากนั้นมีการสุ่มให้ใช้ยาจริงหรือยาหลอกต่อเนื่องไปอีก 5 ปี ส่วนการศึกษาที่สองทำในผู้หญิงที่ได้รับยา zoledronic ทางหลอดเลือดปีละครั้ง ระยะเวลา 3 ปี และ อีก 3 ปีถัดมาสุ่มให้ยาจริงหรือยาหลอก จากผลการศึกษาทั้งสองทำให้ได้ข้อเสนอแนะว่า การใช้ยา Bisphosphonates ต่อเนื่องจะมีประโยชน์ในผู้หญิงที่มีค่า T-score ของกระดูกต้นขาน้อยกว่า -2.5 หลังจากการใช้ยา 3 ถึง 5 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่มีประวัติกระดูกหัก ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อกระดูกหักหรือแตก ในขณะที่ การใช้ยาต่อเนื่องในผู้หญิงที่มี ค่า T-score ของกระดูกต้นขามากกว่า -2.0 หลังจากใช้ยามาแล้ว 3 ถึง 5 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่เพิ่งหมดประจำเดือน ไม่เคยที่มีประวัติกระดูกหัก ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำต่อกระดูกหักหรือแตกกลับจะไม่มีประโยชน์เท่าใด อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากคู่มือการรักษาในปัจจุบันไม่ได้มีการระบุระยะเวลาที่แน่นอนว่าควรจะติดตามตรวจการมีกระดูกหักหรือแตกร้าวหลังจากหยุดยา อนึ่ง นี้ข้อสรุปดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงการใช้ยา risedronate และ ibandronate ต่อเนื่องได้ เนื่องจากยังไม่มีการศึกษายืนยัน