![]() |
โรคพิษสุนัขบ้าเป็นการติดเชื้อทางระบบประสาทที่เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (rabies) ที่ระยะฟักตัวก่อนที่จะแสดงอาการโดยทั่วไปใช้เวลา 2-3 เดือน และอาจจะมีระยะเวลาสั้นกว่านั้น ขึ้นกับบริเวณที่ได้รับเชื้อและปริมาณเชื้อไวรัสเรบีส์ที่ได้รับ(1) อาการของโรคพิษสุนัขบ้าจะแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1) ระยะแรกซึ่งอาการแสดงไม่จำเพาะ เช่น ไข้ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดและชาบริเวณตำแหน่งที่สัมผัสเชื้อ 2) ระยะที่มีอาการแสดงทางประสาท เช่น วิตกกังวล กระสับกระส่าย กล้ามเนื้อกระตุกขณะกลืน หรือถูกกระตุ้นจากเสียง แสง และ 3) ระยะท้ายที่มีอาการโคม่า และเสียชีวิต(2) ฉะนั้นหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเกิดอาการของโรคจะพบว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ คือ 100%
ส่วนอาการของสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ามี 2 แบบ ได้แก่ 1) อาการแบบดุร้าย คือ สัตว์มีอาการตื่นเต้น วิ่งพล่าน ไล่กัดคน ดุร้าย หลังจากนั้นจะอ่อนเพลีย ไม่มีแรง และตายในเวลาต่อมา 2) อาการแบบเซื่องซึม คือ สัตว์จะมีอาการลิ้นห้อย ปากอ้าหุบไม่ได้ ตัวแข็ง เป็นอัมพาต บางตัวอาจมีอาการชักและตายในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามสัตว์ที่ยังไม่มีอาการแสดงของโรคก็สามารถแพร่เชื้อไวรัสนี้ได้ หากทำได้จึงควรจับสัตว์นั้นขังไว้เพื่อสังเกตอาการประมาณ 10 วัน และควรได้รับการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าโดยเร็วที่สุด(3) การปฐมพยาบาลเบื้องต้นหลังจากที่โดนกัดควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ 2-3 ครั้ง แล้วทาแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น ทิงเจอร์ไอโอดีน โพวิโดไอโอดีน หรือแอลกอฮอล์สำหรับทาแผล จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า(4)
วัคซีนพิษสุนัขบ้าไม่ได้มีไว้ป้องกันแค่คนที่โดนสุนัขกัดตามชื่อวัคซีนเท่านั้น แต่วัคซีนพิษสุนัขบ้าสามารถฉีดให้กับคนที่โดนกัด ข่วน โดนน้ำลายกระเด็นหรือเลียบริเวณที่มีแผล รอยถลอก หรือบริเวณเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ปาก ตา จมูก จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว กระรอก กระต่าย หนู ลิง วัว ค้างคาว เพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ(5)
การฉีดวัคซีนมี 3 รูปแบบ ได้แก่
สำหรับผู้มีโอกาสสัมผัสเชื้อพิษสุนัขบ้า เช่น ผู้ที่เดินทางเข้าไปในถิ่นที่มีโรคพิษสุนัขบ้าชุกชุม สัตวแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานใกล้ชิดสัตว์ โดยจะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม คือ ฉีดวันที่ 0 (วันแรกที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1) ตามด้วยวันที่ 7 และ 21 หรือ 28 (นับจากวันแรกที่ได้รับวัคซีน) ดังภาพที่ 1
ภาพที่ 1 การฉีดวัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้า (pre-exposure prophylaxis)
มีวิธีการฉีดวัคซีน 2 วิธี คือ
- 1-1-1-1-1 คือ ฉีดวัคซีนครั้งละ 1 เข็มในวันที่ 0 (วันแรกที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1) ตามด้วยวันที่ 3, 7, 14 และ 30 (นับจากวันแรกที่ได้รับวัคซีน) ซึ่งเป็นแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (intramuscular, IM) โดยในวันแรกผู้ป่วยอาจได้รับวัคซีนร่วมกับการฉีดภูมิคุ้มกันต้านพิษสุนัขบ้า (Rabies Immune Globulin, RIG) รอบบาดแผลร่วมด้วย ดังภาพที่ 2
ภาพที่ 2 การให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่ผู้สัมผัสโรค (post-exposure prophylaxis) แบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (IM)
- 2-2-2-0-2 คือ การฉีดวัคซีนครั้งละ 2 เข็มในวันที่ 0 (วันแรกที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1) ตามด้วยวันที่ 3, 7 และ 30 (นับจากวันแรกที่ได้รับวัคซีน) ซึ่งเป็นแบบฉีดเข้าในผิวหนัง (intradermal, ID) โดยในวันแรกผู้ป่วยอาจได้รับวัคซีนร่วมกับ RIG ที่ฉีดรอบบาดแผลเช่นกัน ดังภาพที่ 3
ภาพที่ 3 การให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่ผู้สัมผัสโรค (post-exposure prophylaxis) แบบฉีดเข้าในผิวหนัง (ID)
สำหรับผู้สัมผัสโรคที่เคยได้รับวัคซีนแบบก่อนสัมผัสโรคครบ หรือ ได้รับวัคซีนแบบหลังสัมผัสโรคมาก่อนอย่างน้อย 3 เข็ม และสามารถให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นโดยไม่ต้องให้ RIG ซึ่งจะพิจารณาจากระยะเวลาตั้งแต่ได้รับวัคซีนครั้งสุดท้ายจนถึงวันที่สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าครั้งนี้ แบ่งได้ 2 กรณี คือ
- สัมผัสโรคภายใน 6 เดือน: ให้ฉีดวัคซีนครั้งเดียวในวันแรก
- สัมผัสโรคหลังจาก 6 เดือนขึ้นไป: ให้ฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ในวันที่ 0 และ 3
อาการที่อาจพบ ได้แก่ ปวด แดง ร้อน คัน บริเวณที่ฉีด มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ลมพิษ กรณีได้รับวัคซีนกระตุ้นซ้ำบ่อย ๆ แต่โดยทั่วไปวัคซีนพิษสุนัขบ้าจัดว่ามีความปลอดภัย ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ค่อนข้างน้อย
ตอบ ไม่จำเป็นต้องฉีดทุกคน โดยพิจารณาจากระดับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ดังตารางที่ 1 ผู้ที่ควรได้รับ RIG เป็นผู้ที่อยู่ในระดับความเสี่ยงกลุ่มที่ 3 คือ มีลักษณะการสัมผัสที่เกิดจากการ ถูกกัดทะลุผ่านผิวหนังและมีเลือดออก ถูกเลียหรือน้ำลาย สิ่งคัดหลั่ง มาสัมผัสบริเวณเยื่อบุตา ปาก จมูก และรับประทานอาหารดิบที่ปรุงจากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
ตารางที่ 1 ระดับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า
ระดับความเสี่ยง |
ลักษณะการสัมผัส |
กลุ่มที่ 1: การสัมผัสที่ไม่ติดโรค |
การสัมผัสสัตว์ ที่ผิวหนังไม่มีแผลหรือรอยถลอก |
กลุ่มที่ 2: การสัมผัสที่มีโอกาสติดโรค |
การสัมผัสสัตว์ ที่ผิวหนังเป็นรอยถลอก ไม่มีเลือดออก หรือเลือดออกซิบ ๆ |
กลุ่มที่ 3: การสัมผัสที่มีโอกาสติดโรคสูง |
การสัมผัสสัตว์ ที่ผิวหนังเกิดแผลหรือมีเลือดออก หรือ การรับประทานอาหารดิบที่ปรุงจากสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า |
ตอบ สามารถรับวัคซีนพิษสุนัขบ้า และ RIG ได้ เนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อตาย
ตอบ การถูกสัตว์สัมผัส โดยไม่มีรอยถลอกหรือไม่มีแผล และไม่มีเลือดออก ถือว่าอยู่ในระดับความเสี่ยงกลุ่มที่ 1 คือการสัมผัสแบบไม่ติดโรค ดังตารางที่ 1 สามารถปฏิบัติตัวโดยการล้างบริเวณที่ถูกสัมผัสก็เพียงพอ แต่ทั้งนี้ควรพิจารณาถึงประวัติของสัตว์ที่สัมผัสร่วมด้วย โดยลักษณะของสัตว์ที่สัมผัสหากมีอาการต้องสงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ให้ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า และ RIG พร้อมทั้งกักขังสัตว์ที่สัมผัสเพื่อดูอาการ แต่ถ้าไม่สามารถกักขังสัตว์ที่สัมผัส สัตว์ป่า หรือ จำสัตว์ที่สัมผัสไม่ได้ จะถือว่าสัตว์ที่สัมผัสเป็นพิษสุนัขบ้าและควรได้รับการรักษาแบบเดียวกับการให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่ผู้สัมผัสโรค (post-exposure prophylaxis)
ตอบ การฉีดวัคซีนคลาดเคลื่อน 2-3 วัน สามารถให้ต่อเนื่องไปได้โดยไม่ต้องเริ่มฉีดใหม่ แต่การฉีดวัคซีนให้ได้ 3 เข็ม ภายใน 7 วันหลังจากฉีดเข็มแรก ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอก่อนที่จะถึงระยะฟักตัวของโรค ฉะนั้นการฉีด 3 เข็มแรกควรมาให้ตรงตามกำหนดนัด
ตอบ ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคพิษสุนัขบ้า และหากปล่อยให้เกิดอาการแสดงของโรค อัตราการเสียชีวิตเป็น 100 % ฉะนั้นนอกจากการหลีกเลี่ยง ป้องกันตัวเองไม่ให้อยู่ในที่สุ่มเสี่ยงแล้ว การฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้าก็อาจเป็นทางอีกทางเลือกในบุคคลที่เลี้ยงหรือทำงานร่วมกับสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม บุคคลที่อาศัยหรือผ่านบริเวณที่มีสัตว์จรจัด หรือ บุคคลที่อาศัยอยู่ในเขตที่มีการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า(3)
ตอบ การฉีดวัคซีนควรได้รับวัคซีนแบบเดิมตลอดจนครบตามกำหนด แต่หากมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนยี่ห้อ วิธีการฉีดวัคซีน ก็สามารถเปลี่ยนได้ แต่หลังจากเปลี่ยนแล้วควรฉีดด้วยยี่ห้อและวิธีการฉีดนั้นต่อจนครบ
1. Rabies-Bulletin-Europe. Sign of rabies [Internet]. [cited 2025 Feb 7]. Available from: https://www.who-rabies-bulletin.org/site-page/signs-rabies.
2. U.S. Department of Health & Human Service. Rabies [Internet]. 2024 [cited 2025 Feb 7]. Available from: https://wwwnc.cdc.gov/travel/yellowbook/2024/infections-diseases/rabies.
3. สถานเสาวภา สภากาชาดไทย. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2568]. เข้าถึงได้จาก: https://www.saovabha.org/download/vaccinemethod_ beforeahead.pdf.
4. กลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางเวชปฏิบัติโรคพิษสุนัขบ้าและคำถามที่พบบ่อย [อินเทอร์เน็ต]. 2556 [เข้าถึงเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2568]. เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/1478520231024042510.pdf.
5. สถานเสาวภา สภากาชาดไทย. โรคพิษสุนัขบ้า [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2568]. เข้าถึงได้จาก: https://www.saovabha.org/download/hydrophobia.pdf.
6. World Health Organization. Frequently asked questions about rabies for clinicians [Internet]. 2018 [cited 2025 Feb 21]. Available from: https://cdn.who.int/media/docs/default-source/ntds/rabies/rabies-clinicians-faqs-20sep2018.pdf?sfvrsn=97d94712_4.
7. World Health Organization. Rabies vaccines [internet]. 2018 [cited 2025 Feb 21] https://iris. who.int/bitstream/handle/10665/272372/WER9316-201-219.pdf?sequence=1.
![]() |