หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ตกขาวอาจหายได้ไม่ยาก หากไปร้านยา

โดย นศภ.วีระเกียรติ เกาะกายสิทธิ์ ภายใต้คำแนะนำของ รศ.ดร.ภก.กฤษณ์ ถิรพันธุ์เมธี เผยแพร่ตั้งแต่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2568 -- 1,151 views
 

ตกขาวคืออะไร(1)

ตกขาวเป็นลักษณะปกติที่เกิดขึ้นได้ในผู้หญิงทั่วไป เนื่องจากที่ผนังด้านในช่องคลอดสร้างสารเมือกที่มีลักษณะคล้ายแป้งเปียกเพื่อช่วยหล่อลื่นช่องคลอด ช่วยขับสิ่งแปลกปลอม และปรับสภาพความเป็นกรดด่างในช่องคลอด แต่สารเมือกนี้มักไม่มีกลิ่นและไม่ทำให้เกิดอาการคันหรือระคายเคือง และมักหายได้เองโดยไม่ต้องให้การรักษาใด ๆ

ตกขาวผิดปกติ(1)

ตกขาวที่ผิดปกติอาจพบได้ทั้งการเปลี่ยนแปลงของกลิ่นและสี หรือมีลักษณะข้นคล้ายตะกอนนม มีฟอง มีปริมาณมากผิดปกติ และอาจมีอาการคันหรืออักเสบบวมแดงที่อวัยวะเพศร่วมด้วย ลักษณะเหล่านี้ขึ้นกับสาเหตุที่แตกต่างกัน เช่น จากการติดแบคทีเรีย (bacterial vaginosis) พยาธิ (trichomoniasis) หรือเชื้อรา (vulvovaginal candidiasis) นอกจากนี้พฤติกรรมบางอย่างอาจส่งเสริมให้เกิดตกขาวผิดปกติได้ง่าย เช่น การฉีดล้างช่องคลอด การใช้สบู่หอม การใช้สารฆ่าอสุจิ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้เกิดการแพ้หรือระคายเคืองช่องคลอด ทั้งนี้การลดลงของฮอร์โมนเพศหญิงในวัยหมดประจำเดือนจะทำให้เยื่อบุช่องคลอดบางลง ก็ทำให้ช่องคลอดเกิดอาการคันและแสบร้อนได้เช่นกัน สำหรับการตกขาวจากสาเหตุต่าง ๆ มีสาเหตุ อาการ ปัจจัยเสี่ยง รวมถึงวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน

โรคแบคทีเรียในช่องคลอด (bacterial vaginosis)

สาเหตุ: เกิดจากการลดลงของแบคทีเรียชนิด lactobacilli ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียก่อโรคในช่องคลอด ทำให้แบคทีเรียก่อโรคมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนเกิดการอักเสบของช่องคลอด(3)

อาการ: ตกขาวสีเทา มีกลิ่นเหม็นเหมือนคาวปลา คัน อาจมีปัสสาวะแสบขัดหรือเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ร่วมด้วย บางรายอาจไม่แสดงอาการผิดปกติ(2)

ปัจจัยเสี่ยง: การสวนล้างช่องคลอด การคุมกำเนิดโดยการใส่ห่วงอนามัย อาจเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรืออาหารบางอย่าง เช่น ของหมักดอง ของคาวจัด(3)

การรักษา(2)

ยาที่แนะนำเป็นลำดับแรก

metronidazole 400 mg รับประทานวันละ 2 ครั้ง 7 วัน

metronidazole 750 mg เหน็บช่องคลอดวันละครั้ง 7 วัน

ยาทางเลือก

tinidazole 2 g รับประทานวันละครั้ง 2 วัน

tinidazole 1 mg รับประทานวันละครั้ง 5 วัน

clindamycin 300 mg รับประทานวันละ 2 ครั้ง 7 วัน

*แนะนำไม่ให้ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ระหว่างการรักษารวมถึง 24 ชั่วโมง หลังรับประทาน metronidazole และ 72 ชั่วโมง หลังรับประทาน tinidazole เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการ disulfram-like reaction (มีอาการหน้าร้อนวูบวาบ ปวดศีรษะ หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก เป็นต้น)(2)

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา: อาจมีอาการปวดท้องและคลื่นไส้(2)

การรักษาคู่นอน: ไม่จำเป็นต้องรักษาคู่นอน(3)

หญิงตั้งครรภ์/หญิงให้นมบุตร(2)

- หญิงตั้งครรภ์ให้ใช้ metronidazole ได้เหมือนบุคคลทั่วไป

- หญิงให้นมบุตรที่ใช้ metronidazole แนะนำให้เลื่อนการให้นมบุตรหลังรับประทานยา นาน 12-24 ชั่วโมง

- ไม่ควรให้ tinidazole ในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจน

โรคพยาธิในช่องคลอด (trichomoniasis)

สาเหตุ: เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวชื่อ Trichomonas vaginalis ซึ่งมีขนาดเล็กใกล้เคียงเม็ดเลือดขาว (มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น) เชื้อนี้มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลาทำให้เกิดการระคายเคืองมาก สามารถตรวจพบได้ในน้ำอสุจิและน้ำในช่องคลอด(4)

อาการ: ตกขาวสีเหลืองออกเขียว มีกลิ่น อาจมีอาการแสบระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศ ปากมดลูกอักเสบ(2)

ปัจจัยเสี่ยง: เปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีประวัติในการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ(4)

การรักษา(2)

ยาที่แนะนำในการรักษา

metronidazole 2 g รับประทานครั้งเดียว

metronidazole 400-500 mg รับประทานวันละ 2 ครั้ง 5-7 วัน

ยาทางเลือก

tinidazole 2 g รับประทานวันครั้งเดียว หากยังมีอาการให้ใช้

- metronidazole 2 g รับประทานวันละครั้ง 5-7 วัน หรือ

- metronidazole 800 mg รับประทานวันละ 3 ครั้ง 7 วัน

*แนะนำไม่ให้ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ระหว่างการรักษารวมถึง 24 ชั่วโมง หลังรับประทาน metronidazole และ 72 ชั่วโมง หลังรับประทาน tinidazole เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการ disulfram-like reaction (มีอาการหน้าร้อนวูบวาบ ปวดศีรษะ หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก เป็นต้น)(2)

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา: ทั้งแบบยาเม็ดรับประทานหรือยาเหน็บ อาจมีอาการปวดท้อง และคลื่นไส้(2)

การรักษาคู่นอน: คู่นอนควรได้รับการแนะนำให้มาตรวจรักษาและให้การรักษาเช่นเดียวกับผู้ป่วย(2)

หญิงตั้งครรภ์/หญิงให้นมบุตร(2)

- หญิงตั้งครรภ์ให้ใช้ metronidazole ได้เหมือนบุคคลทั่วไป

- หญิงให้นมบุตรให้ใช้ metronidazole 2 g และแนะนำให้เลื่อนการให้นมบุตรหลังรับประทานยา นาน 12-24 ชั่วโมง

- ไม่ควรให้ tinidazole ในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจน

โรคเชื้อราในช่องคลอด (vulvovaginal candidiasis)

สาเหตุ: เชื้อราชนิดที่สัมพันธ์กับการเกิดอาการช่องคลอดอักเสบส่วนใหญ่ คือ Candida albicans เพราะเป็นเชื้อที่สามารถยึดติดกับเซลล์เยื่อบุช่องคลอดได้ดี(5)

อาการ: ตกขาวลักษณะคล้ายตะกอนนม คันและช่องคลอดแดงอักเสบบวม หรือมีรอยแตก ปัสสาวะแสบขัด(2)

ปัจจัยเสี่ยง: การใช้ยาปฏิชีวนะติดต่อกันเป็นเวลานาน ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่ได้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้รับการบำบัดด้วยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์(5)

การรักษาเชื้อราในช่องคลอด(2)

ชนิดเฉียบพลัน

- clotrimazole 500 mg เหน็บช่องคลอดครั้งเดียว

- clotrimazole 200 mg เหน็บช่องคลอด 3 วัน

- clotrimazole 100 mg เหน็บช่องคลอด 6-7 วัน

- miconazole 200 mg เหน็บช่องคลอด 3 วัน

- fluconazole 150-200 mg รับประทานครั้งเดียว

- itraconazole 200 mg รับประทานวันละ 2 ครั้ง 1 วัน

ชนิดเรื้อรัง (เป็นซ้ำบ่อยตั้งแต่ 4 ครั้งต่อปีขึ้นไป)

- clotrimazole 100 mg เหน็บช่องคลอด 14 วัน จากนั้น clotrimazole 500 mg เหน็บช่องคลอด สัปดาห์ละครั้ง 6 เดือน

- fluconazole 100-200 mg รับประทานทุก 3 วัน 3 ครั้ง ตามด้วย fluconazole 100-200 mg รับประทานทุกสัปดาห์ 6 เดือน

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา(2)

- ยาเฉพาะที่ไม่พบผลข้างเคียงต่อร่างกาย แต่อาจมีอาการแสบร้อนเฉพาะที่

- ยารับประทานอาจมีอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง ปวดศีรษะ

การรักษาคู่นอน: หากมีอาการคันและอักเสบแดงของอวัยวะเพศ ให้ยาทาฆ่าเชื้อราเพื่อการรักษา(2)

หญิงตั้งครรภ์/หญิงในระยะให้นมบุตร(2)

- ห้ามใช้ยารับประทาน ให้ใช้ clotrimazole 500 mg เหน็บช่องคลอด ครั้งเดียว หรือ clotrimazole 200 mg เหน็บช่องคลอด วันละครั้ง นาน 3 วัน

- หากอาการยังไม่ดีขึ้นหลังรักษาระยะสั้น ให้ใช้ clotrimazole 100 mg เหน็บช่องคลอด วันละครั้ง นาน 7-14 วัน

บทสรุป

ตกขาวเป็นภาวะที่พบได้ทั่วไปในผู้หญิง แต่เมื่อตกขาวมีสี กลิ่น ลักษณะ หรือปริมาณที่ผิดปกติ อาจเกิดจากการติดเชื้อรา แบคทีเรีย หรือพยาธิ โดยเภสัชกรสามารถช่วยประเมินอาการและจัดหายาเฉพาะที่หรือยารับประทานที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยได้ รวมถึงให้คำแนะนำในการดูแลตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น การสวนล้างช่องคลอดหรือการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อการระคายเคือง ร้านยายังเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ลดความกังวล และประหยัดเวลาโดยไม่ต้องรอพบแพทย์ในกรณีที่อาการไม่รุนแรง ทั้งนี้หากอาการไม่ดีขึ้น การไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อการวินิจฉัยเพิ่มเติมยังคงเป็นสิ่งสำคัญ

เอกสารอ้างอิง

  1. ศรีจันทร์ พรจิราศิลป์. ตกขาวรักษาอย่างไร. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. [อินเทอร์เน็ต]. 9 พฤษภาคม 2559 [เข้าถึงเมื่อ 13 ม.ค. 2568]. เข้าถึงได้จาก : https://pharmacy.mahidol.ac.th/ th/knowledge/article/312/ตกขาวรักษาอย่างไร/.
  2. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ. 2567. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด สำนักพิมพ์อักษรกราฟฟิกแอนด์ดีไซน์; 2567.
  3. ขวัญจิตร เหล่าทอง, เพียงเพ็ญ ธัญญะตุลย์. โรคช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย [อินเทอร์เน็ต]. 1 สิงหาคม 2554 [เข้าถึงเมื่อ 13 ม.ค. 2568]. เข้าถึงได้จาก : https://www.si.mahidol.ac.th/th/ healthdetail.asp?aid=896.
  4. เจนจิต ฉายะจินดา. โรคติดเชื้อระบบสืบพันธุ์น่ารู้ โรคพยาธิในช่องคลอด [อินเทอร์เน็ต]. 4 กุมภาพันธ์ 2557 [เข้าถึงเมื่อ 13 ม.ค. 2568]. เข้าถึงได้จาก : https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid= 1089.
  5. เจนจิต ฉายะจินดา. เชื้อราในช่องคลอด [อินเทอร์เน็ต]. 20 เมษายน 2554 [เข้าถึงเมื่อ 13 ม.ค. 2568]. เข้าถึงได้จาก : https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=867.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ตกขาว แบคทีเรียในช่องคลอด เชื้อราในช่องคลอด พยาธิในช่องคลอด
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้