หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สเตียรอยด์ (steroid) ยาดีครอบจักรวาลจริงหรือ?

โดย นศภ.จารุพร เอกอัครายุทธ ภายใต้คำแนะนำของ ผศ.ดร.ภก.สุรศักดิ์ วิชัยโย เผยแพร่ตั้งแต่ 25 เมษายน พ.ศ.2568 -- 1,939 views
 

เคยได้ยินหรือไม่ว่ามียาที่รักษาได้สารพัดโรค? ทั้งผื่นคัน อาการอักเสบต่าง ๆ ปวดข้อ จนถึงโรคแพ้ภูมิตนเอง หนึ่งในยาที่หลายคนเชื่อว่ามีคุณสมบัติแบบนั้น คือ ‘สเตียรอยด์’ ที่ดูเหมือนจะเป็นคำตอบของทุกปัญหาสุขภาพ แต่ในความเป็นจริงแล้วสเตียรอยด์เป็นยาครอบจักรวาลที่ปลอดภัยจริงหรือ? แล้วการใช้สเตียรอยด์อย่างไม่เหมาะสมมีผลข้างเคียงอย่างไร? มาทำความรู้จักกับยานี้ไปพร้อมกัน

สเตียรอยด์ คือยาอะไรกันแน่

จริง ๆ แล้วสเตียรอยด์ (steroids) หรือคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) คือ ฮอร์โมนที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นได้เองจากต่อมหมวกไต (ต่อมขนาดเล็กตั้งอยู่ด้านบนไต) สเตียรอยด์มีหน้าที่หลายอย่าง เช่น ยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเพื่อลดการอักเสบในร่างกาย ควบคุมการตอบสนองต่อความเครียด รวมทั้งกระตุ้นการสร้างน้ำตาลกลูโคสและการสลายไขมัน เพื่อนำไปใช้เป็นแหล่งพลังงานภายในร่างกาย(1) แต่สเตียรอยด์ที่ใช้เป็นยานั้นถูกสังเคราะห์ขึ้น และมักมีความแรงมากกว่าสเตียรอยด์ตามธรรมชาติ ยานี้สามารถลดการอักเสบและอาการแพ้ได้ดี เนื่องจากมีฤทธิ์กดการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันในร่างกาย ดังนั้นจึงมีบทบาทในการรักษาโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันทำงานมากเกินหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบหลายชนิด เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหืด/หอบหืด ข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคลำไส้อักเสบ และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง(2,3) จนบางครั้งถูกเรียกว่ายาครอบจักรวาล

ชนิดและรูปแบบของยาสเตียรอยด์

สเตียรอยด์มีหลายชนิดและมีความแรงแตกต่างกัน (ตารางที่ 1) อีกทั้งยังมีหลายรูปแบบ ได้แก่ ยารับประทาน ยาสูดพ่น ยาพ่นจมูก ยาทาผิวหนัง ยาฉีดและยาใช้เฉพาะที่ (เช่น หยอดหู หยอดตา เหน็บทวารหนัก) การเลือกใช้ยาแต่ละรูปแบบขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดโรค เช่น โรคสะเก็ดเงินเหมาะกับการใช้ยาทาผิวหนัง หรือโรคหืดเหมาะกับการใช้ยาสูดพ่น ซึ่งการใช้สเตียรอยด์ที่ออกฤทธิ์เฉพาะบริเวณที่เกิดโรคจะช่วยลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ส่วนรูปแบบรับประทานและยาฉีดมีโอกาสที่ยาจะกระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากกว่า จึงเสี่ยงที่จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยามากกว่า โดยเฉพาะเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน(4)

ตารางที่ 1 ตัวอย่างสเตียรอยด์ตามความแรงและรูปแบบการใช้ยา

ความแรง

ยารับประทาน(5)

ยาทาผิวหนัง(6)

ยาสูดพ่น*(7)

ต่ำ

- hydrocortisone

- fluocinolone 0.01%

- hydrocortisone 1%

- triamcinolone acetonide 0.02%

- beclometasone dipropionate ขนาด 200-500 ไมโครกรัมต่อวัน

- budesonide ขนาด 200-400 ไมโครกรัมต่อวัน

- fluticasone propionate ขนาด 100-250 ไมโครกรัมต่อวัน

ปานกลาง

- prednisolone

- methylprednisolone

- betamethasone valerate 0.1%

- mometasone furoate 0.1%

- triamcinolone acetonide 0.1%

- beclometasone dipropionate ขนาด 500-1000 ไมโครกรัมต่อวัน

- budesonide ขนาด 400-800 ไมโครกรัมต่อวัน

- fluticasone propionate ขนาด 250-500 ไมโครกรัมต่อวัน

สูง

- dexamethasone

- clobetasol propionate 0.05%

- betamethasone dipropionate 0.05%

- desoximetasone 0.25%

- beclometasone dipropionate ขนาดมากกว่า 1000 ไมโครกรัมต่อวัน

- budesonide ขนาดมากกว่า 800 ไมโครกรัมต่อวัน

- fluticasone propionate ขนาดมากกว่า 500 ไมโครกรัมต่อวัน

*เป็นการจัดความแรงสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป

ประโยชน์ของสเตียรอยด์ในการรักษาโรค

สเตียรอยด์เป็นยาที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคหลายประเภท โดยเฉพาะในผู้ที่มีความผิดปกติจากระบบภูมิคุ้มกัน ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างประโยชน์ของสเตียรอยด์ในโรคหืดและโรคแพ้ภูมิตนเอง ซึ่งมีสาเหตุจากการทำงานผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันแล้วกระตุ้นให้เกิดการอักเสบและทำลายเนื้อเยื่อ(2,3)

  • สเตียรอยด์ชนิดสูดพ่น จัดเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมอาการของโรคหืดและป้องกันการกำเริบในระยะยาว จึงเป็นยาอันดับแรกในการรักษาโรคหืด เนื่องจากมีฤทธิ์ลดการอักเสบในทางเดินหายใจ และลดการตอบสนองไวเกินของทางเดินหายใจต่อสิ่งกระตุ้น(8)
  • สเตียรอยด์ชนิดรับประทาน เป็นหนึ่งในยาอันดับแรกในการรักษาโรคแพ้ภูมิตนเอง เนื่องจากยาออกฤทธิ์แรงและเร็วในการกดภูมิคุ้มกันและลดการอักเสบ จึงเหมาะสำหรับควบคุมอาการของโรคและป้องกันการกำเริบในระยะยาว อีกทั้งยังช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ และลดอัตราการเสียชีวิต(9)

อาการข้างเคียงจากการใช้สเตียรอยด์

อาการข้างเคียงของสเตียรอยด์จะน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับความแรงของยาและระยะเวลาการใช้ยา โดยอาจพบอาการข้างเคียงเล็กน้อย (หรือไม่พบ) จากสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่น ยาทาผิวหนัง และยาใช้เฉพาะที่ เนื่องจากยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อย เช่น ติดเชื้อราในช่องปากหรือภาวะเสียงแหบจากการใช้ยาสูดพ่นที่ไม่ถูกต้อง(7) หรืออาจพบผิวหนังบาง เป็นสิวหรือผื่นจากการใช้สเตียรอยด์ทาผิวหนัง(6,10) เป็นต้น ส่วนยารับประทานและยาฉีด โดยเฉพาะหากต้องใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานานและขนาดยาที่มีความแรงสูง อาจพบอาการข้างเคียงที่รุนแรง ได้แก่ แผลในกระเพาะอาหาร โรคกระดูกพรุน ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคอ้วนที่มีไขมันสะสมในช่องท้อง บริเวณหลังคอมีลักษณะปูดนูนจากการมีก้อนเนื้อและไขมันสะสม โรคต้อหิน โรคต้อกระจก เกิดการตายของเนื้อเยื่อกระดูกแบบไม่มีเลือดมาเลี้ยง มีการติดเชื้อ และพบการเจริญเติบโตช้าในเด็ก(1)

อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยบางรายที่จำเป็นต้องใช้สเตียรอยด์ต่อเนื่องภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อให้เกิดประโยชน์จากการใช้สเตียรอยด์มากที่สุด และมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด

พฤติกรรมการใช้ยาสเตียรอยด์แบบผิด ๆ

ปัจจุบันพบว่ามีการใช้สเตียรอยด์ชนิดทาผิวหนังอย่างแพร่หลายโดยปราศจากคำแนะนำหรือคำสั่งใช้ยาจากบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งสาเหตุหลักของการใช้สเตียรอยด์ในลักษณะนี้ คือ ความต้องการให้ผิวขาวขึ้น รองลงมา คือ การใช้เพื่อรักษาฝ้า รักษาสิว หรือโรคผิวหนังอื่น ๆ เช่น กลาก แท้จริงแล้วสเตียรอยด์ชนิดทาผิวหนังสามารถทำให้ผิวขาวขึ้นได้ในช่วงแรก เนื่องจากผลการลดอักเสบและทำให้ชั้นผิวหนังบางลง(10) อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงข้างต้นเป็นเพียงผลชั่วคราว การใช้ต่อเนื่องอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวบางลงและไวต่อแสง ซึ่งส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการระคายเคืองผิวหนัง ในบางรายหลังจากหยุดใช้ยาพบว่าผิวเกิดจุดด่างดำหรือผื่น(6) นอกจากนี้อาจมีผู้ใช้บางรายที่ไม่พบผลข้างเคียงในระยะแรกจนเกิดความเข้าใจผิดว่ายานี้ปลอดภัย นำไปสู่การใช้สเตียรอยด์อย่างต่อเนื่องโดยไม่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ(10) รวมถึงบางรายอาจใช้สเตียรอยด์ชนิดทาผิวหนังโดยไม่รู้ตัว เช่น การใช้เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผมที่ผสมสเตียรอยด์ ซึ่งผู้ผลิตไม่ได้ระบุส่วนประกอบนี้อย่างชัดเจนบนฉลาก

การใช้สเตียรอยด์ชนิดสูดพ่นแบบผิด ๆ มักเกิดขึ้นจากการใช้ยาโดยปราศจากข้อบ่งใช้ที่เหมาะสมหรือความเข้าใจผิดของผู้ป่วยเอง เนื่องจากอาจเป็นยาที่เคยให้ผลการรักษาที่ดีจากการใช้ในระยะสั้นหรือชั่วคราวในอดีต(11) ซึ่งการใช้ยาไม่ตรงกับโรคส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นโดยไม่เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ และยังเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการข้างเคียงจากยา อีกทั้งการที่ผู้ใช้ยาเข้าใจผิดและเชื่อฝังใจว่าตนเองเป็นผู้ป่วยโรคหืด ทำให้ยากต่อการแก้ไขความเชื่อนี้ในภายหลัง ส่งผลให้เกิดการวางแผนการรักษาที่ไม่เหมาะสมในระยะยาว(12) นอกจากนี้การสูดพ่นยาไม่ถูกวิธี เช่น กดพ่นยาในปริมาณที่มากเกินไป ใช้เครื่องมือพ่นยาไม่ถูกต้อง และการไม่ล้างปากหลังใช้ยา อาจนำมาซึ่งผลเสียจากการใช้ยา(7,13)

การใช้สเตียรอยด์ชนิดรับประทานอย่างผิดวัตถุประสงค์ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญในปัจจุบัน โดยพบว่ามีการใช้ยาอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์และมีความเชื่อแบบผิด ๆ เช่น ใช้เพื่อเพิ่มน้ำหนักตัว สร้างความรู้สึกเคลิ้มสุข หรือใช้รักษาโรคต่าง ๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัย(14) โดยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่ามีการใช้ สเตียรอยด์รักษาตนเองอย่างแพร่หลายในบางประเทศโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ และกระดูกหัก(15) นอกจากนี้พบการขายยาชุดที่ประกอบด้วยสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน รวมถึงการลักลอบผสมสารสเตียรอยด์ในยาแผนโบราณ เช่น ยาลูกกลอน ยาแคปซูลสมุนไพร ยาน้ำแผนโบราณ และน้ำสมุนไพร(16) เพื่อช่วยให้เกิดผลการรักษา ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง(17) ดังนั้นผู้ป่วยและผู้บริโภคควรรู้เท่าทันเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยสามารถสอบถามข้อมูลเบื้องต้นได้จากเภสัชกรร้านยาใกล้บ้าน

บทสรุป

แม้ว่าสเตียรอยด์จะเป็นยาที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันและการอักเสบ เช่น โรคหืด ข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคแพ้ภูมิตนเอง จนทำให้ยานี้ถูกมองว่าเป็น "ยาครอบจักรวาล" แต่การใช้สเตียรอยด์อย่างไม่เหมาะสมหรือเกินความจำเป็น เช่น ใช้ทาผิวหนังเพื่อให้ผิวขาว หรือใช้ยาชุดและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ร่วมกับความเชื่อแบบผิด ๆ อาจนำไปสู่ผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น เกิดแผลเลือดออกในทางเดินอาหาร ระดับน้ำตาลในเลือดสูง โรคกระดูกพรุน และการติดเชื้อ ดังนั้นการใช้ยาสเตียรอยด์ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชกร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการรักษาโรคและมีความปลอดภัยจากการใช้ยา

เอกสารอ้างอิง

  1. Thau L, Gandhi J, Sharma S. Physiology, cortisol. In: editors. StatPearls. Florida (USA): StatPearls Publishing; 2023.
  2. Ramamoorthy S, Cidlowski JA. Corticosteroids: mechanisms of action in health and disease. Rheum Dis Clin North Am. 2016; 42(1):15-31.
  3. Williams DM. Clinical pharmacology of corticosteroids. Respir Care. 2018; 63(6):655-70.
  4. Nazir A, Masih M, Iqbal M. Formulation, optimization, qualitative and quantitative analysis of new dosage form of corticosteroid. Futur J Pharm Sci. 2021; 7:1-11.
  5. Liu D, Ahmet A, Ward L, Krishnamoorthy P, Mandelcorn ED, Leigh R, et al. A practical guide to the monitoring and management of the complications of systemic corticosteroid therapy. Allergy Asthma Clin Immunol. 2013; 9:1-25.
  6. Ference JD, Last AR. Choosing topical corticosteroids. Am Fam Physician. 2009; 79(2):135-40.
  7. Global Initiative for Asthma. Global Strategy for Asthma Management and Prevention, 2024. Updated May 2024. Available from: www.ginasthma.org.
  8. Barnes PJ. Inhaled corticosteroids. Pharmaceuticals. 2010; 3(3):514-40.
  9. Enríquez ME, Cuadrado MJ. Steroids in Lupus: Enemies or Allies. J Clin Med. 2023; 12(11):3639.
  10. Dey VK. Misuse of topical corticosteroids: A clinical study of adverse effects. Indian Dermatol Online J. 2014; 5(4):436-40.
  11. Mulavelil R, Finny P, David A, Samuel PS, Armstrong LJ. Glucocorticoid use and misuse in a rural community of Kerala, India. Indian J Endocrinol Metab. 2022; 26(3):234-8.
  12. Lucas AE, Smeenk FW, Smeele IJ, Van SCP. Overtreatment with inhaled corticosteroids and diagnostic problems in primary care patients, an exploratory study. Fam Pract. 2008; 25(2):86-91.
  13. คณะอนุกรรมการอบรมความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม. คู่มือทักษะตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม(สมรรถนะร่วม) พ.ศ. 2562. พิมพ์ครั้งที่ 1. นนทบุรี: บริษัท เอช อาร พริ้นซ์ แอนด์ เทรนนิ่ง จำกัด; 2562.
  14. Younis AA, Al-Admawi WI, Moselhy HF. The Abuse of Corticosteroids Among Iraqis for Weight Gain Purpose in Babylon, Iraq: A Unique Experience. Addict Disord Their Treat. 2009; 8(2):111-5.
  15. Nappi E, Keber E, Paoletti G, Casini M, Carosio C, Romano F, et al. Oral corticosteroid abuse and self-prescription in Italy: a perspective from community pharmacists and sales reports before and during the COVID-19 era. J Pers Med. 2023; 13(5):833.
  16. สมฤดี บุญมี, พิมลลดา ไชยรัตน์. การปลอมปนสเตียรอยด์ในยาแผนโบราณและยาสมุนไพรในจังหวัดกระบี่ พังงา และภูเก็ต ระหว่าง พ.ศ.2559-2562. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. 2020; 62(4):384-94.
  17. Nantana K, Prakorn N. Steroid in herbal drug at the 4th Public Health Region. Reg 4 Med J. 2001; 20(3):123-8.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
สเตียรอยด์ ประโยชน์ ผลเสีย
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้