![]() |
ภาวะหมดประจำเดือน (menopause) หลังจากระบบสืบพันธุ์ทำงานลดลงพบในผู้หญิงทุกคน ทำให้ผู้ที่เข้าสู่วัยทองต้องเผชิญกับสภาวะของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปตามระดับของฮอร์โมนที่ลดลงและอายุที่เพิ่มมากขึ้น การเปลี่ยนผ่านจากวัยสาวสู่วัยหมดประจำเดือนสังเกตได้จากความผิดปกติของรอบเดือน (menstrual cycle) ที่ขาดหายไป และอาการอื่น ๆ ที่ปรากฏขึ้นมา เช่น อาการร้อนวูบวาบ (hot flashes) เหงื่อออกตอนกลางคืน (night sweat) และการเปลี่ยนแปลงปริมาณเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นในช่องคลอดทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายจนอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ทำให้เสียบุคลิกและความมั่นใจ ภาวะดังกล่าวนอกจากจะเป็นปัญหาทางกายแล้ว อาจกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้คนกลุ่มนี้ได้1-3
ภาวะหลังหมดประจำเดือน (post-menopausal syndrome) คือ กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายเข้าสู่ช่วงที่มีการลดลงของฮอร์โมนเพศหญิง ได้แก่ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน อารมณ์แปรปรวน (ซึมเศร้าหรือวิตกกังวล) นอกจากนี้ยังอาจมีการเปลี่ยนแปลงน้ำหนัก รูปร่าง ความต้องการทางเพศ และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น ภาวะช่องคลอดแห้ง หรือ การเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน อาการเหล่านี้จะเกิดในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่รอบเดือนหายไปติดต่อกัน 12 เดือน ทั้งนี้โดยทั่วไปรังไข่จะหยุดสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) และทำให้สตรีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนที่อายุเฉลี่ยระหว่าง 45–55 ปี4 ซึ่งภาวะหลังหมดประจำเดือนพบมากถึงร้อยละ 70% ของผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน มากไปกว่านั้นร้อยละ 20 ระบุว่าอาการดังกล่าวกระทบถึงการใช้ชีวิตประจำวันทั้งทางกายและทางจิตใจ โดยเฉลี่ยแล้วอาการจะคงอยู่ยาวนานถึง 5.2 ปี และมีประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยแสดงอาการนานกว่านั้น5 ทั้งนี้ระยะเวลาและความรุนแรงของภาวะหลังหมดประจำเดือนในผู้ป่วยแต่ละรายไม่สามารถทำนายได้ การรักษาโดยการใช้ฮอร์โมนทดแทน (hormone replacement therapy, HRT) จึงเป็นหนึ่งในแนวทางการรักษาที่ได้ผลและได้รับการยอมรับมากที่สุดวิธีหนึ่ง6
การเลือกใช้ฮอร์โมนในผู้หญิงที่เข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนต้องพิจารณาหลากหลายปัจจัย เนื่องจากแม้้ฮอร์โมนจะช่วยบรรเทาอาการของภาวะหลังหมดประจำเดือนได้จริง แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงและผลข้างเคียงจากการรักษาบางอย่าง โดยรูปแบบฮอร์โมนที่ใช้มักมีเป้าหมายเพื่อให้ฮอร์โมนไปออกฤทธิ์ที่อวัยวะและบรรเทาอาการต่าง ๆ เช่น ไปออกฤทธิ์ที่สมองส่วนที่ควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย กระดูก เป็นต้น7,8 โดยฮอร์โมนหลักที่ใช้ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน คือ เอสโตรเจน ซึ่งเอสโตรเจนรูปแบบรับประทานเป็นที่นิยมมากที่สุดเพราะทั้งง่าย สะดวก และทุกคนมีความคุ้นเคยในการใช้ ทั้งนี้พบว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนแบบรับประทานสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของระดับไตรกลีเซอร์ไรด์และความเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (venous thromboembolic disease; VTE) ถึง 2-3 เท่าของคนปกติ9 จึงมีการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนในรูปแบบที่ไม่ต้องรับประทานในรูปแผ่นแปะผิวหนัง (transdermal patches) หรือ เจลทาผิว (gel) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยที่มีข้อห้ามใช้หรือไม่เหมาะกับการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนแบบรับประทาน9,10 นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีฮอร์โมนเอสโตรเจนในรูปแบบเฉพาะที่ทางช่องคลอด (vaginal) เช่น ยาเหน็บ เจล หรือครีม สำหรับการรักษาภาวะช่องคลอดแห้งและฝ่อในผู้หญิงที่มีปัญหาจากระบบสืบพันธุ์ การบริหารยาในรูปแบบนี้ช่วยลดอาการไม่พึงประสงค์จากการมีระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนในกระแสเลือด โดยหากอาการบรรเทาลงแล้วสามารถหยุดใช้ได้9
สภาวะสมดุลของจุลินทรีย์ในช่องคลอดของผู้หญิงมีความแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัยและมีความซับซ้อนจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งอายุ รอบประจำเดือน ระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจน แม้กระทั่งปัจจัยภายนอกอย่างการสูบบุหรี่ การมีเพศสัมพันธ์ การรักษาความสะอาดและปัจจัยอื่น ๆ ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อสมดุลของจุลินทรีย์ทั้งสิ้น11-12 โดยสภาวะปกติของช่องคลอดของผู้หญิงจะประกอบไปด้วยจุลินทรีย์หลากหลายชนิดอยู่ด้วยกันอย่างสมดุล ส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรียชนิดแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus spp.) โดยตั้งแต่ปี 2563 แบคทีเรียในกลุ่มดังกล่าวได้ถูกแบ่งประเภทใหม่ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงสกุล (genus) และชนิด (species) ของแบคทีเรียแต่ละตัวให้แตกต่างกันไป13 แลคโตบาซิลลัสเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการป้องกันการรุกรานของจุลินทรีย์ก่อโรค (pathogens) ผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น การสร้างสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) สารต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียก่อโรค (pathogen-inhibition molecules) ในภาวะปกติช่องคลอดจะมีสภาพเป็นกรดจากการเปลี่ยนไกลโคเจนให้เป็นกรดแลคติก (lactic acid) จากการทำงานของแลคโตบาซิลลัสจึงเกิดสภาวะที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อจุลินทรีย์ได้ ภาวะสมดุลของจุลินทรีย์ในช่องคลอดจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีของช่องคลอด3,11,12
ในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว ระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงสัมพันธ์กับการฝ่อของเซลล์ในเยื่อบุช่องคลอด การผลิตเยื่อเมือก ความชุ่มชื่นภายใน และระดับของไกลโคเจนที่ลดลง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการปรับสภาวะในช่องคลอดของแลคโตบาซิลลัส ทำให้ช่องคลอดของผู้หญิงที่หมดประจำเดือนมีความเป็นด่างมากขึ้น และจุลินทรีย์มีความหลากหลายมากขึ้น เมื่อสมดุลเดิมเสียไปก็จะเกิดการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์อื่นที่เป็นเชื้อก่อโรคง่ายขึ้น เช่น anaerobic bacteria (Prevotella spp. และ Mobiluncus spp.), Gardnerella vaginalis และ Mycoplasma hominis เป็นต้น ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เกี่ยวกับช่องคลอดและระบบสืบพันธุ์ (vulvovaginal symptoms) ได้ง่ายมากขึ้น เช่น ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์11,12
ยาเหน็บที่มีแบคทีเรียเป็นส่วนประกอบเป็นยาเม็ดสำหรับสอดหรือเหน็บเพื่อปรับสภาพและสร้างสมดุลความเป็นกรด-ด่างในช่องคลอดให้กลับมาเป็นปกติ นอกจากนี้ยังสามารถรักษาความผิดปกติของช่องคลอดในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เช่น อาการตกขาว ภาวะช่องคลอดแห้ง ฝ่อ และอาการคันภายในช่องคลอด หรือบรรเทาอาการเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์14,16 โดยองค์ประกอบหลักในเม็ดยา ได้แก่
ตัวอย่างเช่น Lactobacillus acidophillus, Levilactobacillus brevis (ชื่อเดิม Lactobacillus brevis), Lactiplantibacillus plantarum (ชื่อเดิม Lactobacillus plantarum) เป็นต้น แลคโตบาซิลลัสเหล่านี้มีหน้าที่เปลี่ยนสารตั้งต้นของคาร์โบไฮเดรตชนิดต่าง ๆ ให้เป็นกรดแลคติก เพื่อปรับสภาวะของช่องคลอดให้ใกล้เคียงสภาวะปกติซึ่งก็คือสภาวะกรดอ่อนที่ pH ประมาณ 3.5-4.5 นำไปสู่การยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ก่อโรคต่าง ๆ ในช่องคลอด14-16
สำหรับโยเกิร์ต (yogurt) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์นม (dairy product) ที่ผ่านการหมัก (fermentation) ด้วยจุลินทรีย์ที่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลแลคโตสในนมให้กลายเป็นกรดแลคติก ปรับสภาพนมให้มีความเป็นกรดอ่อน ๆ และทำให้โปรตีนในนมมาเกาะกลุ่มรวมกัน อีกทั้งยังมีการสร้างสารอื่น ๆ ที่เพิ่มกลิ่น รส ให้กับผลิตภัณฑ์ โดยจุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมักมักเป็นแบคทีเรียที่สร้างกรดแลคติก (lactic acid producing bacteria; LAB) เช่น Streptococcus thermophilus, Lactobacillus bulgaricus เป็นต้น17 ในขณะที่ช่องคลอดของผู้หญิงมีแบคทีเรียชนิดแลคโตบาซิลลัสหลายชนิด โดยที่พบมากที่สุด คือ L. acidophillus และชนิดอื่น ๆ ได้แก่ Limosilactobacillus fermentum (ชื่อเดิม Lactobacillus fermentum), L. plantarum, L. brevis และ Ligilactobacillus salivarius (ชื่อเดิม Lactobacillus salivarius) เป็นต้น แบคทีเรียชนิดแลคโตบาซิลลัสในช่องคลอดเหล่านี้แตกต่างกันกับชนิดที่พบในโยเกิร์ต รวมทั้งการรับประทานไม่สามารถส่งผลโดยตรงต่อช่องคลอดได้18,19
เอสไตรออล (estriol) จัดเป็นอนุพันธ์ของฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ในร่างกายของผู้หญิง มีหน้าที่กระตุ้นการเจริญและเพิ่มความหนาตัวของผนังเยื่อบุช่องคลอด มีผลเพิ่มความยืดหยุ่น ความชุ่มชื่น เพิ่มการไหลเวียนเลือดในช่องคลอด และเพิ่มการสร้างและสะสมของไกลโคเจนที่เป็นอาหารและสารตั้งต้นของเชื้อแบคทีเรียชนิดแลคโตบาซิลลัสในการปรับสภาพของช่องคลอดให้เป็นกรดอ่อน ๆ ซึ่งสภาวะแวดล้อมดังกล่าวจะทำให้เชื้อแลคโตบาซิลลัสและแบคทีเรียชนิดดีในช่องคลอดเจริญเติบโตได้ดีและมีชีวิตอยู่ได้13,18
เช่น สารปรับสภาพความเป็นกรด (เช่น กรดแลคติก) หรือแม้แต่สารเพิ่มปริมาณในเม็ดยาอย่างน้ำตาลชนิดต่าง ๆ (เช่น น้ำตาลแลคโตส) ที่สามารถเปลี่ยนสภาพไปอยู่ในรูปกรดแลคติกได้ในช่องคลอด ก็มีส่วนช่วยในการปรับสภาวะสมดุลของความเป็นกรด-ด่างในช่องคลอดได้เช่นเดียวกัน20
ข้อควรระวังในการใช้ยาเหน็บช่องคลอดที่มีแบคทีเรียเป็นองค์ประกอบ
ผู้ที่ห้ามใช้13
- ผู้ที่มีประวัติการแพ้ L. acidophillus, เอสไตรออล หรือ สารประกอบอื่น ๆ ในตำรับอย่างรุนแรง (hypersensitivity)
- ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีประวัติการเป็นมะเร็งเต้านม (กรณีตำรับยามีส่วนประกอบของเอสไตรออล)
- ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีประวัติการเป็นมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ (กรณีตำรับยามีส่วนประกอบของเอสไตรออล)
- ผู้ป่วยโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) (กรณีตำรับยามีส่วนประกอบของเอสไตรออล)
อาการข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้ยา13 ได้แก่ การบวมบริเวณต่าง ๆ เช่น มือ เท้า ใบหน้า ริมฝีปาก หายใจหรือกลืนลำบาก คันตามร่างกาย วูบหรือเป็นลม ช่องคลอดอักเสบ บวมแดง หรือมีสารคัดหลั่งผิดปกติทางช่องคลอด หากพบอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้ให้พบแพทย์หรือเภสัชกรทันที
ยาเหน็บช่องคลอดจากเชื้อแบคทีเรียถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการปรับสมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอดของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เพื่อรักษาหรือป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ แต่ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร ทั้งนี้ผู้ที่ใช้อาจมีความจำเป็นต้องปรับสุขลักษณะหรือกิจวัตรประจำวันควบคู่ไปกับการใช้ยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยา และป้องกันการกลับเป็นซ้ำของภาวะดังกล่าว
![]() |
![]() |