![]() |
จากนิยามขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ภาวะท้องเสีย (diarrhea) หมายถึง การถ่ายอุจจาระเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ 3 ครั้งขึ้นไปในหนึ่งวัน หรือมีจำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระบ่อยกว่าปกติ แต่ไม่รวมถึงการถ่ายอุจจาระที่เป็นน้ำเหลวในทารกที่ดื่มนมแม่[1] โดยภาวะท้องเสียในทางการแพทย์สามารถแบ่งตามระยะเวลาที่พบอาการได้ 2 ประเภท ได้แก่ 1) ภาวะท้องเสียเฉียบพลัน (acute diarrhea) ซึ่งมักจะมีอาการคงอยู่ไม่เกิน 14 วัน โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย 2) ภาวะท้องเสียเรื้อรัง (persistence diarrhea) ซึ่งจะมีอาการคงอยู่ 14 วันขึ้นไป โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากโรคประจำตัวและการใช้ยาของผู้ป่วย[2] ทั้งนี้การดูแลรักษาภาวะท้องเสียที่สำคัญที่สุด คือการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ (dehydration) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ดังนั้นการรับประทานสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (oral rehydration solution; ORS) จึงเป็นการรักษาหลักที่ต้องพิจารณาเป็นลำดับแรกก่อนใช้ยาเพื่อลดจำนวนครั้งของการถ่ายหรือเพื่อรักษาสาเหตุของการท้องเสีย
ภาวะท้องเสียเป็นการเจ็บป่วยที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน รวมถึงเป็นหนึ่งใน 32 กลุ่มอาการที่สามารถเข้ารับบริการโดยใช้สิทธิบัตรทองได้ที่ร้านยาคุณภาพ[3] ประชาชนจำนวนหนึ่งจึงมักซื้อยารับประทานเอง อีกทั้งท้องเสียเป็นภาวะที่สร้างความไม่สะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวันรวมถึงลดคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีอาการเนื่องจากต้องถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง ยาหยุดถ่ายจึงเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่มักถูกเลือกใช้ สำหรับโลเพอราไมด์ (loperamide) มีจำหน่ายด้วยชื่อการค้าที่หลากหลายในประเทศไทย โดยชื่อการค้าที่รู้จักกันดี คือ อิโมเดียม (Imodium) หรือที่ส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อ “ยาหยุดถ่าย” เป็นยาที่ได้รับการอนุมัติโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทยในการบรรเทาท้องเสียมาอย่างยาวนาน โดยข้อบ่งใช้ที่ได้รับ คือบรรเทาภาวะท้องเสียเฉียบพลันหรือเรื้อรัง[4] โลเพอราไมด์ออกฤทธิ์ยับยั้งการบีบตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ใหญ่และทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหูรูดทวารหนักบีบตัวมากขึ้น เพิ่มเวลาในการเคลื่อนที่ของอุจจาระ ลดการสูญเสียอิเล็กโทรไลต์ จึงสามารถช่วยบรรเทาภาวะท้องเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ[5] ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้โลเพอราไมด์ เช่น ท้องผูก ปวดท้อง อาเจียน เวียนหัว[6] อย่างไรก็ตามโลเพอราไมด์อาจไม่เหมาะที่จะใช้ในผู้ป่วยทุกราย เช่น การใช้ในผู้ป่วยที่มีไข้สูงร่วมด้วยหรือผู้ป่วยที่มีภาวะท้องเสียแบบมีเลือดปน เนื่องจากฤทธิ์ยับยั้งการบีบตัวของลำไส้อาจขัดขวางกลไกตามธรรมชาติในการขับเชื้อโรคออกจากร่างกาย ส่งผลให้มีเชื้อโรคค้างอยู่ในทางเดินอาหารนานขึ้น รวมถึงมีรายงานการเกิดอาการวูบและหัวใจเต้นช้าลงจากการใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานานอีกด้วย[7] ดังนั้นกรณีที่มีภาวะท้องเสียแต่ไม่ต้องการใช้ยาหยุดถ่ายหรือท้องเสียจากสาเหตุที่ไม่ควรใช้ยาหยุดถ่าย จะมียาทางเลือกอื่น ๆ อย่างไร
ราซีคาโดทริล (racecadotril) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์เอ็นเคฟาลิเนส (enkephalinase) เพื่อป้องกันการสลายตัวของเอ็นเคฟาลิน (enkephalin) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการลดการหลั่งน้ำและอิเล็กโทรไลต์ในลำไส้ ยานี้จึงช่วยลดการสูญเสียน้ำและอิเล็กโทรไลต์ที่มากเกินไปในลำไส้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวตามปกติของลำไส้[8] อีกทั้งยังมีการศึกษาสนับสนุนประสิทธิภาพของยาทางเลือกนี้ โดยเป็นการเปรียบเทียบระหว่างราซีคาโดทริลและโลเพอราไมด์ พบว่าสามารถรักษาภาวะท้องเสียในผู้ใหญ่ได้ไม่ต่างกัน แต่ราซีคาโดทริลทำให้เกิดการท้องผูกต่ำกว่า[9] โดยชื่อการค้าของยานี้ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ได้แก่ Hidrasec ซึ่งมีรูปแบบและขนาดการใช้ดังแสดงในตาราง[10] สำหรับข้อบ่งใช้ของราซีคาโดทริลที่ได้รับจาก อย. คือรักษาภาวะท้องเสียเฉียบพลันในผู้ใหญ่ เด็ก และทารกอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป โดยใช้ร่วมกับของเหลวที่ใช้สำหรับชดเชยการสูญเสียน้ำของร่างกาย[4]
รูปแบบยาที่มีจำหน่ายในประเทศไทย |
วิธีการรับประทาน |
Hidrasec แคปซูล (100 mg/แคปซูล)
|
ผู้ใหญ่: 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง จนกระทั่งอุจจาระกลับมาเป็นปกติ 2 ครั้ง (ห้ามใช้เกิน 7 วัน) หมายเหตุ: ไม่แนะนำให้มีการใช้ในระยะยาว และถ้าหากอาการไม่ดีขึ้นหลังจากใช้ 3 วัน แนะนำให้พบแพทย์ |
Hidrasec ผง (10 mg/ซอง) และ (30 mg/ซอง) |
เด็ก: ขนาดยากำหนดตามน้ำหนักตัว คือ 1.5 mg/kg/ครั้ง วันละ 3 ครั้ง (รับประทานไม่เกิน 6 mg/kg/วัน) |
ไดอ็อกตาฮีดรัล สเมกไทต์ (dioctahedral smectite) เป็นยาที่ออกฤทธิ์โดยเสริมให้เยื่อเมือกมีความแข็งแรงมากขึ้น โดยยาสามารถเคลือบติดกับเยื่อบุลำไส้ได้ดี ทำให้สารพิษและเชื้อโรคไม่สามารถสะสมอยู่ในลำไส้ได้จนถูกขับออกพร้อมอุจจาระ[11] อีกทั้งยังมีการศึกษาสนับสนุนประสิทธิภาพของยาในการลดระยะเวลาการฟื้นตัวจากภาวะท้องเสีย[12] โดยชื่อการค้าที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ได้แก่ Smecta และ Dehecta ซึ่งมีรูปแบบและขนาดการใช้ดังแสดงในตาราง[13,14] สำหรับข้อบ่งใช้ของไดอ็อกตาฮีดรัล สเมกไทต์ที่ได้รับจาก อย. คือรักษาภาวะท้องเสียชนิดเฉียบพลันหรือเรื้อรังในผู้ใหญ่ ภาวะท้องเสียชนิดเฉียบพลันในเด็ก 2 ปีขึ้นไป ร่วมกับการให้สารน้ำทางปาก และรักษาอาการปวดที่เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของลำไส้ในผู้ใหญ่[4]
รูปแบบยาที่มีจำหน่ายในประเทศไทย |
วิธีการรับประทาน |
Smecta ผง (3 g/ซอง) |
ผู้ใหญ่: 1 ซอง วันละ 3 ครั้ง เด็ก: อายุต่ำกว่า 1 ปี วันละ 1 ซอง อายุ 1-2 ปี วันละ 1-2 ซอง อายุ 2 ปีขึ้นไป วันละ 2-3 ซอง |
Dehecta ยาน้ำแขวนตะกอน (3 g/20 ml/ซอง) |
ผู้ใหญ่: 1 ซอง วันละ 3-4 ครั้ง เด็ก: อายุต่ำกว่า 1 ปี วันละ 1 ซอง แบ่งรับประทาน 2 ครั้ง อายุ 1-2 ปี วันละ 1-2 ซอง แบ่งรับประทาน 2-3 ครั้ง อายุ 2 ปีขึ้นไป วันละ 2-3 ซอง แบ่งรับประทาน 2-3 ครั้ง |
โพรไบโอติก (probiotics) เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีชีวิตและมีส่วนช่วยปรับสมดุลในทางเดินอาหารให้เหมาะสม เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการบรรเทาอาการท้องเสีย เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าโพรไบโอติกสามารถลดระยะเวลาของการเกิดภาวะท้องเสียได้ประมาณ 25 ชั่วโมง และลดความเสี่ยงของการมีภาวะดังกล่าวที่ยาวนานถึงสี่วันหรือมากกว่าลงได้ร้อยละ 59 อีกทั้งยังสามารถลดจำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระในวันที่ 2 หลังการให้โพรไบโอติกได้ประมาณหนึ่งครั้ง[15] ตัวอย่างสายพันธุ์ที่มีข้อมูลว่าสามารถใช้ได้ เช่น Lactobacillus rhamnosus GG และ Saccharomyces boulardii เป็นต้น ทั้งนี้การเลือกใช้โพรไบโอติกในแต่ละข้อบ่งใช้จำเป็นต้องคำนึงถึงสายพันธุ์ที่มีข้อมูลประสิทธิผลด้วย[16] ตัวอย่างข้อบ่งใช้ของโพรไบโอติกสายพันธุ์ Saccharomyces boulardii ที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาจาก อย. คือรักษาภาวะท้องเสียเฉียบพลันและท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อ รักษาและป้องกันอาการแทรกซ้อนจากการรบกวนสมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารเนื่องจากการใช้ยาปฏิชีวนะ ป้องกันภาวะท้องเสียในคนไข้ที่ได้รับอาหารโดยผ่านทางท่อสวน และรักษาการกลับเป็นซ้ำของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ Clostridium difficile[4]
ซิงค์ (Zinc) หรือสังกะสี เป็นแร่ธาตุที่องค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) แนะนำให้ใช้เสริมสำหรับรักษาภาวะท้องเสียในเด็ก โดยจะอยู่ในรูปแบบเภสัชตำรับที่มีใช้ในโรงพยาบาลซึ่งมีขนาดที่แนะนำในการรักษาดังนี้ ขนาด 20 mg ต่อวัน เป็นเวลา 10 วัน สำหรับเด็กที่มีภาวะท้องเสียเฉียบพลัน และ 10 mg ต่อวัน สำหรับทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน เพื่อบรรเทาความรุนแรงของอาการและยังสามารถป้องกันการเป็นซ้ำใน 2-3 เดือนถัดไปได้อีกด้วย[17]
ยาเหล่านี้เป็นทางเลือกในการช่วยบรรเทาอาการจากภาวะท้องเสียเท่านั้นไม่ใช่การรักษาที่ต้นเหตุ การรับประทานสารละลายน้ำตาลเกลือแร่เพื่อทดแทนน้ำและอิเล็กโทรไลต์ที่สูญเสียไป รวมถึงพิจารณาใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีจำเป็นและอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรยังคงมีความสำคัญเพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมและมีความปลอดภัยสูงสุด
![]() |
![]() |