หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่...ปัญหากวนใจ เกิดอะไรขึ้นกับเรา

โดย นศภ.ณัฐกมล คำมา ภายใต้คำแนะนำของ รศ.ดร.ภญ.มัลลิกา ชมนาวัง เผยแพร่ตั้งแต่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2568 -- 295 views
 

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

การขับถ่ายปัสสาวะ (ฉี่) เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างระบบประสาท กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ และกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณท่อปัสสาวะ โดยมีการทำงานเป็น 2 ช่วง คือ 1) ช่วงการกักเก็บน้ำปัสสาวะ ในช่วงนี้ระบบประสาทจะส่งสัญญาณมาที่กระเพาะปัสสาวะจนเกิดการขยายขนาดเพื่อรองรับแรงดันและปริมาณของน้ำปัสสาวะที่เข้ามา มีการกระตุ้นให้หูรูดของท่อปัสสาวะหดตัว และเมื่อถึงช่วงความจุที่กระเพาะปัสสาวะสามารถรับได้จะเข้าสู่ 2) ช่วงการขับถ่ายปัสสาวะ ระบบประสาทจะสั่งให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะหดตัวและหูรูดของท่อปัสสาวะคลายตัว เกิดการไหลของน้ำปัสสาวะออกมา[1] ซึ่งในคนปกติที่มีสุขภาพดีส่วนใหญ่จะปัสสาวะเฉลี่ยวันละ 6-7 ครั้ง[2] ขึ้นกับปริมาณน้ำที่บริโภคในแต่ละวัน

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือ urinary incontinence คือ ภาวะที่ไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้ จึงเกิดอาการปัสสาวะเล็ดราด ปัสสาวะบ่อยครั้ง ภาวะดังกล่าวส่งผลต่อการใช้ชีวิต ความมั่นใจและการเข้าสังคมของผู้ป่วย[1,3] ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่พบได้ในผู้ป่วยทุกเพศ ทุกวัย แต่พบได้ค่อนข้างมากในผู้ป่วยสูงอายุ จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2562-2563 พบว่าผู้สูงอายุไทยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ทั้งเพศหญิงและเพศชาย ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ถึง 17.4%[4]

สาเหตุของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เกิดจากการทำงานที่ไม่สอดประสานกันระหว่างการควบคุมการปัสสาวะและระบบประสาท หรือจากความผิดปกติที่ส่วนใดส่วนนึง นอกจากนี้สภาวะและความมั่นคงทางจิตใจ รวมถึงสิ่งเร้าภายนอกก็ส่งผลต่อการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้เช่นกัน โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการควบคุมการปัสสาวะที่บกพร่องของร่างกาย ได้แก่[5]

  1. อายุที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสื่อมของการทำงานในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย
  2. โรคประจำตัวหรือความผิดปกติของร่างกาย เช่น เบาหวาน ภาวะสมองเสื่อม หรือการบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง ระบบทางเดินปัสสาวะผิดปกติ เป็นต้น
  3. อาหาร/เครื่องดื่ม/ยาที่รับประทาน เช่น คาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรือยาที่ใช้ประจำบางชนิดที่กระตุ้นการปัสสาวะ
  4. ท้องผูกเรื้อรัง
  5. น้ำหนักตัวที่มากเกินไป
  6. การคลอดลูกผ่านทางช่องคลอด

ประเภทของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ที่พบได้บ่อยแบ่งเป็น 5 ประเภท ตามสาเหตุและอาการ ดังนี้[3]

1. ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หลังปวดปัสสาวะอย่างรุนแรง (urge urinary incontinence) อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทหรือการติดเชื้อ ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะไวต่อการกระตุ้น (overactive bladder) รู้สึกอยากปัสสาวะอย่างเร่งด่วน อาการที่พบ เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเล็ดราด ตื่นมาปัสสาวะในตอนกลางคืนหรือปัสสาวะขณะหลับ

2. ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่จากแรงดันในช่องท้องที่เพิ่มขึ้น (stress urinary incontinence) เกิดจากความหย่อนคล้อยของหูรูดทางเดินปัสสาวะ ส่งผลให้ปัสสาวะเล็ดราดเมื่อมีแรงดันเพิ่มขึ้นในกระเพาะปัสสาวะหรือตัวกระตุ้น เช่น ออกกำลังกาย ใช้แรงมาก ไอหรือจาม อาการที่พบ ปัสสาวะเล็ดออกมาขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ

3. ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่แบบผสม (mixed urinary incontinence) เป็นภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่จากทั้ง urge urinary incontinence และ stress urinary incontinence ทำให้อาการที่เกิดขึ้นจะมีทั้งปัสสาวะบ่อย ตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืนหรือปัสสาวะขณะหลับ และปัสสาวะเล็ดออกมาขณะทำกิจกรรม

4. ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่จากการคั่งค้างของปัสสาวะ (overflow urinary incontinence) เกิดจากกระเพาะปัสสาวะหดตัวน้อยจนเกินไปหรือมีการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะ มักพบในผู้ชายสูงอายุจากการเป็นต่อมลูกหมากโตหรือมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่งผลให้เกิดการคั่งค้างของปัสสาวะ ปัสสาวะไม่สุด รู้สึกไม่สบายตัว อยากปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเล็ด และปัสสาวะกะปริบกะปรอย

5. ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่จากข้อจำกัดทางร่างกาย (functional urinary incontinence) ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะแต่เกิดจากข้อจำกัดทางร่างกาย เช่น อายุที่มากขึ้นการทำงานของร่างกายจึงลดลง โรคความจำเสื่อม โรคพาร์กินสัน โรคทางกระดูก จึงขยับตัวได้ลดลง ส่งผลให้ยากต่อการปัสสาวะ

การรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

การรักษามีเป้าหมายเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ รบกวนการใช้ชีวิตหรือการทำงานให้น้อยลงและลดปัญหาการเข้าสังคมของผู้ป่วย การรักษาสามารถแบ่งได้เป็น 2 วิธีหลัก คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการรักษาโดยใช้ยา

การปรับพฤติกรรม[5]

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการรักษาโดยไม่ใช้ยาที่แนะนำ คือ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ ลดนํ้าหนักในรายที่มีนํ้าหนักตัวมากเกินไป เปลี่ยนแปลงการรับประทานอาหารเพื่อลดการท้องผูก ควบคุมปริมาณน้ำที่รับประทาน รวมถึงปรับเปลี่ยนการใช้ยาโรคประจำตัวโดยปรึกษาและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับอาการที่จำเพาะ เช่น บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและท่อปัสสาวะปิดสนิทมากยิ่งขึ้น ฝึกกระเพาะปัสสาวะและจัดแจงตารางการปัสสาวะ รวมถึงผ่าตัดทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยบางราย

การใช้ยา

ตัวอย่างรายการยาชนิดรับประทานสำหรับการรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในประเทศไทย แสดงในตาราง[5] โดยยาเหล่านี้มีข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ชนิด urge urinary incontinence หรือ mixed urinary incontinence ที่มีอาการกระเพาะปัสสาวะไวต่อการกระตุ้น (overactive bladder) และขนาดยาดังกล่าวเป็นขนาดยาในผู้ป่วยที่มีสุขภาพดีและไม่มีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วย สำหรับภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ชนิดอื่น การรักษาด้วยยาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการแสดงที่เกิดขึ้น จึงต้องพิจารณาการใช้ยาเป็นรายบุคคล

ยา

ขนาดยาแนะนำ (มิลลิกรัม)

กลไกการออกฤทธิ์

ผลข้างเคียงที่อาจพบ

กลุ่ม anti-cholinergics (anti-muscarinics)

Oxybutynin[6]

5-10

ลดการทำงานของสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า acetylcholine ส่งผลให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะคลายตัว ลดการกระตุ้นกระเพาะปัสสาวะ เพิ่มปริมาตรของกระเพาะปัสสาวะให้รองรับน้ำปัสสาวะได้มากขึ้น ลดความถี่ของการเข้าห้องน้ำ

ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก คลื่นไส้อาเจียน ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะลำบากปัสสาวะยาก ระมัดระวังการใช้ในผู้สูงอายุ

Tolterodine[7]

2-4

Trospium chloride[8]

20-60

Solifenacin[9]

5-10

Imidafenacin[10]

0.1

กลุ่ม β-3 adrenergic agonists

Mirabegron[11]

25-50

ทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะคลายตัวในช่วงของการกักเก็บปัสสาวะ ลดอาการปวดปัสสาวะ ลดความถี่ของการเข้าห้องน้ำ

ความดันโลหิตสูง โพรงจมูกอักเสบ ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

ยาเหล่านี้สามารถเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นได้ โดยยาที่ควรระมัดระวังเมื่อใช้ร่วมกันแสดงในตาราง สำหรับยากลุ่ม anti-cholinergics ควรระมัดระวังการใช้ร่วมกับยาที่เพิ่มฤทธิ์ดังกล่าว ดังนั้นก่อนเริ่มการใช้ตัวใดก็ตาม ผู้ป่วยควรได้รับการประเมินโรคเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงก่อนเริ่มการรักษา รวมถึงควรได้รับคำแนะนำในการใช้ยาจากแพทย์หรือเภสัชกร ไม่ควรซื้อยารับประทานด้วยตัวเอง

ยา

ตัวอย่างยาที่ควรระมัดระวังเมื่อใช้ร่วมกัน

Oxybutynin[7,12]

Itraconazole, ketoconazole, miconazole, donepezil, galantamine, rivastigmine, carbamazepine, erythromycin, clarithromycin

Tolterodine[8,13]

ห้ามใช้ร่วมกับยาที่ทำให้เกิด prolonged QT interval และยาที่เพิ่มความเสี่ยง
ควรหลีกเลี่ยงในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ

Trospium chloride[10]

Morphine, vancomycin, procainamide, pancuronium

Solifenacin[11]

ห้ามใช้ร่วมกับยาที่ทำให้เกิด prolonged QT interval และยาที่เพิ่มความเสี่ยง
ควรหลีกเลี่ยงในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ

Imidafenacin[12,14,15]

Itraconazole, erythromycin, clarithromycin และยาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท

Mirabegron[9]

ห้ามใช้ร่วมกับ thioridazine และระมัดระวังการใช้ร่วมกับ sirolimus, propafenone, digoxin, metoprolol และยาทางด้านระบบประสาท

บทสรุป

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เป็นปัญหากวนใจที่พบได้ในทุกเพศทุกวัยและพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ สาเหตุและความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับบุคคล หากอาการไม่รุนแรง มีปัสสาวะเล็ดราดเพียงบางครั้ง สามารถกลั้นปัสสาวะได้ อาจเริ่มต้นรักษาด้วยการปรับพฤติกรรมตามความเหมาะสม ความสะดวกของตนและผู้ดูแล แต่หากมีอาการรุนแรง ปัสสาวะเล็ดราดบ่อยครั้ง ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนทำให้ตื่นกลางดึก หรือมีปัญหาอื่นที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตและการปรับพฤติกรรมเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ อาจพิจารณาถึงการใช้ยารักษาร่วมด้วย ทั้งนี้การรักษาด้วยยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อความเหมาะสมในการเลือกยา การใช้ยาและความปลอดภัยของผู้ใช้ยา

เอกสารอ้างอิง

  1. วรพจน์ ชุณหคล้าย. อภิรักษ์ สันติงามกุล. Common Urologic Problems for Medical Student. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์; 2558.
  2. Bladderandbowel community. Urinary Frequency – How Often Should You Pee? [Internet]. [cited 2024 Sep 30]. Available from: https://www.bladderandbowel.org/ bladder/bladder-conditions-and-symptoms/frequency/.
  3. Leslie SW, Tran LN, Puckett Y. Urinary Incontinence. StatPearls [Internet]. [updated 2024 Aug 11; cited 2024 Sep 18]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/.
  4. วิชัย เอกพลากร, หทัยชนก พรรคเจริญ และ วราภรณ์ เสถียรนพเก้า. การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562-2563. กรุงเทพฯ: อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์; 2564.
  5. สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ. แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่. 2564.
  6. Dwyer J, Tafuri SM, LaGrange CA. Oxybutynin. StatPearls [Internet]. [updated 2023 Aug 17; cited 2024 Sep 30]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK499985/.
  7. Narain S, Parmar M. Tolterodine. StatPearls [Internet]. [updated 2023 May 23; cited 2024 Sep 30]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK557858/.
  8. Merative Micromedex. Trospium Chloride [internet]. 2024 [cited 2024 Sep 30]. Available from: https://www-micromedexsolutions-com/.
  9. Merative Micromedex. Solifenacin Succinate [internet]. 2024 [cited 2024 Sep 30]. Available from: https://www-micromedexsolutions-com/.
  10. Takeuchi T, Zaitsu M, Mikami K. Experience with imidafenacin in the management of overactive bladder disorder. Ther Adv Urol. 2013 Feb;5(1):43-58.
  11. Dawood O, El-Zawahry A. Mirabegron. StatPearls [Internet]. [updated 2023 Aug 28; cited 2024 Sep 30]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK538513/.
  12. Merative Micromedex. Oxybutynin Chloride [internet]. 2024 [cited 2024 Sep 30]. Available from: https://www-micromedexsolutions-com/.
  13. Merative Micromedex. Tolterodine [internet]. 2024 [cited 2024 Sep 30]. Available from: https://www-micromedexsolutions-com/
  14. Kyorin Pharmaceutical. Imidafenacin tablets, Imidafenacin orally disintegrating tablets [Internet]. 2017 [cited 2024 Sep 28]. Available from: https://s3-us-west-2.amazonaws. com/drugbank/fda_labels/DB09262.pdf?1499363016.
  15. Kanayama N, Kanari C, Masuda Y, et al. Drug-drug interactions in the metabolism of imidafenacin: role of the human cytochrome P450 enzymes and UDP-glucuronic acid transferases, and potential of imidafenacin to inhibit human cytochrome P450 enzymes. Xenobiotica. 2007 Feb;37(2):139-54.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ดราด ปัสสาวะบ่อย urinary incontinence
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้