หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

กินยาดักไข้ ช่วยได้จริงหรือแค่ความเชื่อ

โดย นศภ.ชุติกาญจน์ หล้าวงษา ภายใต้คำแนะนำของ อาจารย์ ภญ.กชรัตน์ ชีวพฤกษ์ เผยแพร่ตั้งแต่ 17 มกราคม พ.ศ.2568 -- 262 views
 

ในสังคมไทยมีความเชื่อที่แพร่หลายว่า หากพึ่งถูกฝนหรือรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนจะเป็นไข้ ให้รับประทานยาพาราเซตามอล (paracetamol) เพื่อ “ดักไข้” ไว้ก่อน จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดไข้ได้ แต่ในความเป็นจริงยาพาราเซตามอลรวมถึงยาลดไข้อื่น ๆ จะดักไข้ได้หรือไม่ บทความนี้จะช่วยอธิบายและให้คำตอบ

ไข้คืออะไร

ไข้ คือ การที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติที่ประมาณ 37+0.5 องศาเซลเซียส สามารถแบ่งระดับความรุนแรงของไข้ได้ดังนี้[1]

  1. ไข้ต่ำ: 37.3-38.0 องศาเซลเซียส
  2. ไข้ปานกลาง: 38.1-39.0 องศาเซลเซียส
  3. ไข้สูง: 39.1-41 องศาเซลเซียส
  4. ไข้สูงมาก: สูงกว่า 41 องศาเซลเซียส

การวัดไข้สามารถทำได้หลายตำแหน่ง เช่น ใต้รักแร้ (อุณหภูมิต่ำกว่าการวัดที่ปากเล็กน้อย) หรือในหู (อุณหภูมิใกล้เคียงกับวัดที่ปาก)[1] สาเหตุของอาการไข้ที่พบบ่อยที่สุด คือ การติดเชื้อหรือการอักเสบ การรักษาจึงเน้นที่การรักษาสาเหตุของไข้ และให้ยาลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล

พาราเซตามอล

พาราเซตามอล หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ อะเซตามิโนเฟน (acetaminophen) เป็นยาสามัญประจำบ้านที่สามารถหาซื้อได้ง่าย มีข้อบ่งใช้ในการลดไข้และบรรเทาปวด เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง[2] โดยตัวยาออกฤทธิ์ในการรักษาสูงสุดที่ 30 ถึง 60 นาทีหลังรับประทาน และถูกทำให้หมดฤทธิ์ที่ตับ[3]

ขนาดยาพาราเซตามอลที่แนะนำ

ขนาดยาที่แนะนำให้ใช้ลดไข้และรักษาอาการปวด คือ 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม รับประทานทุก 4-6 ชั่วโมง ดังนั้นขนาดยาที่ได้รับจะขึ้นกับน้ำหนักตัวของผู้ป่วยแต่ละราย[2,4] ดังแสดงในตาราง

ขนาดและวิธีใช้ยาพาราเซตามอล สำหรับยาเม็ด[2,4]

น้ำหนักตัว

ขนาดและวิธีใช้ยา

ยาเม็ด 325 มิลลิกรัม

22-33 กิโลกรัม

1 เม็ด แต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง

33-44 กิโลกรัม

1 เม็ดครึ่ง แต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง

>44 กิโลกรัม

2 เม็ด แต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง

ยาเม็ด 500 มิลลิกรัม

34-50 กิโลกรัม

1 เม็ด แต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง

50-67 กิโลกรัม

1 เม็ดครึ่ง แต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง

>67 กิโลกรัม

2 เม็ด แต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง

ยาเม็ด 650 มิลลิกรัม ชนิดเม็ดออกฤทธิ์เนิ่น

>43.3 กิโลกรัม

2 เม็ด แต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 8 ชั่วโมง

ยาน้ำ

ไม่จำกัดน้ำหนักตัว สำหรับผู้ที่ไม่สามารถรับประทานยาเม็ดได้ เช่น เด็ก หรือผู้ที่มีปัญหาการกลืน

  • ขึ้นกับน้ำหนักตัวและความเข้มข้นของยาน้ำ โดยคำนวณจากขนาดยา 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • ยาน้ำมีหลายรูปแบบและความเข้มข้น เช่น
    • สูตรเข้มข้นน้อย: 120, 160, 250 มิลลิกรัม/1 ช้อนชาหรือ 5 มิลลิลิตร
    • สูตรเข้มข้นมาก (drop): 80, 100 มิลลิกรัม/1 มิลลิลิตร)

กลไกการออกฤทธิ์ของพาราเซตามอล

ปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกที่ชัดเจน แต่คาดว่าพาราเซตามอลออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับอาการปวด คือ พรอสตาแกลนดิน (prostaglandin) และลดการหลั่งสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ (pro-inflammatory mediators) ทำให้รักษาอาการปวดได้[3] โดยพาราเซตามอลลดไข้ด้วยการยับยั้งการสร้างพรอสตาแกลนดิน และยับยั้งความผิดปกติของศูนย์ควบคุมอุณหภูมิในสมอง ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายลดลง[2] ทั้งนี้ “พาราเซตามอลมีข้อบ่งใช้ในการรักษาอาการปวดและไข้ ไม่ใช่การป้องกัน ดังนั้นการรับประทานยาก่อนมีไข้ จึงไม่สามารถป้องกันให้ไม่มีไข้ได้”

ความปลอดภัยในการใช้พาราเซตามอล

พาราเซตามอลเป็นยาที่มีความปลอดภัยในการใช้สูง เมื่อรับประทานในขนาดยาปกติ คือ 500 มิลลิกรัม ไม่เกินวันละ 8 เม็ด (ไม่ควรรับตัวยามากกว่า 4,000 มิลลิกรัม/วัน) หรือรับประทานพาราเซตามอลติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน[2] ถึงแม้พาราเซตามอลเป็นยาที่มีความปลอดภัยในการใช้สูง แต่เมื่อรับประทานพาราเซตามอล ยาจะถูกทำให้หมดฤทธิ์ที่ตับ ทำให้ตับทำงานมากขึ้น[3] ในกรณีรับประทานเกินขนาด (มากกว่า 4,000 มิลลิกรัม/วัน) หรือได้รับยาต่อเนื่องในปริมาณสูง จะส่งผลให้เกิดพิษต่อตับอย่างรุนแรง จนอาจทำให้ความสามารถในการทำงานของตับลดลง[3] ดังนั้นไม่ควรรับประทานทานยาเกินขนาด รวมถึงผู้ป่วยโรคตับควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา และหลีกเลี่ยงการรับประทานยากับแอลกอฮอล์

ยาลดไข้อื่น

นอกจากพาราเซตามอล ยังมียากลุ่มอื่นที่เป็นทางเลือกในการรักษาอาการไข้ได้ เช่น ยาแก้อักเสบไอบูโพรเฟน และสมุนไพรฟ้าทะลายโจร

ยาแก้อักเสบไอบูโพรเฟน

ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) เป็นยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (nonsteroidal anti-inflammatory drugs, NSAIDs) ใช้รักษาอาการปวด ลดไข้ และแก้อักเสบ แต่ไม่สามารถใช้ป้องกันไข้ได้เช่นกัน อีกทั้งยังมีผลข้างเคียงมาก โดยเฉพาะต่อทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย แสบยอดอก ปวดท้อง ท้องเสีย เป็นต้น อีกทั้งยังระวังการใช้ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหืด หรือผู้ที่มีการทำงานของตับหรือไตบกพร่อง[5] ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

สมุนไพรฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจรมีสารสำคัญที่มีชื่อว่าแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) มีสรรพคุณทางการแพทย์แผนไทย ใช้บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ไอและเจ็บคอ แต่หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้แขนขามีอาการชาหรืออ่อนแรง อีกทั้งยังทำให้เกิดอาการผิดปกติของทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น และอาจเกิดลมพิษได้[6] ดังนั้นไม่แนะนำให้ซื้อรับประทานเพื่อป้องกันไข้เช่นกัน

วิธีป้องกันไม่ให้มีไข้

เมื่อเจ็บป่วยหรือมีไข้อาจทำให้เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายและสุขภาพจิต ดังนั้นการป้องกันตนเองไม่ให้เจ็บป่วย จะช่วยประหยัดทั้งเงินและเวลา โดยมีหลักที่สามารถปฏิบัติตามได้ง่าย ๆ ดังนี้[7]

1. มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ดี เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบ 5 หมู่

2. หมั่นล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารหรือหลังเข้าห้องน้ำ

3. หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัดหรือใกล้ชิดผู้ที่มีอาการป่วย กรณีอยู่ในพื้นที่แออัด แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย

4. ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี

หากผู้ป่วยรู้สึกเหมือนมีไข้ ให้ดูแลสุขภาพในเบื้องต้น เช่น ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ หากรู้สึกไม่สบายจริง ๆ หรือมีความกังวลใจ แนะนำให้พบแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกรเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

สรุป

ยาพาราเซตามอล รวมถึงยาลดไข้อื่น ๆ ที่ได้กล่าวมา ไม่สามารถใช้เพื่อดักไข้ได้ แต่ใช้เพื่อบรรเทาไข้ที่เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยในการใช้ยา แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

เอกสารอ้างอิง

1. Balli S, Shumway KR, Sharan S. Physiology, fever. StatPearls [Internet]. 2023 [cited 2024 Oct 1]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK562334.

2. เมษญา ชาติกุล. การใช้ยาพาราเซตามอลอย่างสมเหตุผลและการรักษาภาวะพิษจากยา [อินเตอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 27 กันยายน 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://ccpe.pharmacycouncil.org/ index.php?option=article_detail&subpage=article_detail&id=1041.

3. Freo U, Ruocco C, Valerio A, Scagnol I, Nisoli E. Paracetamol: a review of guideline recommendations. J Clin Med. 2021; 10(15):3420. PMID: 34362203.

4. Acetaminophen DRUGDEX Evaluations. Micromedex Solutions. Greenwood Village, CO: Truven Health. 2021 [cited 2024 Oct 1]. Available from: www.micromedexsolutions.com.

5. Ngo VTH, Bajaj T. Ibuprofen. StatPearls [Internet]. 2024 [cited 2024 Oct 1]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK542299.

6. วุฒิเชษฐ รุ่งเรือง. การรับประทาน “ยาฟ้าทะลายโจร” [อินเตอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 20 กันยายน 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/sirirajonline2021/ Article_files/1481_1.pdf.

7. National Institutes of Health. Disease prevention toolkit. Health Information [Internet]. 2023 [cited 2024 Oct 1]. Available from: https://www.nih.gov/health-information/disease-prevention-toolkit.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
พาราเซตามอล ไข้ ยาดักไข้
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้